การเสริมเต้านม (Breast Augmentation)
เป็นการผ่าตัดเพื่อเพิ่มขนาดของเต้านมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้มีรูปร่างดีขึ้นลบความรู้สึกว่ามีปมด้อยที่ว่าตนเองมีเต้านมเล็กเกินไปหรือเพื่อเพิ่มขนาดเต้านมที่ฝ่อลงหลังการคลอดบุตรหรือเพื่อแก้ไขขนาดของเต้านมที่ไม่เท่ากันแต่กำเนิดหรือจากการผ่าตัด ผู้ที่จะทำการเสริมเต้านมควรจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีความคาดหวังที่มากเกินความเป็นจริง และทราบถึงผลดี-ผลเสียของการผ่าตัด และภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ชนิดของถุงเต้านมเทียม
ถุงเต้านมเทียมมีส่วนประกอบ2ส่วนคือ
1.เปลือกถุง ซึ่งทำด้วยซิลิโคน และแบ่งย่อยออกเป็นอีก2แบบ คือ แบบผิวเรียบ และผิวขรุขระหรือผิวทราย
2.สารที่บรรจุในถุง มีอยู่2ชนิด คือ น้ำเกลือ และ ซิลิโคนเหลว
การผ่าตัดทำโดยการดมยาสลบ ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ2ชั่วโมง พักในโรงพยาบาล1คืน หลังการผ่าตัดอาจจะมีสายระบายเลือดซึ่งจะเอาออกในวันรุ่งขึ้นก่อนกลับบ้าน แผลผ่าตัดอาจจะอยู่ที่บริเวณรักแร้ปานนม หรือที่ฐานเต้านม ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วยและความถนัดของศัลยแพทย์ตำแหน่งของถุงเต้านมเทียมในร่างกายอาจจะอยู่ใต้เนื้อเต้านมหรือใต้กล้ามเนื้อหน้าอกก็ได้ แต่พบว่าการใช้ถุงแบบที่มีเปลือกถุงขรุขระและวางไว้ใต้กล้ามเนื้อจะเกิดพังผืดหดรั้งน้อยที่สุด
หลังผ่าตัดควรใส่เสื้อชั้นในชนิดไม่มีโครงเหล็กทั้งกลางวันและกลางคืนประมาณ2เดือนเพื่อให้เต้านมอยู่ทรงเมื่อหายเจ็บจากการผ่าตัดแล้วควรเริ่มนวดเต้านมเพื่อป้องกันการหดรั้งรอบถุงเต้านมเทียมซึ่งศัลยแพทย์จะสอนให้ก่อนกลับบ้าน
ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดเสริมเต้านม
1.เลือดคั่ง
2.การติดเชื้อ
3.การเกิดพังผืดหดรั้งรอบเต้านมเทียมทำให้เต้านมแข็งกว่าปกติและอาจผิดรูปได้
4.อาการชาบริเวณหัวนมหรือบริเวณที่เป็นแผลผ่าตัดซึ่งมักจะเป็นชั่วคราว แต่ก็อาจจะเป็นถาวรได้
5.ถุงเต้านมเทียมแตกหรือรั่ว ถ้าเป็นถุงน้ำเกลือเต้านมข้างนั้นก็จะแฟบไปเนื่องจากน้ำเกลือถูกร่างกายดูดซึมไปแต่ถ้าเป็นถุงซิลิโคนก็มักจะเกิดพังผืดหดรั้ง ทั้งสองกรณีควรได้รับการผ่าตัดใหม่เพื่อแก้ไข
หลังการผ่าตัดเสริมเต้านมสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติการผ่าตัดเสริมเต้านมไม่ทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าคนทั่วไปและไม่ได้ทำให้การตรวจพบมะเร็งเต้านมช้ากว่าปกติ
ข้อเขียนโดย นพ.นราธิป ทรงทอง ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมความงาม ประจำรพ.วิภาวดี
คลินิกศัลยกรรมความงาม โทร.0-2941-2800 , 0-2561-1111กด1