ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ทีมไทยแลนด์เพื่อวัคซีนโควิด

ทีมไทยแลนด์เพื่อวัคซีนโควิด Thumb HealthServ.net
ทีมไทยแลนด์เพื่อวัคซีนโควิด ThumbMobile HealthServ.net

ทีมไทยแลนด์เพื่อวัคซีนโควิด

จากบทสัมภาษณ์นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563
เรื่องโดย สุวิมล สงวนสัตย์ [บทความต้นฉบับ]
ภาพ © องค์การอนามัยโลก / พลอย พุฒเพ็ง

 
ในสถานการณ์โลกที่ผู้ป่วยโควิด 19 ยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนกำลังฝากความหวังไว้กับวัคซีน และดูเหมือนว่าเริ่มจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้วเมื่อมีวัคซีนของหลายประเทศเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 2 และ 3
 
แต่การรอเพียงอย่างเดียวเพื่อจะซื้อวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตคงไม่ใช่ทางออกในวิกฤตนี้ ประเทศไทยได้เรียนรู้จากประสบการณ์เมื่อไข้หวัดใหญ่ระบาดในปี ค.ศ.2009 แล้วว่า ในครั้งนั้น แม้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคระบาดไม่รุนแรงเท่าโควิด 19 อีกทั้งอัตราการป่วยตายที่ต่ำกว่า แต่เราต้องผิดหวังจากการต่อคิวเพื่อซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งแม้ต้องการเบื้องต้นเพียง 10 ล้านโดสสำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง ก็ไม่สามารถจัดหาซื้อมาได้เพียงพอและทันเวลา เนื่องจากมีความต้องการสูงในขณะนั้น เมื่อมีโรคอุบัติใหม่ในครั้งนี้ ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติจึงต้องการมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ โดยที่ไม่ต้องรอนานจนเกินไป เพราะแน่นอนว่า เมื่อใดที่มีวัคซีนโควิด 19 นั้น ต่อให้มีเงินก็ใช่ว่าจะหาซื้อได้ เนื่องจากมีความต้องการสูงมากทั่วโลก


“จากข้อมูลทางระบาดวิทยาที่เห็นในตอนแรก บรรดานักระบาดวิทยาก็ตระหนักว่าโรคนี้ไม่ธรรมดา หนีไม่พ้นที่จะเกิดการระบาดใหญ่ จะเห็นได้จากที่กรมควบคุมโรคเริ่มตอบโต้สถานการณ์ที่ด่านตรวจโรคท่าอากาศยานเพื่อสกัดกั้นการระบาดของโรคตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. 63 จนกระทั่งการที่จีนปิดเมืองก่อนตรุษจีนแปลว่า(โรค)มันเอาเรื่อง” นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าว จากวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและยั่งยืนทางวัคซีน จึงได้เกิดการทำงานร่วมกันของสถาบันฯและภาคีเครือข่ายทั้งในระดับสถาบันวิจัยฯ มหาวิทยาลัย บริษัทผู้ผลิตวัคซีนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อจัดทำในสิ่งที่เรียกว่า “พิมพ์เขียว เพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของประชาชนคนไทย” ซึ่งมีทิศทางการทำงานในสองด้านคือ การวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนในประเทศ คู่ขนานไปกับความร่วมมือทางการวิจัยและพัฒนากับต่างประเทศ เพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อมาผลิตเองในประเทศ
 
ขณะนั้น เป็นช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ที่ พญ. อรรถยา ลิ้มวัฒนายิ่งยง ได้ไปประชุมกับองค์การอนามัยโลกที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ออกพิมพ์เขียวสำหรับการวิจัยและผลิตวัคซีนโควิดในเบื้องต้นสำหรับประเทศสมาชิก จึงได้แนวคิดในการพัฒนาพิมพ์เขียวสำหรับประเทศไทยขึ้นมาในฐานะหน่วยงานส่วนกลางที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างเครือข่าย สถาบันวัคซีนแห่งชาติจึงไม่รีรอและได้เชิญผู้เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วนมาเพื่อประชุมหารือนัดแรกภายในเดือนกุมภาพันธ์  ซึ่งนพ. นครเรียกว่า “ทีมไทยแลนด์” และได้มีการลงนามในข้อตกลงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563
 
การทำงานเพื่อพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด 19 นั้นไม่สามารถให้หน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวรับผิดชอบทั้งหมดได้ จึงจำต้องมีแผนเร่งรัดและภาคีเครือข่ายที่จะมาร่วมมือกัน แผนนี้เปรียบเสมือนแผนที่นำทางให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่าประเทศไทยกำลังจะดำเนินไปในทิศทางใด ด้วยวิธีการอย่างไร เพื่อให้ไม่เกิดการซ้ำซ้อนของบทบาทและหน้าที่
 
วิกฤตครั้งนี้คือโอกาสที่จะเร่งรัดพัฒนาวัคซีน เนื่องจาก เกิดขึ้นในสถานการณ์ปกติอาจใช้เวลาถึงแปดปี แต่หากใช้โอกาสนี้ที่จะพัฒนาส่วนขาดที่มีอยู่และเสริมสร้างความแข็งแกร่ง อาจประสบความสำเร็จได้เร็วกว่านั้น ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพสูงมาก แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจไว้ล่วงหน้า คือ การพัฒนาและวิจัยวัคซีนไม่ได้มีคำตอบแน่ชัดว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่หากประสบความสำเร็จในครั้งนี้ประเทศจะมีวัคซีนที่พัฒนาและผลิตได้เองในประเทศ และหากไม่ประสบความสำเร็จก็จะเป็นการสร้างศักยภาพและความพร้อมสำหรับโรคระบาดใหญ่ในครั้งต่อ ๆ ไป ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์จะพร้อมมากขึ้น

 
 นพ. นครเล่าว่า “สถาบันวัคซีนแห่งชาติตั้งมา 8 ปี แล้ว เราไม่ได้มีห้องแล็บเอง แต่ก่อนหน้านี้เราทำงานภายใต้กรมควบคุมโรค มีเครือข่ายการทำงานและพอรู้ว่าใครมีศักยภาพอะไร ปลายเดือนมกราคมจึงได้โทรหาศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ที่จุฬาฯเพื่อถามว่าเรามีศักยภาพพัฒนาวัคซีนไหม จึงได้รับคำตอบว่าทางทีมสามารถพัฒนาวัคซีนขนิดดีเอ็นเอและเอ็มอาร์เอ็นเอได้ จากนั้นก็ติดต่อไปที่มหิดล ซึ่งกำลังพัฒนาวัคซีนเชื้อตาย  (inactivated vaccine) อยู่ เป็นการต่อยอดการพัฒนาวัคซีนไวรัสซิก้า พอรู้ว่าทั้งสองหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่สามารถต่อยอดงานวิจัยได้ และทางบริษัทไบโอเนท-เอชีย ก็แจ้งว่ามีความสนใจที่พัฒนาวัคซีนชนิด DNA เราก็เริ่มมีความหวังแล้วว่าไทยจะต้องทำได้ ซึ่งขณะนั้นองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้เรายังมีอยู่น้อยมากด้วยซ้ำ” สำหรับในประเทศไทยนั้น ห้องปฏิบัติการทางชีววัตถุและบุคลากรที่เชี่ยวชาญกระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับโลกและเป็นเครือข่ายที่ทางสถาบันวัคซีนฯ ได้ร่วมดำเนินการมานานแล้ว ภาคีเหล่านี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน  แม้แต่ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในภูมิภาคบางประเทศก็ไม่ได้มีโครงการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิดภายในประเทศ
 
สำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทยขณะนี้ ของจุฬาลงกรณ์ฯ และของบริษัทไบโอเนท เอเชีย อยู่ในขั้นตอนการทดลองในลิง ซึ่งวัคซีนแต่ละชนิด (แพลตฟอร์ม)จะใช้ระยะเวลาต่างกันในการพัฒนา เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยและความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
 
เมื่อมองกรอบเวลาของงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทยนี้ นพ. นครได้ฉายให้เห็นภาพคร่าวๆว่า หากเริ่มการทดลองในมนุษย์ภายในเดือนตุลาคมปีพ.ศ. 2563 ระยะที่หนึ่งจะใช้เวลา 3 เดือน และระยะสองเพื่อวัดระดับปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันอีก 3 เดือน ดังนั้นเราน่าจะได้คำตอบว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันในมนุษย์ได้หรือไม่ แต่การทดลองในระยะที่ 3 ต้องการประชากรกลุ่มตัวอย่างใหญ่มากตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากบริษัทวัคซีนของประเทศอังกฤษและจีนจึงต้องทำการทดลองระยะที่ 3 ในประเทศบราซิลซึ่งมีสถานการณ์การระบาดรุนแรงในขณะนี้
 
ในปลายเดือนมีนาคม 2564 ไทยน่าจะได้คำตอบว่าการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนโควิดที่พัฒนาในประเทศอยู่ที่ระดับใด แต่หากประเทศไทยยังคงควบคุมโรคได้ดีจะไม่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงพอสำหรับการทดลอง ซึ่งแปลว่าจำเป็นต้องไปแสวงหาความร่วมมือกับประเทศอื่นที่มีสถานการณ์การระบาดของโรคต่อเนื่อง หรือใช้ผลที่ได้จากการทดสอบในประเทศไทยไปเทียบเคียงกับประเทศอื่น ๆ ที่มีความก้าวหน้ามากกว่าเพื่อขอการรับรองจากองค์การอาหารและยาเพื่ออนุมัติให้ขึ้นทะเบียน
 
สิ่งสำคัญที่ประชาชนทั่วไปควรทราบคือ การฉีดวัคซีนไม่ได้มีการป้องกันโรคได้ 100% ตัวอย่างเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็มีประสิทธิภาพเพียง 40-60% ประเทศไทยจึงใช้เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดการเสียชีวิตเท่านั้น นอกจากนี้ในสถานการณ์เร่งด่วนที่มีวัคซีนจำกัด ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญผู้ที่จะได้วัคซีนก่อนซึ่งอ้างอิงตามหลักเกณฑ์สากล นั่นคือ บุคลากรการแพทย์แถวหน้าที่ทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย (แพทย์ พยาบาล เวรเปล เจ้าหน้าที่ห้องแล็บ) และผู้มีความเสี่ยงสูง (อาทิ ผู้สูงอายุวัยเกิน 65 ปี ผู้มีโรคประจำตัว เป็นต้น)  สาเหตุที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับวัคซีนก่อนเนื่องจากประเทศมีความจำเป็นต้องประคองระบบสุขภาพให้ดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด สำหรับประเทศไทยนั้นมีบุคลากรการแพทย์อยู่ราว 5 แสนคน

 ขั้นตอนที่ยุ่งยากไม่แพ้กับการวิจัยและพัฒนาคือการผลิต เป็นที่น่ายินดีว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ขณะนี้ประเทศไทยสามารถรองรับการผลิตวัคซีนในแพลตฟอร์ม ดีเอนเอ (DNA) เอ็มอาร์เอนเอ (mRNA) โปรตีนซับยูนิต (subunit protein)  และวีแอลพี (VLP) ส่วนการผลิตวัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine) ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม แต่สามารถรับมาแบ่งบรรจุได้หากไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเองภายในประเทศ แต่ยังมีความยุ่งยากเพราะต้องการศักยภาพในการผลิตสูงมากในระบบปิดที่มีการควบคุมคุณภาพเข้มข้นทุกขั้นตอนด้วยการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัย 100% ไม่มีการปนเปื้อนและมีความคงตัว วัคชีนในขวดแก้วเล็ก ๆ หนึ่งขวดจึงผ่านการตรวจสอบนับร้อยรายการกว่าจะนำมาใช้ได้
 
ในส่วนของความท้าทายของการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนของประเทศไทย ที่กำลังเผชิญนั้น คือเรื่องกลไกการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐฯ เนื่องจากทางสถาบันฯ ต้องเสนอโครงการไปก่อนจึงจะได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีน จะไม่เหมือนกับประเทศแนวหน้าที่รัฐบาลมอบงบประมาณการวิจัยพัฒนาให้ล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ศูนย์การทดลองในสัตว์ โรงงานต้นแบบที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี
 
นพ.นคร เสริมว่า ภาพในอุดมคติของการตอบสนองในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ประเทศควรมีโรงงานผลิตวัคซีนที่ผลิตได้ 50-100 ล้านโดสต่อปี เพื่อสร้างบุคลากร สร้างความชำนาญ ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้วงจรการวิจัยและพัฒนา การทดลอง และการผลิตสร้างมาเพื่อเสริมกันและกันอย่างต่อเนื่อง  
 
ในส่วนขององค์การอนามัยโลกเองก็ได้ให้การสนับสนุนด้านวิชาการแก่สถาบันวัคซีนฯเป็นอย่างดีมาตลอดนับตั้งแต่เชิญเข้าประชุมครั้งแรก ณ วันนั้น ประเทศไทยมีวัคซีน 11 แคนดิเดตซึ่งอยู่ในขั้นตอนวิจัยและพัฒนาและปัจจุบันนี้มีถึง 20 แคนดิเดตแล้ว ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยยังแสดงความประหลาดใจเมื่อได้รับรายงานว่าขณะนั้นประเทศไทยมีงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนอยู่ถึงสิบกว่าตัว
 
ยิ่งไปกว่านั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเชื่อมั่น ว่า “รัฐบาลไทยจะทำให้ดีที่สุด เพื่อให้มั่นใจได้ว่า คนไทยทุกคนจะปลอดภัยจากโควิด 19 และเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเหมาะสม” ท่านให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม
 
นพ.นครเชื่อว่าในปลายทางแล้วจะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 แม้ยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มไหน หรือจะสามารถสร้างระดับความคุ้มกันได้เท่าใด แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ ความพร้อมของภาคีเครือข่ายที่ทางสถาบันฯ ช่วยเป็นหน่วยงานกลางประสานงานในครั้งนี้ จะสร้างความแข็งแกร่งให้งานวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนของประเทศไทยพร้อมรับกับโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆในอนาคต

 
ดร. เรณู การ์ก, ดร. นคร เปรมศรี, มณฑิรา นาควิเชียร และ กรรภิรมย์ วิบูลย์พานิช เอื้อเฟื้อข้อมูล
 
นพ.นคร เปรมศรี
ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
เกิดวันที่ 12 พฤษภาคม 2513
 
วุฒิการศึกษา:
  • แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ประวัติการทำงาน:
  • ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตาพระยา จังหวัดสระแก้ว
  • อบรมหลักสูตรโครงการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน (แขนงระบาดวิทยา) สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข
  • หัวหน้าแผนกเวชศาสตร์สังคม ประจำโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จังหวัดสระแก้ว
  • ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนโลก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

Useful resources

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด