(บทความแปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ)
ต้นฉบับภาษาอังกฤษเขียนโดย มณฑิรา นาควิเชียร ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารองค์กร องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษโดย สุวิมล สงวนสัตย์
คูบางหลวง ประเทศไทย – กว่าสี่ทศวรรษแล้วที่กองทัพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้ช่วยเหลือพี่น้องในชุมชนให้ห่างไกลจากโรคต่างๆ ในขณะนี้ อสม.กำลังปกป้องคนในชุมชนจากโรคระบาดใหม่ที่พวกเขาไม่เคยเผชิญมาก่อน
อสม.ช่วยให้คนอย่างเช่นนายสมชาย จาจุมปา วัย 37 ปีคลายความกังวลได้ ซึ่งในเดือนมีนาคมเขาได้หนีกลับมาจากประเทศเกาหลีใต้ ที่ที่เขาทำงานอยู่ในโรงงานไอศกรีมแห่งหนึ่งเพื่อกลับมายังบ้านที่คูบางหลวง
“ผมกังวลมาก กลัวและอยากออกมาให้เร็วที่สุดเพราะรู้ว่าจะดีกว่าถ้าอยู่บ้านเรา” สมชายกล่าวในการสัมภาษณ์ขององค์การอนามัยโลก
เขากล่าวว่า ในช่วงกักตัว 14 วันภาคบังคับเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย “บุคลากรทางการแพทย์ และอสม. โทรหาเขาทุกเช้าเพื่อสอบถามว่าเขาเป็นอย่างไร ตลอดจนถามว่าตรวจวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการต่างๆหรือไม่”
“นอกจากนี้ ยังมีอาหารให้ทุกมื้อและคอยสอบถามเพื่อให้แน่ใจว่าผมไม่เครียดจนเกินไป” สมชายกล่าวเสริม
ขณะนี้สมชายปลอดภัยดีและกำลังหางานทำในคูบางหลวง ซึ่งเป็นตำบลในจังหวัดปทุมธานีที่มีลักษณะกึ่งเมืองกึ่งชนบทและอยู่ 50 กม.ทางเหนือของกรุงเทพฯ
กระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการอสม.จำนวน 1.04 ล้านคนทั่วประเทศ รวมถึงอาสาสมัคร 15,000 คนในกรุงเทพฯ อสม.แต่ละคนได้รับเงิน 1,000 บาทต่อเดือน และได้รับอีก 500 บาทเพิ่มในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
อสม.เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาออกไปสำรวจข้อมูลด้านสาธารณสุข เก็บข้อมูล เก็บบันทึกด้านสุขภาพของครอบครัว และรณรงค์เรื่องการป้องกันโรคเพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด การเก็บประวัติสุขภาพของสมาชิกในชุมชนโดยละเอียดได้ถูกนำมาใช้เพื่อติดตามผู้สัมผัสโรคและเพื่อติดตามด้านสุขภาพ
อสม.เหล่านี้ได้ปกป้องคนในชุมชนจากโรคที่คุ้นเคยตลอดฤดูกาลระบาดมานานแล้ว ในช่วงฤดูฝน พวกเขาไปเยี่ยมตามบ้านเพื่อช่วยกำจัดแหล่งน้ำขังซึ่งเป็นที่เพาะพันธุ์ยุงลายอันเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ช่วยกำจัดลูกน้ำ และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์อื่นๆ ส่วนในช่วงฤดูร้อน พวกเขาช่วยทางปศุสัตว์ท้องถิ่นฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าให้โคกระบือและสัตว์เลี้ยง
อสม.เน้นการให้ความรู้และให้ข้อมูล พวกเขาช่วยให้ชาวบ้านเข้าใจสาเหตุของโรคและวิธีป้องกันรักษาโรคเช่น ไข้เลือดออก พิษสุนัขบ้า และมาลาเรีย ซึ่งเป็นบทเรียนที่ได้นำมาปรับใช้กับโรคโควิด 19
อสม.ไปเคาะตามประตูบ้านทุกหลังเพื่อให้คำแนะนำเรื่องการป้องกันโรคโควิด 19 อาการและการสังเกตตนเอง แจกหน้ากากซึ่งพวกเขาเย็บเอง ตลอดจนแจกแอลกอฮอล์เจลและใบปลิว ช่วงที่ประเทศไทยมีการระบาดสูง พวกเขาได้รับหน้ากากและเฟสชิล์ด ถุงขยะอันตรายและแอลกอฮอล์เจลเพื่อปกป้องตนเอง
ทั่วประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 26 มีนาคม อสม.ไปเยี่ยมบ้านถึง 3.3 ล้านหลังคาเรือน ช่วง 27 มีนาคมถึง 11 เมษายน พวกเขาไปเยี่ยมเพิ่มเติมอีก 8 ล้านหลังคาเรือนเพื่อค้นหาผู้ป่วยโควิด 19 โดยเน้นที่กลุ่มคนต้องสงสัยว่ามีความเสี่ยงตามคำนิยามของกระทรวงสาธารณสุข
ในวันที่ 22 มิถุนายนที่ได้ไปเยี่ยมโรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบล เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกเห็นอสม. แสดงรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ให้ชาวบ้านดูผ่านทางแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือเพื่อให้ชาวบ้านรับรู้แนวโน้มของสถานการณ์โลกและเรียนรู้ถึงประโยชน์ของการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การใช้แอลกอฮอล์เจลและการเลี่ยงที่ชุมนุมชน เป็นต้น
เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกได้เห็นอสม.ช่วยเหลืองานเพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 และเห็นความพยายามของโรงพยาบาลที่จะทำให้คนมีสุขภาพกายและใจแข็งแรง อีกทั้งได้เห็นอสม.ช่วยวัดความดันและส่งยาตามบ้านผู้ป่วยเรื้อรังด้วย
ศิริพร แซมอน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขซึ่งทำงานกับอสม.ในคูบางหลวง กล่าวว่า อสม.รับรู้สถานการณ์ล่าสุดและข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานผ่านทางแอปพลิเคชันเพื่ออสม.ซึ่งออกแบบมาใช้ในสถานการณ์การระบาดนี้โดยเฉพาะ และยังมีกลุ่มไลน์ที่สร้างขึ้นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ระดับปฐมภูมิ อสม.รายงานเหตุการณ์ ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับสุขภาพของสมาชิกในชุมชนและเรียกรถพยาบาลด้วย
ทั่วประเทศไทย อสม.ยังช่วยภาครัฐติดตามผู้สัมผัสโรคและแยกตัวผู้ต้องถูกกักกันที่บ้านเมื่อมีความจำเป็น พวกเขายังช่วยดูแลให้ผู้คนและกิจกรรมกิจการต่างๆเป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด 19
มีความต้องการความช่วยเหลือของอสม.อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่โรคระบาดนี้สร้างภาระให้โรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ
“อสม.เป็นบุคลากรหลักในชุมชนที่ช่วยให้บริการจำเป็นทางสุขภาพต่างๆดำเนินไปได้โดยไม่สะดุด” สุชีรา บรรลือสินธุ์ เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยกล่าว
นอกจากนี้ อสม.ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านในช่วงเวลาที่ไม่มีอะไรแน่นอนและเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความรู้สึกปลอดภัยและการดูแลตนเองของชาวชุมชนคูบางหลวงได้ พวกเขาช่วยบรรเทาการตีตราที่เกิดจากการที่คนถูกสอบสวนโรคเมื่อมีอาการคล้ายโควิด 19 และคนอย่างสมชายที่เพิ่งกลับมาไทย (ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้ป่วยยืนยันโควิด 19 อยู่เฉพาะในกลุ่มผู้ที่เดินทางกลับมา)
“อสม.ของไทยเป็นผู้ปิดทองหลังพระซึ่งทำงานเพื่อสนับสนุนการป้องกัน การตรวจพบและการรายงานผู้ป่วยโควิด 19 พวกเรารับรู้บทบาทที่พวกเขามีในการส่งเสริมระบบสาธารณสุขในประเทศไทยมากว่าสี่ทศวรรษแล้ว” นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยกล่าว
ในบรรดาคนที่ช่วยเหลือสมชายตอนที่กลับมาจากเกาหลีใต้นั้น มีอสม.ชื่อบุญช่วย กรดงาม วัย 49 ปี ซึ่งเป็นอสม.ในคูบางหลวงมา 26 ปีแล้ว
บุญช่วยถอดหน้ากากออกเพื่อ
ให้เห็นรอยยิ้มกว้าง “เห็นไหมคะ ไม่มีสัญญาณของความเหน็ดเหนื่อย มีแต่ความภาคภูมิใจที่เราได้รับใช้ชุมชน” บุญช่วยกล่าว “เราพร้อมรับอะไรก็ตามที่จะเกิด เรารู้จักทุกคนที่นี่และได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน”
“เราได้ทำดีที่สุดเพื่อรับใช้ชุมชนเมื่อมีความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นช่วงโควิด 19 ก่อนหน้านั้น หรือแม้กระทั่งหลังจากนี้” บุญช่วยเสริม
“อสม.หนึ่งคนดูแล 10 ครอบครัว รวมถึงครอบครัวเราเองด้วย” ทองใบ ใจมั่น วัย 60 ปี กล่าว ทองใบได้ทำงานเพื่อชุมชนมา 27 ปีและขณะนี้เป็นหัวหน้าอสม.ในคูบางหลวง “เราผูกพันกับบ้านเกิดและชุมชนของเรามาก ถ้าคิดอย่างนี้จะช่วยให้เราผ่านเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ในแต่ละวัน”
อสม.ได้รับเลือกจากชุมชนโดยต้องมีคุณสมบัติจิตสาธารณะ ความสนใจในเรื่องสุขภาพและความสมัครใจช่วยผู้อื่น บุญช่วยกล่าวว่าได้มาช่วยงานอสม.หลังจากได้รางวัลการให้นมแม่และการเลี้ยงดูบุตรดีเด่นเมื่ออายุเพียง 19 ปี
ทั่วประเทศนั้น อสม.ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอย่างเช่นบุญช่วยและทองใบ ใบบรรดาอสม. 130 คนในคูบางหลวง มีถึง 120 คนเป็นผู้หญิง
“อสม.หญิงเป็นกลไกในการเชื่อมโยงกับชุมชนเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโควิด 19 พวกเขาสามารถทำงานประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ปกครองของรัฐได้ และยังถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้รุ่นใหม่ที่กำลังฝึกงานได้” นายแพทย์สมัย สิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขกล่าว
“พวกเขาใส่ใจรายละเอียด มีความมุ่งมั่นและความฉลาดทางอารมณ์ ผู้หญิงสามารถเข้าถึงครัวเรือนต่างๆเพื่อดูแลผู้สูงอายุและช่วยให้บริการจำเป็นทางการแพทย์ดำเนินต่อโดยไม่สะดุด อีกทั้งยังไปเยี่ยมผู้ต้องกักที่บ้านเพื่อช่วยให้ชุมชนลดการตีตราผู้ถูกสอบสวนโรค” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริม
จนถึงปัจจุบัน ชุมชนคูบางหลวงยังไม่มีผู้ป่วยยืนยันโควิด 19 เลยสักราย