โดยวัคซีน mRNA-1273.211 นี้เป็นสูตรผสมของสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์เบต้า ในปริมาณที่เท่ากันอย่างละครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสูตรมาตรฐาน mRNA-1273 รุ่นปัจจุบัน ขนาด 50 ไมโครกรัม พบว่า วัคซีน mRNA-1273.211 ในขนาด 50 ไมโครกรัม นั้นสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ โอไมครอนและสายพันธุ์น่ากังวล อื่นๆ ได้แก่ เดลต้า และ เบต้า ได้ในระดับที่สูงกว่า และระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าดังกล่าวก็ยังมีการตรวจวัดได้ที่เวลา 6 เดือนหลังจากนั้น โดยในส่วนของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโอไมครอนของวัคซีนเข็มกระตุ้นสูตรผสม mRNA-1273.211 รุ่นใหม่นี้ เมื่อวัดหลังฉีดไปแล้ว 1 เดือน พบว่ามีระดับที่สูงกว่าการกระตุ้นด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้นสูตรมาตรฐานรุ่นปัจจุบันที่ประมาณ 2.20 เท่า (1408 เทียบกับ 629) และเมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน พบว่าภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโอไมครอนก็ยังคงระดับที่สูงกว่าที่ 2.15 เท่า (317 เทียบกับ 146)
ในด้านความปลอดภัยของวัคซีนเข็มกระตุ้นสูตร mRNA-1273-211 ขนาด 50 ไมโครกรัม พบว่า โดยทั่วไปอาสาสมัครมีการยอมรับวัคซีนได้ดี อาการไม่พึงประสงค์ที่พบมีความคล้ายคลึงกับที่มีการรายงานจากวัคซีนสูตรมาตรฐานขนาด 50 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ใช้ฉีดอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยอาการส่วนใหญ่อยู่ในระดับเล็กน้อย-ปานกลาง
Stéphane Bancel ซึ่งดำรงตำแหน่ง Chief Executive Officer ของบริษัทโมเดอร์น่าได้กล่าวว่า
"เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับข้อมูลที่ได้จากการทดสอบวัคซีนเข็มกระตุ้นสูตร mRNA-1273.211 ซึ่งเป็นวัคซีนสูตรผสมตัวแรกที่เราพัฒนาขึ้นมา ผลการทดสอบที่แสดงให้เห็นว่าวัคซีนสูตรผสมนี้ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้มี mRNA ของสายพันธุ์โอไมครอนเป็นส่วนประกอบ แต่ก็สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโอไมครอนและสายพันธุ์น่ากังวลชนิดอื่นๆ ได้ในระดับที่สูงกว่าวัคซีนสูตรมาตรฐาน แสดงให้เห็นว่า กลยุทธ์ที่เราวางแผนไว้เพื่อรับมือกับไวรัสสายพันธุ์น่ากังวลและเริ่มดำเนินมาตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วนั้น เราได้มาถูกทางแล้ว นอกจากนี้แล้ว ทางโมเดอร์น่าเองกำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 2/3 ของวัคซีนเข็มกระตุ้นรุ่นใหม่อีกหนึ่งสูตรคือ mRNA-1273.214 ซึ่งเป็นวัคซีนสูตรผสมระหว่างสายพันธุ์ดั้งเดิม และ สายพันธุ์โอไมครอน โดยคาดว่าผลการทดสอบเบื้องต้นจะออกมาภายในไตรมาสที่สองของปีนี้ โดยทั้งวัคซีน mRNA-1273.211 และ mRNA-1273.214 นั้นถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นตัวเลือกของการใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นรุ่นใหม่ที่จะผลิตออกมในช่วงปลายปีนี้ เราเชื่อมั่นว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นสูตรผสมที่ประกอบไปด้วยสองสายพันธุ์ จะเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ที่จะสามารถใช้รับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต"
ส่วนวัคซีนเข็มกระตุ้นรุ่นปัจจุบันนี้เมื่อใช้ฉีดกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 หรือ 4 จากข้อมูลจากการใช้งานจริงในหลายๆประเทศทั่วโลก ก็แสดงให้เห็นว่ายังคงสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบรุนแรงและการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ดี