ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เบาหวานควบคุมได้ ด้วยการเลือกกิน

เบาหวานควบคุมได้ ด้วยการเลือกกิน HealthServ.net
เบาหวานควบคุมได้ ด้วยการเลือกกิน ThumbMobile HealthServ.net

เบาหวาน คือ การที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หลายคนเชื่อว่าเป็นเพราะจากการกินน้ำตาลมากเกินไป ความจริงตัวน้ำตาลเองมิได้เป็นสาเหตุโดยตรงของโรคเบาหวาน แต่การกินน้ำตาลมากเกินไปเป็นผลให้เกิดความอ้วน และนำมาซึ่งโรคเบาหวานได้

เบาหวานควบคุมได้ ด้วยการเลือกกิน HealthServ
ที่จริงแล้วโรคเบาหวาน เกิดจากการทำงานของต่อมไร้ท่อในตับอ่อนผลิตสารที่เรียกว่า "อินซูลิน" ออกมาน้อยกว่าปกติ ไม่พอกับการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด


อีกกรณีหนึ่งตับอ่อนยังทำงานดีแต่อินซูลินลดความสามารถที่จะชักนำให้น้ำตาลผ่านเข้าไปในเซลล์ เมื่อเซลล์ได้รับน้ำตาลขาดๆหายๆ ก็จะเกิดอาการขาดพลังงาน ร่างกายจึงเสื่อมโทรมอ่อนเปลี้ยเพลียแรง จะเห็นได้ว่าการเป็นเบาหวาน คือการบกพร่องของการควบคุมระดับน้ำตาลภายในร่างกาย ดังนั้นการควบคุมจากภายนอกโดยการกินอาหารให้ถูกสัดส่วนและไม่มากเกินความต้องการของร่างกาย จึงมีความสำคัญในการควบคุมโรคเบาหวาน
 

ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นมักไม่มีอาการแสดงให้เห็น ดังนั้นการเจาะเลือดตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำจึงเป็นสิ่งจำเป็น และการดูแลไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปมีความสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่ การเสื่อมของหลอดเลือดในร่างกาย เช่น ในส่วนของตาทำให้เบาหวานขึ้นตา การเสื่อมของหลอดเลือดที่ไต มีผลทำให้ไตเสื่อมสมรรถภาพจนถึงไตวายเรื้อรัง การเป็นแผลไม่หายนำไปสู่การตัดขา นอกจากนี้ยังมีผลต่อหลอดเลือดสมองทำให้ตีบตันเกิดอาการอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ หลอดเลือด หัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันเลือดสูง ปลายประสาทเสื่อมทำให้มือและเท้าชา
 

เบาหวานมีหลายประเภท เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนก็ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมได้ สูตรสำคัญในการที่จะควบคุมเบาหวานได้ คือการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย สม่ำเสมอ ใช้ยาตามแพทย์กำหนด และตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ การควบคุมโรคที่ดี หมายถึง การควบคุมระดับน้ำตาล ระดับไขมัน และความดันเลือดให้ได้ตลอดเวลา


ผู้ป่วยเบาหวานหลายคนเข้าใจว่า เมื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารครั้งใดแล้วอยู่ในระดับปกติ แปลว่าหายจากเบาหวานแล้ว สามารถกินได้ตามใจปาก แท้ที่จริงระดับน้ำตาลในเลือดที่ตรวจได้เป็นระดับน้ำตาล ขณะที่เจาะเลือดเท่านั้น หากคนใดพยายามคุมอาหารเฉพาะช่วงวันใกล้ๆ จะมาเจาะเลือดระดับน้ำตาลที่เจาะได้ก็จะดีกว่าความเป็นจริง ถ้าจะให้ดีควรมีการเจาะเลือดด้วยตนเองที่บ้านเป็นประจำก่อนและหลังอาหาร เพื่อช่วยทำให้เรียนรู้ถึงการตอบสนองของระดับน้ำตาลในเลือดต่ออาหารแต่ละชนิดที่กิน และทำให้สามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้น้ำตาลขึ้นสูงได้อย่างถูกต้อง
 
 
รู้จักกิน ควบคุมเบาหวานได้

หัวใจสำคัญของการควบคุมเบาหวาน คือ การกินอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกายไม่มากหรือน้อยเกินไป การกินมากเกินไปจะทำให้น้ำตาลขึ้นสูงหรือ ขึ้นเร็วเกินไป ในขณะดียวกันถ้ากินน้อยเกินไปอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปจนเป็น อันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนเป็นเบาหวานที่มีการฉีดอินซูลิน ที่จริงแล้ว หลักการกินอาหารสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานก็ไม่แตกต่างจากหลักการกินเพื่อให้ มีสุขภาพที่ดีของคนทั่วไป คือการกินอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ให้ถูกสัดส่วน ปริมาณพอเหมาะ และมีความหลากหลาย


ในหมวดข้าวแป้งซึ่งเป็นอาหารหลัก ที่ให้พลังงานกับร่างกาย คนเป็นเบาหวานควรเลือกกินข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท หรือแป้งที่ไม่ขัดสีมากกว่า ข้าวขาว เพราะร่างกายย่อยและดูดซึมได้ช้ากว่า ระดับน้ำตาลในเลือดจึงไม่ขึ้นสูงเร็ว ที่สำคัญต้องระวังปริมาณที่กินอย่าให้มากเกินไป


โดยทั่วไปไม่ควรเกินมื้อละ 2-3 ทัพพี ยกเว้นในคนที่ทำงานหนักต้องใช้แรงมาก หรือเล่นกีฬาอาจต้องการมากขึ้น คนเป็นเบาหวานควรเน้นการกินผักให้มากขึ้น ผักส่วนใหญ่มีใยอาหารสูงจึงช่วยให้กระบวนการย่อยและการดูดซึมเกิดขึ้นช้าๆ ร่างกายดูดซึมน้ำตาลไปใช้ได้ดีขึ้น จึงไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากนี้อาหารที่มีใยอาหารสูงทำให้อิ่มท้อง กินอาหารได้น้อยลง จึงช่วยในการลดน้ำหนัก ส่งผลให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น จึงช่วยลดความรุนแรงของโรคเบาหวานลงได้โดยปกติควร กินผักต่างๆ ให้ได้อย่างน้อยวันละ 5-6 ทัพพี ถ้าเป็นผักสด ลวก หรือต้ม จะดีกว่าการนำผักไปผัดหรือทอดเพราะอาจทำให้ได้ไขมันมากเกินไป


คนเป็น เบาหวานกินผลไม้ได้แต่ต้องระวังปริมาณไม่ให้มากเกินไป ไม่ควรกินผลไม้รสหวานจัด และไม่ควรกินครั้งละมากกว่า 1 ส่วน สามารถกินได้วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารหรือเป็นอาหารว่าง ปริมาณผลไม้ 1 ส่วน จะ แตกต่างกันขึ้นอยู่กับขนาดความหวานหรือปริมาณคาร์โบไฮเดรต ซึ่งพอจะกะประมาณได้ ดังนี้

    ผลไม้ผลเล็ก 1 ส่วน = 5-8 ผล  เช่น ลำไย ลองกอง องุ่น
    ผลไม้ผลกลาง 1 ส่วน = 1-2 ผล  เช่น ส้ม ชมพู่ กล้วย
    ผลไม้ผลใหญ่ 1 ส่วน = 1ผล  เช่น มะม่วง ฝรั่ง
    ผลไม้ผลใหญ่มาก 1 ส่วน = 6-8 ชิ้นพอคำ เช่น มะละกอ สับปะรด แตงโม


อาหาร จำพวกเนื้อสัตว์คนเป็นเบาหวานต้องการไม่แตกต่างไปจากคนปกติ คือวันละประมาณ 6-9   ช้อนโต๊ะ ยกเว้นคนที่มีปัญหาเรื่องไตร่วมด้วยควรลดปริมาณลง เนื้อสัตว์ที่กินควรเป็นชนิดที่มีไขมันน้อย สำหรับนมถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการย่อยนม ควรดื่มนมจืดพร่องมันเนยหรือไม่มีไขมันวันละ 1 แก้ว ควรหลีกเลี่ยงนมปรุงแต่งรสหรือนมเปรี้ยวทุกชนิด เพราะนมเหล่านี้มีการเติมน้ำตาลเพิ่มมากกว่าที่มีอยู่ในนมตามธรรมชาติ ทำให้การควบคุมเบาหวานยากขึ้น


คนเป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยงอาหารไขมัน สูงโดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ และระวังไม่ใช้น้ำมันในการประกอบอาหารมากเกินไป การลดอาหารไขมันจะช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ทำให้อินซูลินทำงานดีขึ้น จึงควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังควรลดอาหารเค็มเพื่อป้องกันความดันเลือดสูงและไตเสื่อม และ หลีกเลี่ยงการกินขนมหวานหรือการใช้น้ำตาลในการปรุงอาหารโดยไม่จำเป็น ถ้าอยากกินขนมหวานควรลดข้าวในมื้อนั้นลง และกินผักให้มาก หรืออาจใช้น้ำตาลเทียมแทนก็ได้ ปริมาณอาหารที่กินมีส่วนสำคัญต่อการควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันอย่างมาก ฉะนั้นควรกินแต่พออิ่ม และหมั่นชั่งน้ำหนักตัวเป็นระยะ ระวังไม่ให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ถ้าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นแสดงว่ากินมากเกิน หรือกินไม่ถูกสัดส่วน ควรลดปริมาณอาหารที่กินลงอีก แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีน้ำหนักเกินอยู่แล้ว การที่น้ำหนักค่อยๆ ลดลงและเรารู้สึกสบายดีก็ถือว่าปริมาณอาหารที่กินนั้นเหมาะสม ถ้าไม่แน่ใจว่ากินได้ถูกต้องคนเป็นเบาหวาน อาจปรึกษานักกำหนดอาหารหรือนักโภชนาการ เพื่อเรียนรู้ชนิดและปริมาณอาหารที่เหมาะสม


การกินอาหารเป็นเวลาเป็น เรื่องสำคัญต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ คนเป็นเบาหวานจึงควรกินอาหารวันละ 3 มื้อ (ยกเว้นผู้เป็นเบาหวานที่ ฉีดอินซูลิน อาจต้องกินอาหารว่างตอนบ่าย หรือก่อนนอนด้วย) หลีกเลี่ยงการกินจุบจิบ หรือการงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง


นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 316
นักเขียนหมอชาวบ้าน: ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ

GreenShopCafe.com
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด