โรคหลอดเลือดในสมองอุดตันนั้น พบมากเป็นอันดับ 2 ของโรคที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน รองจากโรคหัวใจ โรคชนิดนี้มักเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย หรือคนอายุน้อย เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ภาวะเผชิญกับความเครียด และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ มักพบร่วมอาการกับโรคอื่นๆ ด้วย อาทิ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูงมานานแล้ว และไม่ได้รับการรักษาหรือคนที่มีเส้นเลือดผิดปกติ หรือโป่งพองผิดปกติ ทำให้หลอดเลือดในสมองทำงานบกพร่อง จนตีบหรือแตก แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกทุกคนจะรู้ว่าตนเองมีประวัติเหล่านี้ หรือความเสี่ยงเหล่านี้มาก่อน เว้นแต่จะมีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
อาการ
อาการมักเกิดขึ้นเฉียบพลัน ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการตนเองอย่างใกล้ชิด ส่วนหนึ่งที่ทำให้โรคนี้น่ากลัว คือ อาการนำซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถล่วงรู้ได้ก่อนว่าจะเกิดขึ้นเวลาใด อันเป็นภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม โรคหลอดเลือดในสมองอุดตัน จะเกิดจากไขมันหรือลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลายเนื่องจากขาดออกซิเจน ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิต หรือทุพพลภาพได้
สัญญาณเตือนภัย
5 หลักสากล ที่ผู้ป่วยควรใช้สังเกตอาการเบื้องต้นก่อนภัยร้ายมาเยือน คือ
- Walk เดินไม่ตรง มีอาการเซ
- Talk ออกเสียงไม่ชัด พูดไม่ออก
- Reach เอื้อมหยิบสิ่งของไม่ได้ ไม่มีแรง ชาบริเวณ มือ แขน ขา
- See มองภาพไม่ชัด ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน
- Feel มีอาการปวดศีรษะ หรือ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง
การตรวจวินิจฉัย
โดยเน้นการตรวจหาค่า Lab เฉพาะที่บ่งบอกถึงภาวะเสี่ยงดังกล่าว และแม้กระทั่งบางคนอาจไม่เคยปรากฏประวัติเหล่านี้มาก่อนเลยด้วยซ้ำ แต่ภาวะเครียดหรือพฤติกรรมในการดำรงชีวิต ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน ซึ่งนาทีวิกฤตของสมองนั้น ก็แตกต่างกัน เพราะเราไม่อาจทราบได้เลยว่า หลอดเลือดในสมองที่เกิดอาการนั้น ตีบมากแค่ไหน หรือแตกตรงตำแหน่งไหน จนกว่าจะได้รับการตรวจจากเครื่องมือทางการแพทย์ประเภทเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจด้วยเครื่อง MRI ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
การรักษา
ระยะที่ 1 มีอาการเส้นเลือดตีบและอุดตัน จนผู้ป่วยมีอาการนำ เช่น ชาตามร่างกาย หมดสติ ซึ่งภายใน 2-3 ชั่วโมงแรก ญาติควรพาคนไข้มาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ในกรณีนี้หากไม่เกิน 3 ชั่วโมง แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดในสมอง ซึ่งผลการรักษาจะดีกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา
ระยะที่ 2 เส้นเลือดในสมองแตก พบเลือดออกในสมอง ต้องรักษา ต้องผ่าตัดช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมการผ่าตัดที่เรียกว่า Key Hole Surgery หรือการเจาะรูเล็กๆ คล้ายรูกุญแจที่ศีรษะ เพื่อดูดเลือดออกจากสมอง นวัตกรรมนี้มีข้อดีอย่างมาก เพราะมีแผลผ่าตัดที่เล็กมาก และใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นไม่นาน แต่คนไข้กลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะทุพพลภาพ หรืออาจฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มแรก
ข้อแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย คือ หากมีอาการนำควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดภายใน 3 ชั่วโมง โดยเลือกโรงพยาบาลที่มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีความชำนาญและคอยดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ( Fast Stroke Tract) ตลอดจนการทำเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรคหลอดเลือดในสมองอุดตัน ป้องกันและรักษาได้หากเข้าใจ และสังเกตตนเองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะโรคภัยใกล้ตัวที่เกิดขึ้นปุ๊บปั๊บอย่าง “ภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ” ซึ่งยากที่จะคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ดังนั้นคำตอบเดียวที่เหมาะสมในการบรรเทาเบาบางวิกฤตอาการเหล่านี้ คือ ต้องถึงมือแพทย์ให้เร็วที่สุด
ดูแลป้องกันโรค
การดูแลตัวเอง ป้องกันจากโรค ควรที่เริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจเช็คปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิต ไขมันในเลือด ค่าตับ ตรวจเช็คหัวใจเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่เครียด และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
นพ.พร้อมพงษ์ พีระบูล
ศัลยแพทย์ระบบประสาท รพ.วิภาวดี