โรคภูมิแพ้ในเด็ก
โรคภูมิแพ้เป็นกลุ่มของโรคที่มีอาการแสดงได้หลายระบบ เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกาย ต่อสารก่อภูมิแพ้ ปัจจุบันความชุกของโรคกลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
โรคที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มโรคภูมิแพ้ ได้แก่
- โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ คันในจมูก จามติดกันหลาย ๆ ครั้ง น้ำมูกใส ๆ ไหลมาก คัดแน่นจมูก อาการอื่น ๆ เช่น หูอื้อ ปวดมึนศีรษะ น้ำมูกไหลลงคอ เสมหะติดในคอ
- โรคหืด ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หอบ แน่นหน้าอก หายใจเสียงวี้ด อาจเป็นตอนออกกำลังกาย ตอนกลางคืน หรือตอนเป็นหวัดก็ได้
- ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นผื่นคัน แห้งแดง และเรื้อรัง พบบ่อยบริเวณหน้า ข้อพับแขนขา * ลมพิษ ผื่นนูน บวม คัน ตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ บางรายอาจมีอาการบวมบริเวณหน้าตาหรือ ปากด้วย
- ผื่นแพ้ผิวหนังจากการสัมผัส เป็นผื่นคันจากการสัมผัสสารแพ้ต่าง ๆ เช่นผงซักฟอก ยาย้อมผม เครื่องสำอาง ถุงมือ โลหะ เป็นต้น
- แพ้อาหาร มีอาการได้หลายระบบ ทั้งระบบผิวหนัง (ผื่นลมพิษ) ระบบหายใจ (คัดจมูก น้ำมูกไหล หอบ) ระบบทางเดินอาหาร (อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย) อาหารที่เป็นสาเหตุได้บ่อย คือ นมวัว ไข่ อาหารทะเล ถั่วลิสง
- เยื่อบุตาอักเสบจากการแพ้ มีอาการแสบตา คันตา ตาแดง น้ำตาไหล ขยี้ตาบ่อย เปลือกตาบวม
ปฏิกิริยาการแพ้แบบรุนแรง
เกิดอาการหลังได้รับสารแพ้ภายในเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง ทำให้มีอาการแน่นหน้าอก ความดันโลหิตต่ำ และอาจเสียชีวิตได้ สาเหตุเป็นได้ทั้งจากแพ้อาหาร แพ้ยา แพ้แมลงต่าง ๆ เป็นต้น
สารก่อภูมิแพ้คืออะไร
คือ สารที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการของโรคภูมิแพ้ ซึ่งอาจเป็นสารที่ร่างกายได้รับโดยการ ฉีด กิน หายใจ หรือสัมผัสก็ได้ มีทั้งสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน (เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนและรังแคของสัตว์เลี้ยง เชื้อรา ควันบุหรี่) และสารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน (เช่น เกสรหญ้า เกสรดอกไม้ ควันและฝุ่นต่าง ๆ)
แนวทางการรักษาโรคภูมิแพ้
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เป็นวิธีที่สำคัญที่สุด และช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
- การรักษาด้วยยา มีทั้งยากิน ยาพ่นจมูก ยาพ่นปอด ยาหยอดตา ยาทาผิวหนัง ซึ่งควรอยู่ภายใต้ คำแนะนำของแพทย์
- การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ โดยการฉีดสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณ จนผู้ป่วย มีภูมิต้านทานต่อสารนั้นซึ่งต้องรับการฉีดอย่างสม่ำเสมอ เป็นเวลา 3-5 ปี จึงจะได้ผลดี
ปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้
- ในห้องนอน ควรมีเครื่องตกแต่งห้องน้อยชิ้นที่สุด หมั่นทำความสะอาด และกำจัดฝุ่นละออง เป็นประจำ
- ในกรณีแพ้ไรฝุ่น ควรทำความสะอาดเครื่องนอน (ที่นอน,หมอน,ผ้าห่ม) โดยซักด้วยน้ำร้อน 60 องศา นาน 15-20 นาที อย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์
- ไม่ใช้พรม เก้าอี้เบาะหุ้มผ้า หมอนนุ่น ตุ๊กตาที่ทำจากนุ่นหรือขนสัตว์
- ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขนในบ้าน เช่น สุนัข แมว นก
- กำจัดเศษอาหาร และขยะต่าง ๆ รวมทั้งปิดฝาท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ แมลงสาบ
- ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศบ่อย ๆ และใช้แบบที่มีเครื่องกรองอากาศชนิด HEPA Filter
- ระวังไม่ให้บ้าน ห้องน้ำ อับชื้น และไม่ควรปลูกต้นไม้ในบ้านเพราะทำให้เชื้อราเติบโต
- อย่าไปใกล้บริเวณที่มีควันบุหรี่ ควันไฟ และบริเวณที่มีฝุ่นมาก
- ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ หากมีอาการหอบเหนื่อยเวลาออกกำลังกาย ควรสูดยา ป้องกัน อาการหอบก่อน
- ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เพราะบางชนิดถ้าใช้ต่อเนื่องนานอาจมี อันตรายได้
พญ.สุกัลยา รัศมีสุนทรางกูล กุมารแพทย์ รพ.วิภาวดี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ แผนกกุมารเวช
โทร.0-2941-2800 , 0-2561-1111 กด 1