ต่อมลูกหมากโต : รักษาอย่างไร
ปกติแล้ว ข้อบ่งชี้ในการรักษาต่อมลูกหมากโตคือ
มีภาวะแทรกซ้อนจากต่อมลูกหมากโตเกิดขึ้นแล้ว
- ปัสสาวะเองไม่ได้เนื่องจากต่อมลูกหมากโต
- ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ไตวาย
ทั้งสี่กรณีนี้เป็นข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องให้การรักษาอย่างแน่นอน และมักจะต้องรักษาโดยการผ่าตัดเป็นหลัก
เพื่อลดอาการ และเพิ่มคุณภาพชีวิต
- ไม่ต้องเบ่งปัสสาวะมาก
- ไม่ต้องลุกมาเข้าห้องน้ำกลางคืนบ่อยๆ
- ลดอาการปัสสาวะราดหรือต้องรีบไปห้องน้ำ
ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากต่อมลูกหมากโตในอนาคต
รักษาอย่างไร ?
โดยทั่วไปจะเลือกแนวทางการรักษาตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้
- อาการน้อย => ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ชีวิต
- อาการปานกลาง => การรักษาด้วยยา
- อาการมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากต่อมลูกหมากโต => การผ่าตัด
แนวทางการรักษาต่อมลูกหมากโตตามความรุนแรงของอาการ
แต่ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆอย่างประกอบกันด้วย โดยเฉพาะความคาดหวังต่อผลการรักษาและสภาพร่างกายของผู้ป่วย บางกรณีอาการไม่มากแต่มีผลรบกวนคุณภาพชีวิตมากก็อาจเลือกรักษาโดยการผ่าตัดได้
การรักษาโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คืออะไร?
เป็นการปรับเปลี่ยนกิจกรรมบางอย่าง เพื่อให้อาการทางระบบปัสสาวะลดน้อยลง
- ลดการดื่มชากาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าเครื่องดื่มจำพวกชากาแฟจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะจึงทำให้ปัสสาวะบ่อย ส่วนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะทำให้ร่างกายสร้างนำ้ปัสสาวะมากขึ้นจึงมีผลให้ปัสสาวะบ่อยเช่นกัน
- ปัสสาวะก่อนเข้านอนทุกคืน เพื่อลดปริมาณน้ำปัสสาวะที่ค้างอยู่ในร่างกาย ทำให้ไม่ต้องตื่นมาปัสสาวะกลางดึก
- กำหนดเวลาปัสสาวะในช่วงกลางวันทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะทำงานได้ตามปกติ
- ระวังท้องผูก เนื่องจากการที่ท้องผูกเป็นเวลาหลายวันมีผลให้ปัสสาวะลำบากมากขึ้นได้
การรักษาด้วยยา
ประกอบด้วยยา 4 ประเภท คือ
1. ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมาก
- ออกฤทธิ์ได้เร็ว มักเลือกใช้เป็นยาตัวแรก
- ผลข้างเคียง : มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตด้วย อาจทำให้หน้ามืด เวียนศีรษะ
- ตัวอย่างยากลุ่มนี้เช่น alfuzosin (Xatral), doxazosin (Cardura, Pencor), Tamsulosin (Harnal)
2. ยาลดขนาดต่อมลูกหมาก
- ยับยั้งการเจริญของต่อมลูกหมาก
- ใช้เวลา 3-6 เดือนจึงเริ่มเห็นผล
- ผลข้างเคียง : อาจทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง การหลั่งน้ำอสุจิผิดปกติ
- ตัวอย่างยากลุ่มนี้เช่น dutasteride (Avodart), finasteride (Proscar, Firide)
3. ยาลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
- ต่อมลูกหมากโต --> กระเพาะปัสสาวะต้องทำงานหนักขึ้น และอาจมีการบีบตัวไวกว่าปกติ
- อาการที่พบคือ ปัสสาวะบ่อย ต้องรีบ เล็ดราด การให้ยาลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะจะลดอาการเหล่านี้ได้
- นิยมใช้เป็นยาเสริมจากยาสองกลุ่มข้างต้นมากกว่า
- ผลข้างเคียงของยา : ปากแห้งคอแห้ง ท้องผูก
- ตัวอย่างยากลุ่มนี้เช่น trospium (Spasmo-lyt), solifenacin (Vesicare), Oxybutinin (Diutropan)
4. ยาสมุนไพร
มีจำหน่ายมากมายทั้งในรูปของยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ แต่ยังไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่แสดงว่ายากลุ่มนี้ได้ผลดีจริง ในปัจจุบันจึงไม่ใช้เป็นยาหลักในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต
การรักษาโดยการผ่าตัด
1. การผ่าตัดต่อมลูกหมากแบบเปิดหน้าท้อง
- ใช้กรณีต่อมลูกหมากใหญ่มาก
- ปัจจุบันไม่นิยมทำแล้ว
- เป็นการผ่าตัดใหญ่ เสียเลือดมาก ต้องนอนโรงพยาบาลราว 7-10 วัน
2. การส่องกล้องคว้านเนื้อต่อมลูกหมาก (TUR-P : transurethral resection of prostate)
- ใช้ลวดไฟฟ้าคว้านเนื้อต่อมลูกหมากออกมา
- เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานในปัจจุบัน
- ภาวะแทรกซ้อน
ระยะแรก : เสียเลือด การติดเชื้อ เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ
ระยะหลัง : ท่อปัสสาวะตีบ การหลั่งนำ้อสุจิผิดปกติ
3. การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยเลเซอร์
- ใช้พลังงานเลเซอร์ทำให้ต่อมลูกหมากระเหิดไป
- ผลการรักษาใกล้เคียงกับการคว้านเนื้อต่อมลูกหมากด้วยลวดไฟฟ้า (TUR-P)
- เสียเลือดน้อยกว่า เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวมาก
- ราคาแพงมาก
4. การใส่ขดลวดถ่างต่อมลูกหมาก (prostatic stent)
- เป็นขดลวดชนิดถาวร ทำจากวัสดุที่มีปฏิกริยากับเนื้อเยื่อร่างกายน้อย ใช้ได้ตลอดชีวิต
- ไม่มีการเสียเลือดระหว่างใส่ขดเลือดเลย ทำได้ง่ายและใช้เวลาน้อย เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวมาก
- มีโอกาสที่ขดลวดจะเลื่อนตำแหน่งได้ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง
- ราคาแพงมาก