ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคอีสุกอีใส (chickenpox)

โรคอีสุกอีใส (chickenpox) Thumb HealthServ.net
โรคอีสุกอีใส (chickenpox) ThumbMobile HealthServ.net

โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ระบาดแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือตามชุมชนที่อยู่อาศัยทั่วไป

 โรคอีสุกอีใส (chickenpox)
 
 
โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ระบาดแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือตามชุมชนที่อยู่อาศัยทั่วไป เป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปีแต่มักจะระบาดในช่วงหน้าหนาว 
 
 
โรคอีสุกอีใสเกิดจากอะไร?
โรคอีสุกอีใสเป็นโรคติดต่อผ่านทางลมหายใจ ไอ จาม การสัมผัสกับผู้ป่วยหรือใช้ของร่วมกัน เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย 
 
 
หลังรับเชื้อนานเท่าไรจึงมีอาการป่วย (ระยะฟักตัว)?
มีระยะฟักตัวประมาณ 10-21 วัน โดยเฉลี่ยอยูที่ 14-16 วันหลังจากสัมผัสผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสในระยะแพร่เชื้อ
 
 
ระยะติดต่อนานเท่าไร?
ผู้ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อโรคได้ตั้งแต่ 48 ชั่วโมงก่อนผื่นขึ้น จนผื่นแห้งเป็นสะเก็ดทั้งหมด 
 
 
อาการโรคอีสุกอีใส เป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยจะมีไข้อาจสูงหรือต่ำประมาณ 1-2 วัน มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ หลังจากไข้จะมีผื่นแดงเม็ดเล็กๆ ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส และมากขึ้นเรื่อยๆ จะขึ้นตรงบริเวณลำตัวก่อน ลามไปที่คอ หน้า ศีรษะ แขนขา และลามไปได้ทั้งตัว หรือแม้แต่เยื่อบุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเยื่อบุในช่องปาก ลำคอ หรือเยื่อบุตา และจะกลายเป็นตุ่มน้ำขุ่น มีขนาดใหญ่และแตกได้ง่าย หรือฝ่อกลายเป็นสะเก็ด เมื่อโรคหายแล้วจะยังคงมีเชื้อบางส่วนหลงเหลืออยู่ และเชื้อชนิดนี้มักจะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท จึงทำให้มีโอกาสเป็นโรคงูสวัดในภายหลังเมื่อยามที่ร่างกายอ่อนแอ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำลง
 
 
การรักษาทำอย่างไร?
  1. การรักษาส่วนใหญ่เป็นรักษาตามอาการ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ ยกเว้นมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
  2. ถ้ามีอาการไข้ให้เช็ดตัว กินยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามกินยาแอสไพรินเพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้
  3. หากมีอาการคันที่ผิวหนังอาจทายาแก้คัน เช่น คารามาย (Calamine lotion) หรือกินยาต้านฮิสตามีน บรรเทาอาการคัน
  4. ผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้นและหลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาตุ่มที่คัน เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ 
  5. ควรแยกผู้ป่วยออกจากบุคคลอื่นจนพ้นระยะติดต่อ รวมทั้งแยกข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ เช่น เสื้อผ้า แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม ฯลฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค 
  6. ผู้ป่วยที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนควรไปพบแพทย์ 
  7. การให้ยาต้านไวรัส แพทย์จะพิจารณาให้ยานี้เฉพาะผู้ป่วยกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง เช่น ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรังทางปอดหรือโรคผิวหนัง ผู้ที่ได้รับยาแอสไพรินหรือสเตียรอยด์อยู่เป็นประจำ ส่วนในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี และมีสุขภาพแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคอีสุกอีใสมีอะไร?
ภาวะแทรกซ้อนมักพบใน ทารกแรกเกิด ผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและรุนแรงคือ ติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง การติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ปอดอักเสบ  สมองอักเสบ เป็นต้น
 
 
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
แม้วัคซีนสามารถป้องกันโรคได้ผลกว่าร้อยละ 94-99 แต่ผู้ที่ฉีดแล้วยังมีโอกาสเป็นโรคได้แต่อาการจะไม่รุนแรง เริ่มฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป และกระตุ้นอีกเข็มเมื่ออายุ 2½-4 ปี โดยในเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี เข็มสองฉีดห่างกันอย่างน้อย  3 เดือน ถ้าอายุเกิน 13 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน 
 
 
เคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้วจะเป็นอีกใหม?
โรคอีสุกอีใสโดยทั่วไปเป็นแล้วมักไม่กลับเป็นซ้ำได้อีก ซึ่งหากติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นตลอดชีวิต โดยพบว่าในคนที่มีภูมิต้านทานปกติสามารถเป็นโรคอีสุกอีใสครั้งที่สองได้ แต่อาการมักไม่รุนแรงและไม่ค่อยเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องกินยากดภูมิหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง สามารถเป็นซ้ำได้บ่อยกว่า


พญ. นฤมล เมธาเธียร 
อาจารย์แพทย์หญิงพิมแพร เพ่งพิศ

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด