ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ [ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์]

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ [ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์] Thumb HealthServ.net
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ [ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์] ThumbMobile HealthServ.net

การกรนเสียงดังอาจเป็นสัญญาณอันตรายบางอย่างที่บ่งบอกว่าการหายใจของคุณนั้นผิดปกติ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นและภาวะนอนกรน Obstructive sleep apnea and Snoring

ความสำคัญ สาเหตุ และวิธีการรักษา

  • คุณกรนเสียงดังหรือไม่?
    การกรนเสียงดังอาจเป็นสัญญาณอันตรายบางอย่างที่บ่งบอกว่าการหายใจของคุณนั้นผิดปกติ เสียงกรนแสดงถึงการหายใจผ่านช่องคอที่แคบ ดังนั้นเสียงกรนจึงเกิดจากการพยายามให้แรงดันอากาศผ่านช่องทางเดินหายใจที่แคบ

    ผู้ใหญ่ประมาณ 10-30% มีอาการนอนกรน โดยในผู้ชายนั้นอาจพบได้มากกว่านั้นเสียอีก โดยอาการกรนโดยเฉพาะกรนเสียงดัง เป็นอาการสำคัญของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea:OSA)
     
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นคืออะไร?
    โดยปกติกล้ามเนื้อของช่องคอจะหย่อนตัวระหว่างนอนหลับทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ การหย่อนตัวของกล้ามเนื้อจะทำให้ช่องคอแคบลงซึ่งจะไม่เกิดปัญหาในคนปกติ แต่ในคนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนั้น ทางเดินหายใจจะแคบกว่าปกติมากทำให้หายใจลำบากและอาจทำให้มีการตกลงของระดับออกซิเจนเมื่อมีการหายใจขัดข้องในขณะหลับสมองจะรับสัญญาณ และกระตุ้นให้พยายามหายใจและบางครั้งจะปลุกสมองให้ตื่นซึ่งเป็นสัญญาณกระตุ้นกล้ามเนื้อช่องคอให้กลับมาทำงานและทางเดินหายใจเปิดอีกครั้งเมื่อแรงต้านในการหายใจลดลงผู้ป่วยจะสามารถกหลับต่อได้เมื่อกลับมาหลับอีกครั้งช่องคอจะเริ่มแคบและต้องใช้ความพยายามในการหายใจเพิ่มขึ้นและถูกกระตุ้นให้ตื่นวงจรนี้จะเกิดขึ้นตลอดทั้งคืนและรบกวนการนอนหลับหลายครั้งในแต่ละคืนการตื่นหลายๆครั้งจะเกิดเป็นช่วงๆซึ่งเราจะจำไม่ได้หลังจากตื่นนอนโรคนี้ยังพบว่าทำให้มีอาการง่วงนอนตอนกลางวันอีกด้วย
     
  • สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
    เนื่องจากกล้ามเนื้อของช่องคอมีการหย่อนตัวในขณะหลับทุกคนแต่ในผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นจะมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยที่ทำให้ช่องคอปิดมากกว่าคนปกติได้แก่คางเล็กลิ้นใหญ่ต่อมทอนซิลโตหรือเนื้อเยื่อบริเวณช่องคอหนาทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนแคบและโดยเฉพาะในคนอ้วนซึ่งเนื้อเยื่อไขมันจะกระจายอยู่รอบๆคอมีผลทำให้ขนาดและรูปร่างช่องทางเดินหายใจส่วนบนแคบลงนอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน

    ถึงแม้ว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นพบไม่บ่อยในผู้หญิงอายุน้อยลักษณะโครงสร้างของช่องคอหรือฮอร์โมนเพศหญิงก็มีแนวโน้มที่จะไม่ทำให้เกิดโรคได้

    แอลกอฮอร์ยานอนหลับและยาต้านโรคซึมเศร้าที่รับประทานก่อนนอนก็ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหย่อนตัวและทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นได้ผู้ป่วยบางรายอาจมีการนอนหลับแย่ลงเมื่อรับประทานยานอนหลับถ้าคุณได้รับยานอนหลับคุณอาจมีอาการของโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้นได้การสูบบุหรี่ก็พบว่าเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นจากการที่ทำให้มีการอักเสบและบวมของเยื่อบุทางเดินหายใจ

    การหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนั้นมีได้หลายแบบ ได้แก่ทางเดินหายใจอุดกั้นชนิดอากาศไม่สามารถผ่านได้เลย (apnea) ชนิดอากาศผ่านได้บางส่วน (hypopnea) และทางเดินหายใจอุดกั้นบางส่วนแต่ร่างกายต้องใช้ความพยายามในการหายใจอย่างมากเพื่อให้หายใจเป็นปกติซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นบ่อยๆระหว่างนอนหลับ (respiratory effort related arousals) ภาวะเหล่านี้ทำให้เกิดผลที่ตามมาเหมือนกันคือรบกวนการนอนหลับผู้ป่วยอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้หลายแบบรวมกันการที่ทางเดินหายใจอุดกั้นทำให้ออกซิเจนในเลือดลดลงเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการอื่นๆตามมา

    ถ้าคุณมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นคุณอาจได้รับอ็อกซิเจนไม่เพียงพอในขณะหลับและนอนหลับไม่เต็มที่คุณอาจมีปัญหากับอาการง่วงนอนที่มีผลต่อการทำงานหรือการเข้าสังคมและอาจนำไปสู่ปัญหาอุบัติเหตุจราจรได้นอกจากนี้อาจทำให้มีโรคอื่นๆตามมาเช่นความดันโลหิตสูงหัวใจล้มเหลวโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองหากคุณนอนกรนดังทุกคืนคุณควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแพทย์เฉพาะทางโรคการนอนหลับจะสามารถวินิจฉัยรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นการรักษาที่เหมาะสมจะสามารถป้องกันและเปลียนแปลงไม่ให้เกิดโรคร้ายแรงตามมาได้
     
 
อาการเตือนของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในผู้ใหญ่
  1. กรนเสียงดังมากสามารถได้ยินไปถึงข้างนอกห้อง
  2. ลักษณะเสียงกรนหยุดเป็นบางช่วงแล้วตามด้วยเสียงหายใจเฮือกแสดงถึงการหยุดหายใจและเริ่มหายใจขึ้นอีกครั้งบางครั้งผู้ป่วยจะจำได้ว่าสะดุ้งตื่นขึ้นมาเพราะหายใจเป็นช่วงสั้นๆหรือหายใจเฮือก
  3. เผลอนอนหลับในเวลาที่ไม่เหมาะสมเช่นขณะทำงานหรือขับรถ
  4. สมาธิสั้นความจำลดลงมีความเครียดหรือซึมเศร้า
  5. ปวดศีรษะช่วงเช้าหรืออาเจียนปัสสาวะบ่อยกลางคืนสมรรถภาพทางเพศลดลงซึ่งผู้ชายจะมาด้วยปัญหานี้ค่อนข้างบ่อยในผู้หญิงอาจจะมีประจำเดือนมาไม่ปกติ
            อาการเหล่านี้มักค่อยๆเกิดในระยะเวลาหลายปีดังนั้นผู้ป่วยอาจไม่รูสึกว่ามีอาการบางครั้งผู้ป่วยจะคิดว่าอาการต้องเกิดในช่วงที่อายุมากและไม่รุนแรงคนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงานอาจเป็นคนแรกที่สังเกตเห็นอาการง่วงนอนผิดปกติอารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงง่าย
 

เกิดอะไรขึ้นหากเราไม่รักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
 
            อาการสำคัญของผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นคือ อาการง่วงนอนมากผิดปกติ การง่วงนอนมักเกิดขณะนั่งอยู่เฉยๆ หรือขณะที่ไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ ผู้ป่วยอาจจะง่วงหรือไม่สามารถจดจ่อกับการอ่านหนังสือหรือดูทีวีได้ มีความยากลำบากในการขับรถเพราะต้องการข่มไม่ให้หลับผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นจึงมักเกิดอุบัติเหตุจราจรได้บ่อยเนื่องจากเคลิ้มหลับ หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีผลต่อร่างกายและคุณภาพชีวิตตามมาได้
 
ผลบางประการที่ตามมาหากไม่ได้รับการรักษา
มีดังต่อไปนี้
  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจ
  • หัวใจล้มเหลว
  • โรคหลอดเลือดสมอง เช่น เส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน
  • โรคซึมเศร้า
  • โรคเบาหวาน
           การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นสามารถลดหรือป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเหล่านี้ได้ผู้ป่วยบางรายรู้สึกว่าได้ประโยชน์จากการรักษา เช่น การง่วงหลับลดลงและรู้สึกสดชื่นขึ้นอย่างรวดเร็วหลังได้รับการรักษา
 
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยากทราบอะไรบ้างเกี่ยวกับคุณ
 
            แพทย์ต้องการทราบประวัติทางการแพทย์ และอาจต้องการพูดคุยกับผู้ใกล้ชิดที่นอนห้องเดียวกับคุณ(สามี ภรรยา สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อน) เกี่ยวกับการนอน และอาการในช่วงกลางวัน หากแพทย์สงสัยว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นก็จะแนะนำให้คุณไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับเพื่อประเมินต่อไป แพทย์เฉพาะทางจะถามรายละเอียดการนอนหลับ และอาการช่วงกลางวันของคุณ และอาจให้คุณตรวจการนอนหลับ ซึ่งเป็นการตรวจในช่วงที่คุณนอนหลับตอนกลางคืน และตรวจในห้องปฏิบัติการการนอนหลับ เพื่อจะติดตามการนอนหลับของคุณ การตรวจการนอนหลับนี้จะบอกได้ว่าคุณมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นหรือไม่ และช่วยในการเลือกการรักษาที่ดีที่สุด
 
            ในคืนที่มาตรวจการนอนหลับ คุณควรจะมาก่อนเวลานอนหลับปกติของคุณอย่างน้อย 2ชั่วโมงเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับจะติดอุปกรณ์ตรวจตามตำแหน่งต่างๆบนร่างกายของคุณเพื่อบันทึกคลื่นสมอง การทำงานของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวของแขนขา จังหวะการเต้นของหัวใจ และการทำงานอื่นๆของร่างกายในขณะหลับ แต่ละศูนย์ตรวจการนอนหลับจะมีระบบในการตรวจ และเครื่องมือหลายแบบที่ใช้ตรวจลักษณะต่างๆของการหายใจ วางบริเวณรูจมูกหรือปากเพื่อวัดอัตราการเข้าออกของอากาศจากปอดของคุณ เครื่องมือนี้จะวัดว่าคุณมีการหายใจลำบากหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีสายคาดรอบทรวงอกและท้องวัดการขยับของทรวงอกและท้องเพื่อดูว่ามีการใช้ความพยายามในการหายใจหรือไม่ และมีอุปกรณ์ติดอยู่บริเวณใบหู หรือที่ปลายนิ้ว เพื่อวัดระดับออกซิเจน
 
            การนอนหลับอาจตรวจตอนกลางวัน โดยให้งีบหลับเป็นช่วงๆทุก 2 ชั่วโมง การตรวจนี้เรียกว่า multiple sleep latency test (MSLT) เพื่อดูว่าในช่วงกลางวันมีความง่วงนอนมากกว่าปกติหรือไม่ การตรวจนี้ใช้เพื่อหาสาเหตุอื่นที่ทำให้มีอาการง่วงนอนตอนกลางวันมากกว่าปกติ เช่น โรคทางสมองที่เรียกว่า โรคลมหลับ (Narcolepsy)
 
            การใช้ภาพถ่ายทางรังสีวิทยาและการตรวจร่างกายของระบบทางเดินหายใจส่วนบนใช้ในบางครั้งเพื่อให้เห็นทางเดินหายใจบริเวณช่องคอได้ดีขึ้น
 
การรักษาอะไรที่ฉันจะได้รับ
 
            หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นคุณจะได้ประโยชน์ทั้งจากการรักษาทั่วไปและการรักษาเฉพาะโรค
 

การรักษาทั่วไป
  • การลดน้ำหนักอย่างน้อย 10% ของน้ำหนักร่างกาย อาจช่วยในการรักษาถ้าคุณมีน้ำหนักเกิน โดยอาจช่วยให้การหายใจขณะหลับดีขึ้น หลับสบายขึ้น และอาการง่วงกลางวันลดลง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอร์ ภายใน 4 ชั่วโมงก่อนนอน แอลกอฮอลจะกดการหายใจ และทำให้หยุดหายใจขณะหลับบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น แอลกอฮอรลอาจทำให้เกิดการหยุดหายใจขณะหลับได้ในคนที่นอนกรนธรรมดา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ ยานอนหลับจะกดการหายใจกล้ามเนื้อรอบช่องคอหย่อนคล้อย และทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นแย่ลง ยกเว้นในผู้ป่วยที่ตื่นบ่อยโดยที่ไม่ได้เกิดจากการหยุดหายใจขณะหลับ ควรจะขอคำแนะนำจากแพทย์หากคุณใช้ยานอนหลับและมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
  • ใช้ยาทุกชนิดอย่างระมัดระวัง ยาที่รักษาอาการปวดศีรษะ ยาคลายเครียด และยาบางชนิดอาจมีผลต่อการนอนหลับและการหายใจ
  • นอนตะแคงบางคนอาจมีอาการหยุดหายใจขณะหลับเวลานอนหงาย การหนุนหมอนข้างเอาไว้ด้านหลัง หรือใช้ลูกเทนนิสเย็บไว้ดานหลังของชุดนอนจะช่วยป้องกันไม่ให้นอนหงายได้    
 
การรักษาเฉพาะ Positive airway pressure (PAP) เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก
 
เป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด มีหน้ากากสวมทับบริเวณจมูกในขณะหลับ เครื่องอัดอากาศขนาดเล็กจะเชื่อมต่อกับหน้ากากด้วยท่ออากาศ ดังนั้นอากาศภายใต้แรงดันที่กำหนดจะเข้าไปในช่องคอโดยผ่านทางจมูก แรงดันอากาศจะค่อยๆเปิดทางเดินหายใจบริเวณช่องคอ เพื่อให้การนอนและการหายใจเป็นปกติ ประมาณ 60-70%ของผู้ป่วยที่พยายามใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกสามารถใช้อย่างต่อเนื่องได้ในขณะที่บางส่วนพบว่าไม่สะดวกสบายในการใช้หน้ากากหน้ากากมีหลากหลายขนาดและหลายแบบเพราะแต่ละคนมีใบหน้าแตกต่างกัน
 
เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกมีหลายชนิด ที่นิยมใช้และแนะนำมากที่สุด ได้แก่ เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่องแบบตั้งค่าคงที่ (fixed pressure CPAP) โดยตั้งค่าที่ความดันที่เหมาะสม เครื่องชนิดอื่นๆ ได้แก่ เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่องแบบปรับอัตโนมัติ (Auto CPAP)ซึ่งเครื่องจะปรับแรงดันอัตโนมัติ เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดสองระดับ (Bilevel PAP) โดยเครื่องจะตั้งระดับแรงดันที่ต่างกันในช่วงหายใจเข้าและหายใจออก
 
 
อาการที่พบได้บ่อยจากการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก
  • คัดแน่นจมูก
  • ปากแห้ง หรือ จมูกแห้ง
  • ลมรั่วออกทางหน้ากาก
  • เสียงรบกวนจากเครื่อง
  • เจ็บตา ตาแห้ง หรือตาแดง
  • ระคายผิวหนังจากหน้ากาก หรือสายรัดคาง
  • อึดอัด หรือจุกแน่นจากแรงดันอากาศที่มากเกินไป
  • Oral appliance หรือทันตอุปกรณ์ที่เลื่อนคางมาด้านหน้า
 
            ทันตอุปกรณ์ที่เลื่อนคางมาด้านหน้าเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการรักษาในผู้ป่วยบางราย อุปกรณ์นี้จะช่วยเปิดทางเดินหายใจโดยการเลื่อนคางและลิ้นมาข้างหน้า หรือ ยกเพดานอ่อนขึ้น ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคระดับเล็กน้อยและปานกลางอาจจะรักษาได้ผลจากการใช้อุปกรณ์นี้ ในขณะที่โรคระดับรุนแรงมากการรักษามักจะไม่ได้ผลจากการใช้อุปกรณ์ชนิดนี้เพียงอย่างเดียว อุปกรณ์นี้อาจทำให้มีน้ำลายมาก เจ็บบริเวณคางหรือขากรรไกรหรือมีปัญหาเกี่ยวกับฟันได้ทันตอุปกรณ์นี้ควรทำโดยทันตแพทย์ที่มีความชำนาญ
 
การรักษาโดยการผ่าตัด
 
            ปัญหาทางกายภาพที่ขัดขวางทางเดินหายใจในขณะหลับบางครั้งสามารถแก้ไขได้โดยวิธีการผ่าตัด ปัญหาเหล่านี้ได้แก่ต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดินอยด์มีขนาดใหญ่ (พบบ่อยในเด็ก) ริดสีดวงจมูก หรือเยื่อบุในจมูกบวมโต ผนังกั้นจมูกคด โครงสร้างของใบหน้า คาง หรือเพดานอ่อน
 
            การผ่าตัดจมูกจะลดอาการคัดแน่นจมูกและช่วยเรื่องนอนกรนได้ แต่มักจะไม่เพียงพอสำหรับการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดจมูกเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคนี้ด้วยวิธีการผ่าตัด
 
            การผ่าตัดตกแต่งลิ้นไก่เพดานอ่อนและช่องคอ (Uvulopalatopharyngoplasty or UPPP)ได้แก่ การเอาเนื้อเยื่อปริมาณมากบริเวณช่องคอออก ที่อาจเป็นสาเหตุให้ทางเดินหายใจอุดกั้น  มีการศึกษาพบว่าโดยทั่วไปUPPP ได้ผลประมาณ 40% ของผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นผู้ป่วยบางรายพบว่ามีผลข้างเคียงจากการรักษาโดยการผ่าตัดนี้ เช่น เสียงเปลี่ยน และมีน้ำขึ้นจมูกเวลากลืน การใช้คลื่นวิทยุไฟฟ้าซึ่งอาจพิจารณาในผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับเล็กน้อยถึงปานกลางที่ปฎิเสธการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือการใส่ทันตอุปกรณ์ อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดวิธีนี้         การผ่าตัดด้วยวิธีอื่นมีการพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยในการรักษา วัตถุประสงค์ส่วนใหญ่เพื่อเพิ่มขนาดของช่องคอบริเวณโคนลิ้น การผ่าตัดนี้รวมถึงการผ่าตัดกระดูกใบหน้าและคางเพื่อเลื่อนคางและใบหน้ามาข้างหน้ามากขึ้น  การเลือกผู้ป่วยให้เหมาะสมกับการผ่าตัดแต่ละวิธีอาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า UPPPอย่างเดียวแต่อาจมีความเสี่ยงได้จากภาวะแทรกซ้อน
 
            ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงมากถึงขึ้นเป็นอันตรายต่อชีวิต บางครั้งอาจต้องรักษาโดยการเจาะคอเพื่อเปิดทางเดินหายใจ (Tracheostomy) เป็นการผ่าตัดเปิดช่องคอด้านหน้าเข้าสู่หลอดลมโดยตรง และใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจผ่านทางรูเปิดนี้ในระหว่างกลางคืน จึงเป็นการหายใจผ่านทางช่องคอโดยตรงท่อช่วยหายใจนี้สามารถปิดได้ หรือมีเสื้อผ้าปกคลุมในระหว่างกลางวัน เพื่อให้พูดและหายใจได้เหมือนปกติ
 
ออกซิเจน (Oxygen)
 
            การให้ออกซิเจนไม่ใช่การรักษาที่ดีสำหรับโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น ออกซิเจนอาจใช้เสริมกับการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก เพื่อใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีระดับออกซิเจนต่ำเช่นผู้ป่วยที่มีโรคปอดหรือหัวใจร่วมด้วย
 
การรักษาด้วยยา(Medication)
 
           ปัจจุบันยังไม่มียาสำหรับป้องกันไม่ให้ช่องคอปิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
 


การนอนหลับที่ดีทำอย่างไร
แนวทางปฏิบัตินี้สามารถช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังใช้ปฏิบัติได้สำหรับโรคจากการนอนหลับชนิดอื่นๆ
  1. รักษาเวลาตื่นนอนให้สม่ำเสมอทั้งในวันที่ทำงานและวันหยุด
  2. ถ้าคุณเข้านอนแต่นอนไม่หลับ และไม่สามารถหลับได้ภายใน 20 นาที ให้คุณออกจากห้องนอนและทำกิจกรรมเบาๆ  ห้ามไม่ให้นอนหลับนอกห้องนอน และกลับเข้าเตียงนอนเมื่อคุณรู้สึกง่วงเท่านั้น ทำซ้ำขั้นตอนนี้ได้บ่อยเท่าที่จำเป็นตลอดทั้งคืน
  3. ใช้ห้องนอนสำหรับการนอนหลับ มีเพศสัมพันธ์ และยามที่คุณป่วยเท่านั้น
  4. ถ้าคุณมีปัญหาการนอนหลบในตอนกลางคืน คุณไม่ควรงีบหลับช่วงกลางวัน ถ้าคุณงีบหลับพยายามงีบในช่วงเวลาเดียวกันของทุกๆวันและไม่ควรงีบเกิน 1 ชั่วโมง ในช่วงบ่าย (ไม่เกิน 15.00 น.) เป็นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับคนส่วนมาก
  5. ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายก่อนนอน เช่น อาบน้ำอุ่น รับประทานอาหารว่างเบาๆ หรือ อ่านหนังสือประมาณ 10 นาที
  6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงกีฬาหนักๆ อย่างน้อย 6  ชั่วโมงก่อนนอน และควรออกกำลังกายเบาๆอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน
  7. รักษาตารางเวลาให้สม่ำเสมอ เช่น รับประทานอาหาร ยา ทำงานและกิจกรรมต่างๆให้ตรงเวลา จะช่วยรักษานาฬิกาชีวภาพภายในร่างกายเราให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งทำให้คุณหลับได้ง่ายและหลับอย่างเต็มที่ได้มากขึ้น
  8. อาหารว่างเบาๆก่อนนอนจะช่วยทำให้หลับได้สบายขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักๆก่อนนอน   
  9. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาแฟอีน เช่น กาแฟ ชา ป๊อปโซดาที่มีคาแฟอีน โกโก้ ช็อคโกแล็ต ภายใน 6 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
  10. ห้ามดื่มแอลกอฮอร์เมื่อคุณกำลังง่วงนอน เพราะปริมาณแอลกอฮอรลเพียงเล็กน้อยมีผลกระทบต่อกิจกรรม เช่น การขับรถ ห้ามดื่มแอลกอฮอรลน่วมกับการรับประทานยานอนหลับ หรือยาอื่นๆ (ปรึกษาแพทย์ก่อน) ห้ามใช้แอลกอฮอรลเพื่อช่วยให้คุณหลับในตอนกลางคืน เพราะแอลกอฮอรลอาจช่วยให้คุณหลับได้เร็ว แต่มีผลกระทบร้ายแรงต่อคุณภาพการนอนหลับตลอดทั้งคืน
  11. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ก่อนเวลาเข้านอน หรือในตอนกลางคืน
  12. ยานอนหลับควรใช้อย่างระมัดระวัง อย่าลืมบอกแพทย์ของคุณหากมีอาการเกี่ยวกับการหายใจขณะหลับ เช่น นอนกรน หยุดหายใจขณะหลับเป็นช่วงๆ หรือ ตื่นขึ้นมาเนื่องจากหายใจไม่สะดวก หลังตื่นนอนมีอาการปวดศีรษะหรือคลื่นไส้ 

บทความโดยคณะแพทย์ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
(ดัดแปลงจากบทความของสมาคมแพทย์โรคจากการหลับแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา)

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด