หลายท่านอาจจะเกิดความสงสัยว่า วัคซีนอีสุกอีใส และวัคซีนงูสวัด แตกต่างกันอย่างไร ใช้แทนกันได้หรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบ
โรคอีสุกอีใส และโรคงูสวัด นั้นเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันคือ ไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (varicella zoster) ติดต่อได้ด้วยการสัมผัสโดยตรง โดยผู้ที่ได้รับเชื้อครั้งแรกจะเกิดโรคอีสุกอีใส หลังจากโรคหาย เชื้อนี้ยังไม่หมดไปจากร่างกายแต่จะไปหลบอยู่ที่บริเวณปมประสาท จนเมื่อผู้ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง เช่น เจ็บป่วย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือพักผ่อนไม่พียงพอ เชื้อที่แฝงตัวนี้ก็จะถูกกระตุ้นให้แบ่งตัวเพิ่มจำนวนกระจายในปมประสาท ทำให้เส้นประสาทอักเสบและก่อโรคบริเวณผิวหนังที่ปลายประสาทอีกครั้งเกิดเป็นโรคงูสวัด
อาการของโรคอีสุกอีใส คือ เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามลำตัว เบื่ออาหาร มีผื่นแดงหลังจากนั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นทั่วร่างกาย ส่วนอาการของโรคงูสวัดคือ อาจมีไข้หรือไม่ก็ได้ ปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง เกิดตุ่มน้ำใสลักษณะเป็นกลุ่มและเรียงเป็นเส้นยาวไปตามแนวของเส้นประสาท เช่น บริเวณอกและเอวข้างใดข้างหนึ่ง ผู้ติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ บางรายอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนอื่นได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย และเกิดอาการสมองอักเสบ โดยเฉพาะเด็กและผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์อยู่ 2 ประเภท คือ วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส และ วัคซีนป้องกันงูสวัด ถึงแม้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้จะป้องกันการติดเชื้อเดียวกัน แต่ไม่สามารถนำมาใช้แทนกันได้
วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส (Varicella vaccine) แนะนำให้ฉีดในผู้ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสและไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 12-18 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 4-6 ปี หรือห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย
3 เดือน กรณีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป ให้ฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์
วัคซีนป้องกันงูสวัด แนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีทั้งที่มีประวัติเคยเป็นอีสุกอีใสและ
ไม่เคยเป็นอีสุกอีใส
ผู้ที่ “ควรงด” รับวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ได้แก่
- ผู้ที่เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงจากการฉีดวัคซีนป้องกันในครั้งก่อน
- ผู้ที่แพ้สารเจลาติน หรือแพ้ยาปฏิชีวนะนีโอมัยซิน (Neomycin)
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV )ที่มีค่าCD4ต่ำมาก ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ได้รับรังสีรักษา
อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส และวัคซีนป้องกันงูสวัด
ข้อมูลอ้างอิง :
วัคซีนงูสวัด | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)
วัยผู้ใหญ่ไม่อยากเป็นโรคอีสุกอีใส...ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน (phyathai.com)
วงการแพทย์-วงการยา ข้อมูลสุขภาพ วิธีการดูแลตัวเอง โรคร้าย (wongkarnpat.com)
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา : วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (oryor.com)