ศ.คลินิก (พิเศษ) พญ.สุจิตรา นิมมานนิตย์ ที่ปรึกษาด้านการเฝ้าระวังโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค และที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกในการรักษาโรคไข้เลือดออก กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกถือเป็นปัญหาโรคติดเชื้อที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยเริ่มพบหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนปัจจุบันกลายเป็นโรคประจำถิ่นของไทย โดยเชื้อไข้เลือดออก หรือ เด็งกี่ มีทั้งสิ้น 4 สายพันธุ์ เดิมพบการระบาดเฉพาะในเขตเมือง กทม. แต่ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกอยู่ในชุมชนเกือบทั้งประเทศ และพบได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งของการพบโรคไข้เลือดออกในกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น จากเดิมที่พบโรคไข้เลือดออกได้มากในเด็ก และน่าเป็นห่วงในการเกิดโรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่ คือ ผู้ใหญ่เมื่อเจ็บป่วยมักซื้อยากินเอง ซึ่งยาลดไข้บางประเภทสามารถส่งผลกระทบต่อเกล็ดเลือด และทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้ ผู้ใหญ่ยังมีความเสี่ยงมากกว่าในแง่การมีโรคประจำตัว การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ เป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดเลือดออกได้มากขึ้น
โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะ เมื่อยุงรับเชื้อแล้ว เชื้อจะมีชีวิตในตัวยุงได้ถึง 2 เดือน นำเชื้อไปสู่คนได้อย่างต่อเนื่อง แต่พบว่า ร้อยละ 80-90 ของคนที่ได้รับเชื้อจะไม่แสดงอาการ แต่มีระดับไวรัสต่ำๆ ในเลือด เมื่อถูกยุงกัดก็จะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยภาวการณ์เกิดโรคจะสัมพันธ์กับการได้รับเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะการได้รับเชื้อต่างสายพันธุ์ เนื่องจากร่างกายจะไม่มีภูมิคุ้มกัน ข้อสังเกตโรค คือ จะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หากเป็นไข้สูงเกิน 2 วัน ให้สงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะหากมีไข้ ปวดเมื่อยมาก ปวดท้องรุนแรงฉับพลัน ไม่ปัสสาวะ นอนไม่ได้ ควรรีบพบแพทย์
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยประชาชนชาวไทยและอาเซียนที่ถูกโรคไข้เลือดออกคุกคามอย่างหนัก 3 เดือนนี้ (มิถุนายน – สิงหาคม) ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยและประเทศในอาเซียนเท่านั้น ที่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากขึ้นประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ก็มีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยอาจมีสาเหตุอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ทำให้ยุงพาหะของโรคไข้เลือดออกสามารถแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น ในที่ที่มีอุณหภูมิอุ่นขึ้น องค์การอนามัยโลกจึงได้เตือนประชากรโลก ให้ทราบว่า ขณะนี้ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก เสี่ยงต่อการป่วยจากโรคไข้เลือดออก ก่อนปี 2513 (ค.ศ.1970) มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกเพียง 9 ประเทศ ขณะนี้มีการระบาดมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ในภูมิภาคแอฟริกา อเมริกา เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แปซิฟิกตะวันตก โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตกมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกน่าเป็นห่วงมาก ส่วนประเทศไทยปีนี้สถานการณ์การระบาดของโรคเป็น 3 เท่าของปีที่ผ่านมา
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกว่า “สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงนี้น่าห่วงมากเนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคนี้ แม้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายมาตั้งแต่ต้นปีก็ตาม ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 4,000 ราย เฉลี่ยวันละ 570 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ก่อนถึง 2 เท่า จำนวนผู้ป่วยสะสมตั้งแต่มกราคม – 4 มิถุนายน รวม 39,029 ราย ร้อยละ 50 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิต 44 ราย พบทุกวัยตั้งแต่เด็กทารกจนถึงผู้สูงอายุ ใน 26 จังหวัด มากที่สุดที่จังหวัดสงขลา 7 ราย รองลงมาคือ นครศรีธรรมราช สุรินทร์ เลย จังหวัดละ 3 ราย สาเหตุที่พบผู้ป่วยมากเนื่องจากมีจำนวนยุงลายเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก ยุงชนิดนี้ชอบอยู่ในบ้านและรอบๆบ้าน ชอบกัดดูดเลือดคนในเวลากลางวัน และอาจกัดตอนกลางคืนได้เช่นกันถ้ายังไม่ได้กินเลือดในตอนกลางวัน ดังนั้นความเสี่ยงถูกยุงกัดจึงมีมากขึ้น รวมทั้งยุงลายแพร่พันธุ์แบบทวีคูณ ออกไข่ครั้งละ 100-200 ฟอง ดังนั้นการที่จะทำให้จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลงอย่างเห็นผล คือต้องระดมความร่วมมือช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย สามารถกำจัดได้ง่ายช่วงที่ยังเป็นลูกน้ำ การเทน้ำทิ้งลงพื้นดินและขัดล้างภาชนะจะช่วยลดยุงลายเป็นเท่าตัว ส่วนปัญหาที่พบมากในกลุ่มผู้เสียชีวิต คือ ผู้ป่วยมักซื้อยากินเอง บางรายซื้อยาลดไข้ชนิดที่มีฤทธิ์เสริมให้เกิดเลือดออกในอวัยวะภายใน เช่น ไอโบรบูเฟน แอสไพริน รวมทั้งยาสเตียรอยด์ บางรายไปพบแพทย์ช้า”
เพื่อช่วยกันลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้เลือดออกนั้น การสังเกตอาการจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะหน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก และจะมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วัน หากหลังไข้ลงแล้วผู้ป่วยสดชื่นขึ้นแสดงว่าฟื้นไข้ แต่หากไข้ลงแล้วแม้จะพูดได้ เดินได้ แต่มีอาการซึม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถือเป็นสัญญาณของอาการช็อค ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องหมดสติหรือชักตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ หากไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์โอกาสเสียชีวิตจะสูง ขอให้รีบพาไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
ด้านเภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค บอกว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการแพร่กระจายของโรคอีกอย่างหนึ่งคือ การเคลื่อนย้ายของประชากร เพื่อการประกอบอาชีพ การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว หากมีการติดเชื้อจากผู้ป่วยอาจจะขยายไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ผู้ที่เดินทางไปในต่างถิ่นซึ่งอาจมีสถานการณ์การเกิดโรคอยู่โดยที่ไม่ทราบให้ระมัดระวังและป้องกันตัวเองจากการถูกยุงลายกัด