ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (ยากันเลือดแข็ง)

ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (ยากันเลือดแข็ง)

ยาต้านการแข็งตัวของเลือด(ยากันเลือดแข็ง)

ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทาน คือยา Warfarin เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัวได้ง่าย ซึ่งในโรงพยาบาลวิภาวดี มีใช้ 4 ขนาด คือ
  1. Warfarin 2 mg ชื่อการค้าคือ Befarin
  2. Warfarin 3 mg ชื่อการค้าคือ Orfarin
  3. Warfarin 4 mg ชื่อการค้าคือ Befarin
  4. Warfarin 5 mg ชื่อการค้าคือ Orfarin
 
โดยจุดประสงค์ในการใช้ยาเพื่อป้องกันการเกิดลิ้มเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดการอุดตันเส้นเลือดตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่นที่สมอง ปอด เส้นเลือดที่แขน/ขา
 
ยานี้ใช้เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของภาวะสมองขาดเลือด ที่มีสาเหตุมาจาก
  • หลังการผ้าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ(AF)
 
นอกจากนี้ยังใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรูมาติค (RHD) ภาวะลิ้มเลือดอุดตันเส้นเลือดในปอด เส้นเลือดแดงบริเวณแขน ขา หรือเส้นเลือดดำใหญ่อุดตันจากลิ่มเลือด และภาวการณ์แข็งตัวของเลือดผิดปกติ
 
ซึ่งในผู้ป่วยบางรายต้องรับประทานยาตลอดชีวิต เช่น ผู้ป่วยที่ผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม
 
ข้อควรปฏิบัติเมื่อท่านรับประทาน Warfarin
  1. มาพบแพทย์ตามนัด ขนาดยาจำเป็นต้องได้รับการปรับตามค่า INR ของท่าน เนื่องจากขนาดยาที่น้อยเกินไปจะไม่ได้ผลในการรักษา ขนาดยาที่มากเกินไป จะทำให้เลือดออกง่ายซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  2. ท่านต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะมีอาการเลือดออกผิดปกติ ให้หยุดรับประทานยาและมาพบแพทย์ทันที
  3. หากท่านไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์ด้วยปัญหาอื่น ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าท่านกำลังรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด ถอนฟันหรือต้องรับประทานยาอย่างอื่นเพิ่ม
  4. หากเกิดอุบัติเหตุมีบาดแผล และเลือดไม่หยุดไหล วิธีเบื้องต้นในการห้ามเลือด คือให้ท่านใช้มือกดไว้ให้แน่นตรงบาดแผล เลือดจะหยุดออกหรือออกน้อยลง แล้วรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที และแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบว่าท่านกำลังรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่
  5. ยาและอาหารบางชนิด อาจมีผลต่อระดับยา Warfarin ในกระแสเลือด ซึ่งจะส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาและการรักษาได้
ผลทางห้องปฏิบัติการณ์ที่ใช้ในการติดตามผลการรักษา และปรับขนาดยาคือค่า INR โดยในแต่ละโรคจะมีค่า INR ที่เหมาะสมในการรักษาต่างกัน ซึ่งแพทย์ที่ทำการรักษาจะแจ้งให้ท่านทราบถึงค่า INR ที่เหมาะสมกับโรคของท่าน

ยาที่เพิ่มฤทธิ์ของ Warfarin ได้แก่
  • กลุ่มยาแก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เช่น Diclofenac , Piroxicam , Indomethacin
  • กลุ่มยาฆ่าเชื้อบางตัว เช่น Co-trimoxazole (Sulfa)
 
ยาที่ลดฤทธิ์ของ Warfarin ได้แก่
  • ยากันชัก เช่น Carbamazepine , Griseofulvin
  • ยาฆ่าเชื้อบางตัว เช่น Rifampicine , Griseofulvin
 
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีผลต่อ Warfarin
เช่น โสม ขิง แปะก๊วย กระเทียม น้ำมันปลา หรือวิตามินอี นอกจากนี้ ยาสมุนไพร ยาหม้อหรือยาแผนโบราณอื่นๆ ก็อาจมีผลต่อระดับยาได้
 
อาหารบางชนิดสามารถเกิดปฏิกิริยากับยา Warfarin ได้
 
  • โดยเฉพาะผักใบเขียว ที่มีวิตามินเคสูง เช่น กะหล่ำปลี บรอคโคลี่ แตงกว่าพร้อมเปลือก น้ำมันมะกอก ผักโขม ถั่วเหลือง ใบชา จึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงปริมาณการรับประทานอาหารเหล่านี้ในแต่ละวัน แต่หากต้องการรับประทาน ควรรับประทานเป็นประจำในปริมาณเท่าๆกัน อย่างสม่ำเสมอ
  • พฤติกรรมบางอย่างอาจส่งผลที่ทำให้ระดับยาในเลือดเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในหญิงมีครรภ์ โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนแรก หากท่านตั้งครรภ์หรือต้องการมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์
  • ยานี้สามารถขับผ่านทางน้ำนมได้ ดังนั้นหญิงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้
ทำอย่างไรหากลืมรับประทานยา
  • ห้ามเพิ่มขนาดยา ที่รับประทานเป็นสองเท่าโดยเด็ดขาด กรณีลืมรับประทานยา และยังไม่ถึง 12 ชั่วโมงให้รีบรับประทานยาทันทีที่นึกได้ ในขนาดเดิม
  • กรณีที่ลืมรับประทานยา และเลย 12 ชั่วโมงไปแล้ว ให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลย แล้วรับประทานยามื้อต่อไปในขนาดเดิม
การเก็บรักษายา
  • เก็บยาให้พ้นแสงและความชื้น
  • เก็บยาในภาชนะที่โรงพยาบาลจัดให้
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก       
หมายเหตุ
ลักษณะเม็ดยา Warfarin จะมีสีไม่สม่ำเสมอซึ่งเป็นลักษณะปกติ ท่านสามารถรับประทานต่อได้ และกรุรานำยาที่เหลือมาให้เภสัชกรตรวจสอบทุกครั้ง
 
อาการที่ผู้ป่วยควรสังเกตเมื่อใช้ยา Warfarin
  • มึนงง ชา
  • ลิ้นแข็ง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
หากท่านมีอาการดังกล่าวให้คงขนาดยาที่รับประทานเดิมไว้และรีบมาพบแพทย์ทันที
  • เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง
  • ประจำเดือนมามากผิดปกติ
  • มีเลือดออกทางตา
  • ไอเป็นเลือด
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • มีเลือดออกทางปัสสาวะ
  • ถ่ายอุจจารระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ
  • มีเลือดออกทางเนื้อเยื่อ เช่น บาดแผลเลือดออกมาก
หากท่านมีอาการดังกล่าวให้หยุดยา และมาพบแพทย์ทันทีเพื่อเจาะเลือดดูว่าขนาดยาที่ท่านได้รับมากเกินไปหรือไม่

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด