กระและฝ้า ปัญหาที่เป็นไปได้ทั้งคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายปัญหาที่กวนใจคุณ
กระ มี 3 แบบ
- กระเนื้อ (Seborrteic keratosis)
เป็นตุ่มเนื้อที่นูนสีน้ำตาลแปะอยู่ที่ผิว มีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ผิวจะขรุขระ เกิดขึ้นได้ในคนที่อายุมาก เกิดมากน้อยตามกรรมพันธุ์ เป็นชนิดที่อยู่ตื้นในชั้นหนังกำพร้า การรักษาง่ายด้วยการจี้คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (Co2 Laser) หลังจี้จะเป็นรอยถลอกอยู่ 4-7 วัน ขึ้นกับความลึก หลังสะเก็ดหลุด ในคนผิวคล้ำหรือโดนแสงแดดอาจมีรอยเรื่อๆหรือรอยคล้ำระยะหนึ่ง
มีวิธีการรักษาอื่นๆ เช่น การจี้ด้วยไฟฟ้า ใช้ไนโตรเจนเหลว การจี้ด้วยกรด แต่พบว่าความสวยงามของแผลหลังการรักษาไม่เท่าการรักษาด้วยเลเซอร์
หลังการรักษาในบางรายกระเนื้อสามารถเกิดซ้ำได้ เมื่อเวลาผ่านไปเป็นปีๆ
- กระตื้น
Freckles เป็นจุดสีน้ำตาลเล็กๆ ขอบชัดเจน เริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่น มักพบบ่อยในคนผิวขาว จะเข้มขึ้นในช่วงที่โดนแสงแดด เช่นฤดูร้อน การรักษาจะใช้เลเซอร์ เช่น Q-switvhed Nd: YAG หลังการรักษาอาจจะมีรอยขาวอยู่ระยะหนึ่ง และมักจะไม่เป็นซ้ำ แต่อาจเป็นใหม่บริเวณใกล้เคียง ถ้าโดนแดดมากเกินไป และบางรอยโรคสามารถจางได้เอง
Solar lentigo เกิดจากการกระตุ้นด้วยแสงแดด(UV) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่บอกอายุอย่างหนึ่ง พบมากบริเวณที่โดนแสง เช่น โหนกแก้ม หลังมือ แขน
การรักษากระตื้น คือ ใช้เลเซอร์หรือแสงความเข้มสูง(IPL) ที่จำเพาะต่อเม็ดสีเมลานิน เกิดเป็นสะเก็ดแล้วหลุดลอกออก ถ้าเป็นรอยโรคที่ลึกอาจต้องทำซ้ำ และภายหลังรักษาต้องหลีกเลี่บงแดดจัด และทาครีมกันแดดเพื่อไม่ให้เกิดรอยดำภายหลัง
- กระลึก
Hori : โฮริ ลักษณะเป็นจุดหรือปื้นสีน้ำตาลปนเทาบริเวณโหนกแก้ม เกิดจากกรรมพันธุ์ พบได้ในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป มักเป็นทั้ง 2ข้าง สีเพิ่มขึ้นตามอายุ การรักษาจะไม่ได้ผลด้วยยาลดสีผิวหรือการลอกผิวด้วยกรด หรือเลเซอร์ชนิด Ablation
Nevus of Ota โดยมากจะเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือเริ่มเป็นในวัยรุ่น เป็นปื้นหรือเป็นจุดๆ รวมเป็นปื้นสีน้ำตาลปนเทาบริเวณโหนกแก้มขมับ และหน้าผากข้างใดข้างหนึ่ง บางครั้งอาจพบสีเทาบริเวณตาขาวด้านนั้นด้วย
กระลึกรักษายาก ต้องใช้เวลารักษานาน โดยการยิงแสงเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่นเหมาะสม เพื่อลดอันตรายจากความร้อนต่อผิวหนังด้านบน และพลังงานสูงพอที่จะทำลายเซลล์สี โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อข้างเคียง โดยระยะเวลาการรักษาจะห่างกันทุก 6-8 สัปดาห์ ส่วนใหญ่จำนวนมากกว่า 5 ครั้ง และมีโอกาสเกิดซ้ำ อีกภายหลังการรักษา จะมีรอยถลอกและสะเก็ดบางๆ เป็นจุดๆ ควรหลีกเลี่ยงแดดจัด และอาจเกิดรอยขาวหรือรอยคล้ำได้ระยะหนึ่ง
เลเซอร์ที่ใช้รักษา ได้แก่ Q-switvhed Nd: YAG, Q-switvhed Alexandrite,Q-switvhed Ruby
ฝ้า (Melasma)
- เป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลแก่ จนถึงสีเทาขึ้นกับความลึก เป็นทั้งสองด้านของใบหน้าเท่าๆกัน สาเหตุของฝ้ามีหลายปัจจัย สาเหตุสำคัญ คือ การถูกแสงแดดและความร้อน การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน เช่น การตั้งครรภ์ การได้รับฮอร์โมนเพศและกรรมพันธุ์
- การรักษาฝ้าจะใช้ยาทาร่วมกับรับประทาน การทำทรีทเมนท์โดยใช้กระแสไฟฟ้า หรือคลื่นเสียงช่วยให้เกิดการผลักยาเข้าสู่ผิวหนัง เช่น lonto/Phonophoresis, Electroporation
- การใช้เลเซอร์ที่เฉพาะเจาะจงต่อเม็ดสี จะทำให้ฝ้าจางลง แต่ผลการรักษาจะดีในรายที่เป็นฝ้าตื้นๆ ในรายฝ้าลึกผลการรักษายังไม่แน่นอน ส่วนเลเซอร์ในกลุ่มแยกส่วน (Fractional skin Resurfacing Laser) เช่น Fraxel ,fractional Erbium, Fractional Co2 เรื่มมีการนำมาใช้ในการรักษาฝ้าที่รักษายาก
- สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันและรักษา คือ การหลีกเลี่ยงแสงแดดให้มากที่สุด และควรใช้ครีมกันแดดที่มี SPF มากกว่า30 และคุณสมบัติในการป้องกัน UVA PRO มากกว่า 8 ร่วมกับการทายา