9 มกราคม 2566 ที่ห้องประชุมสถาบันวิทยสิริเมธี สถาบันวิทยสิริเมธี วังจันทร์วัลเลย์อําเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันวิทยสิริเมธี ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมเยี่ยมชมลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center : IOC)
ดร.สาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือทุกชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้พัฒนาครอบคลุมทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) จะเป็นพื้นที่สำคัญในการต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม จึงได้หารือกับภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแบบบูรณาการครบวงจร พื้นที่ EEC ขยายบริการลําเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Emergency Medical Services : HEMS)ให้มีความพร้อม ตั้งแต่เกิดเหตุ แจ้งเหตุ ตอบโต้ และประสานงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทรัพยากรทั้งบุคลากร เครื่องมือ ยา เวชภัณฑ์ ยานพาหนะ สถานที่ และวิธีการปฏิบัติ เพื่อช่วยเหลือทุกชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการตายและความพิการ สร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจแก่นักลงทุน และนักท่องเที่ยว
“เราต้องใช้ศักยภาพที่มีและความร่วมมือกับทุกภาคส่วนมาช่วยให้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุและมีภาวะฉุกเฉินได้เข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อลดความสูญเสีย ซึ่งเมื่อทำได้สำเร็จจะทำให้นักท่องเที่ยว และนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทยยิ่งขึ้น” ดร.สาธิต กล่าว
ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยานของไทย เป็นการบริการสาธารณะลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยานภายใต้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินผ่านหมายเลข 1669 เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกลหรือยากต่อการเข้าถึง ส่งเสริมให้ได้รับบริการอย่างเท่าเทียม โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีการปฏิบัติการฉุกเฉิน 1,809,400 ครั้ง จำนวนผู้ป่วย 1,808,799 ราย แบ่งเป็น ทางบก 1,809,028 ครั้ง ทางน้ำ 1,475 ครั้ง และทางอากาศ 104 ครั้ง ส่วนในพื้นที่ EEC มีการปฏิบัติการฉุกเฉิน 78,925 ครั้ง ผู้ป่วยฉุกเฉิน 78,893 ราย ทั้งนี้ มีแผนจะขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะมีการลงพื้นที่สำรวจเพื่อเตรียมการต่อไป