ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

5 มาตรการ BOI ส่งเสริมลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

5 มาตรการ BOI ส่งเสริมลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย Thumb HealthServ.net
5 มาตรการ BOI ส่งเสริมลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ThumbMobile HealthServ.net

รัฐบาลไทยมุ่งมั่นเดินหน้าสู่เป้าหมายผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี 2030 มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินนโยบายในการส่งเสริมการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศไทย สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ การผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น



        คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 5 มาตรการ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการตั้งฐานผลิตในประเทศ รักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก พร้อมส่งต่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่การผลิตยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 


       5 มาตรการของ BOI เพื่อการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้า และ ชิ้นส่วนในไทย ได้แก่

       1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ (ประกาศ BOI ที่ 2/2566 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2566) เพื่อสนับสนุนให้มีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ นำมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสำหรับการผลิตรถยนต์ ทั้งแบบ ICE HEV และ PHEV ซึ่งตามมาตรการนี้ มีค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกายื่นขอรับการส่งเสริมแล้ว 4 โครงการ
 
       2. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ (ประกาศ BOI ที่ 11/2567 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2567) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ฝึกอบรมบุคลากร  นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานและการแข่งขัน ขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น ชิ้นส่วน EV อิเล็กทรอนิกส์ อากาศยาน เครื่องมือแพทย์ เครื่องจักรและอุปกรณ์
 
       3. มาตรการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ (ผ่านบอร์ด BOI เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567) โดยมีเงื่อนไขว่า นิติบุคคลไทยต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตไทย มีโอกาสร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสร้างโอกาสทางธุรกิจ ยกระดับเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 
 
       4. มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์แบบไฮบริด (HEV) (ผ่านบอร์ด EV เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ ICE ไปสู่รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพิ่มโอกาสเป็นฐานการผลิต HEV ระดับโลก โดยมาตรการนี้มีเงื่อนไขสำคัญ 4 ด้าน คือ การลดการปล่อยคาร์บอน การลงทุนเพิ่มเติม การใช้ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ และการติดตั้งระบบความปลอดภัยของรถยนต์
 
       5. มาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ โดยกรมสรรพสามิตได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 และ EV3.5 ต้องมีการใช้แบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ เช่น มอเตอร์ขับเคลื่อน ระบบ BMS DCU อินเวอร์เตอร์ เกียร์ทดรอบ หรือคอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศ ขณะที่กรมศุลกากรและกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ EV ที่ตั้งในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี จะต้องผ่านกระบวนการผลิตที่สำคัญ เช่น การตรวจสอบคุณภาพ และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ โดยต้องใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่ผลิตในไทยและอาเซียนไม่น้อยกว่า 40% ของราคาหน้าโรงงาน
 
 
       นอกจากนี้ BOI กำหนดเงื่อนไขสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จะต้องผลิตหรือจัดหาแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญจากผู้ผลิตในประเทศ และมีแผนพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่มีหุ้นไทยข้างมาก (Local Supplier) เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วน
 
       “นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้ง ICE และ EV ต้องการให้การเปลี่ยนผ่านที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เกิดขึ้นอย่าง Smooth ที่สุด และไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการกลุ่มใดเลย รวมทั้ง ตระหนักดีว่าทุกกลุ่มมีส่วนช่วยในเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ นายกฯ เชื่อว่าการส่งเสริมการช่วยอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนเปลี่ยนผ่าน จะต่อยอดจุดแข็งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีอยู่ ไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น ICE HEV PHEV และ BEV รักษาการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ทุกประเภทเพื่อการส่งออกในระยะยาว สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน” นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด