ทำไมต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
วัคซีน (vaccine) เป็นชีววัตถุที่เตรียมขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ตาย หรือ ชิ้นส่วนของเชื้อจุลินทรีย์หรือการใช้ส่วนที่เป็นพิษที่อ่อนฤทธิ์ลง ซึ่งเมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อจุลินทรีย์ชนิดนั้นๆ และสามารถป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคเมื่อมีการสัมผัสโรค
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วัคซีนให้คุณประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ พบว่าวัคซีนช่วยลดอัตราเสียชีวิตและพิการในเด็กแรกคลอด และเด็กจำนวนมากมายทั่วโลกป็นล้านๆ คนทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและในประเทศกำลังพัฒนา หลังจากมีการใช้วัคซีนฉีดในเด็กอย่างแพร่หลายมานานนับสิบปี สามารถลดการเกิดโรคติดเชื้อหลายชนิดในเด็กได้อย่างชัดเจน เด็กที่ได้วัคซีนเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไปเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พบว่าภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดจากการฉีดวัคซีนตั้งแต่ในวัยเด็ก จะมีระดับสูงไม่เพียงพอในการป้องกันโรค จึงต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเหล่านี้ซ้ำในผู้ใหญ่
นอกจากนี้ บุคคลที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนในวัยเด็กและไม่เคยติดเชื้อเหล่านั้นทางธรรมชาติมาก่อน เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จึงไม่มีภูมิต้านทานเพื่อป้องกันโรค ก็จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเหล่านั้นเช่นกัน
ปัจจุบันเริ่มพบการติดเชื้อที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เช่น คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก หัด อีสุกอีใส ฯลฯ เหล่านี้เกิดขึ้นประปรายในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เป็นเหตุให้ต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นกันใหม่ในช่วงวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ
นอกจากนั้น ในปัจจุบันมีการค้นพบวัคซีนชนิดใหม่ๆ เช่น วัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันปอดบวมจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส วัคซีนป้องกันงูสวัด จึงถูกนำมาใช้ฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุด้วย
นอกจากความจำเป็นของการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคของประชากรทั่วไปตามอายุที่ควรจะได้รับวัคซีนแล้ว การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคในผู้ใหญ่ ยังถูกระบุตามข้อบ่งชี้ในการประกอบอาชีพ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ สัตว์แพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ พนักงานสายการบิน ฯลฯ รวมทั้งสถาบันการศึกษาในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการระบุให้นักศึกษาต้องได้การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคก่อนเข้าศึกษา รวมทั้งการฉีดเพื่อป้องกันโรคก่อนการเดินทาง ในกรณีที่มีการเดินทางไปในที่ที่มีการเกิดโรคชุกชุม หรือมีการระบาดของโรค เช่น การเดินทางไปประเทศในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้
ดังนั้นปัจจุบันการฉีดวัคซีนจึงไม่ใช่สิ่งที่ใช้เฉพาะเด็กเล็กอีกต่อไป หากยังมีวัคซีนอีกหลายชนิดที่ใช้ฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อสำหรับเด็กโต วัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
คำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคของผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในประเทศไทย
การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงแต่การฉีดวัคซีนในเด็กที่นำมาใช้เป็นเวลามากกว่า 30 ปีซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า สามารถลดการติดเชื้อในเด็กไทยได้อย่างดี แต่การให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เพื่อลดการติดเชื้อหรือลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น
การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแต่ละชนิด จะมีกำหนดการฉีดในแต่ละช่วงอายุและมีตารางการนัดฉีดวัคซีนตามโปรแกรมของวัคซีนชนิดนั้นๆ ซึ่งจำเป็นต้องฉีดให้ครบและตรงตามที่กำหนด เช่น วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี มีกำหนดการฉีด 3 ครั้ง โดยนัดฉีดอีก 2 ครั้งภายหลังฉีด วัคซีนเข็มแรกหนึ่งเดือนและหกเดือน วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ต้องฉีด 1 ครั้งทุกปี เป็นต้น
โดยทั่วไปการได้รับวัคซีนครบตามกำหนด จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคภายหลังได้รับวัคซีนครบ 2 สัปดาห์ภายหลังฉีด วัคซีนบางรายอาจมีผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ซึ่งมักเป็นเฉพาะที่ตรงตำแหน่งที่ฉีด เช่น บวมแดง ปวด คัน โดยทั่วไปอาจมีไข้ต่ำๆ มักเป็นเพียง 1-3 วัน ภายหลังฉีดวัคซีน
ในประเทศไทย มีการกำหนดโปรแกรมการให้วัคซีนป้องกันโรคในช่วงผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2557 ดังรูปที่ 1 ขณะเดียวกันก็กำหนดการให้วัคซีน ในผู้ที่มีโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อย เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง ตับวาย การให้วัคซีนในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี
นอกจากการพิจารณาการให้วัคซีนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุดังกล่าวแล้ว ประชากรบางกลุ่มที่มีภาวะซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไป เช่น หญิงตั้งครรภ์ที่มีโอกาสติดเชื้อบาดทะยัก ไข้หวัดใหญ่ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบบี โรคหัด อีสุกอีใส รวมทั้งพิจารณาการให้วัคซีน แก่ผู้ที่ต้องเดินทางไปในที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคหรือเมื่อเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีโรคนั้นๆ ชุกชุม (travel vaccination) เช่น การเดินทางไปประเทศแถบตะวันออกกลาง ทวีปอเมริกาใต้ เช่น การให้วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น วัคซีนไข้เหลือง วัคซีนไทฟอยด์ วัคซีนอหิวาตกโรค โดยคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงของการสัมผัสโรค ความรุนแรงของโรคและสุขภาพของผู้เดินทาง
นอกจากนั้นบางอาชีพหรือการเข้าศึกษาในสถานศึกษาหลายแห่งโดยเฉพาะการไปศึกษาในต่างประเทศก็มีการกำหนดให้รับวัคซีนบางชนิดเช่นกัน
คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศ ไทย ปีพ.ศ.2557
ช่วงอายุ / วัคซีนป้องกันโรคที่แนะนำให้ฉีด
ผู้ใหญ่ช่วงต้น (อายุ 18-26 ปี)
วัคซีนบาดทะยักและคอตีบ - ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ - ฉีดกระตุ้นทุก 1 ปี
วัคซีนหัด-คางทูม- หัดเยอรมัน - ฉีด 1 เข็ม
วัคซีนเอชพีวี - ควรฉีดตั้งแต่วัยรุ่นตอนต้น (การฉีดวัคซีนไม่สามารถทดแทนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก)
วัคซีนตับอักเสบบี - ควรตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีดวัคซีน
ผู้ใหญ่ (อายุ 27-65 ปี)
วัคซีนบาดทะยักและคอตีบ - ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ - ฉีดกระตุ้นทุก 1 ปี
วัคซีนตับอักเสบบี - ควรตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีดวัคซีน
ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี)
วัคซีนบาดทะยักและคอตีบ - ฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ - ฉีดกระตุ้นทุก 1 ปี
วัคซีนป้องกันนิวโมคอคคัส
ผู้ที่มีโรคเรื้อรั้ง
(ไม่มีม้าม หัวใจวาย ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง ตับวาย ติดเชื้อเอดส์รับยากดภูมิคุ้มกัน)
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ - ฉีดกระตุ้นทุก 1 ปี
วัคซีนตับอักเสบบี - ควรตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีดวัคซีน
วัคซีนป้องกันนิวโมคอคคัส