มักจะมีคนบ่นเสมอว่ากรุงเทพฯ นี่มันแออัดหนาแน่นเกินไปมากแล้วนะ ควรขยายพื้นที่ชานเมืองออกไปในพื้นที่เกษตรกรรมอีกหรือไปสร้างเมืองใหม่เลยดีกว่า แต่บางคนก็บอกว่า เมื่อเทียบกับมหานครอื่น ๆ แล้วกรุงเทพฯ ยังมีความหนาแน่นต่ำกว่านิวยอร์ก โตเกียว และอีกหลาย ๆ เมืองอยู่นะ ให้อนุญาตสร้างอาคารในเมืองให้แน่นเพิ่มขึ้นเถอะ แต่สถิติไม่เคยหลอกใคร ลองหาหลักฐานมาดูกันว่ากรุงเทพฯ มีความแออัดจริงหรือไม่โดยผ่านตัวชี้วัดสัดส่วนอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio – F.A.R.) และอัตราส่วนพื้นที่อาคารคลุมดินในแปลงที่ดิน (Building Coverage Ratio – B.C.R.) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าแปลงที่ดินแปลงหนึ่งมีพื้นที่สร้างอาคารไปกี่เท่าของแปลงที่ดินและมีพื้นที่อาคารครอบคลุมพื้นที่ดินเท่าไหร่ เพื่อชี้ว่ามีความแออัดแค่ไหนกันดีกว่า
สำรวจความหนาแน่นกรุงเทพย่านต่างๆ
รายงานการศึกษาของโครงการจัดทำมาตรฐานด้านผังเมืองของกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2553 ได้สำรวจความแออัดของอาคารโดยแบ่งพื้นที่ออกตามผังเมืองรวมที่กำหนดความหนาแน่นไว้ผ่าน F.A.R. แล้วพบผลที่น่าสนใจมาคุยกันต่อมากๆ พื้นที่ต่างๆ ได้รับก่อสร้างต่ำกว่าที่ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2549 อนุญาตให้ไว้เกือบทั้งหมด
• ย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เช่น บางกระดี่ พุทธมณฑล และเมืองทอง 1 มีการพื้นที่อาคารที่ได้รับการก่อสร้างจริงเพียง 0.8 – 1.0 เท่าของแปลงที่ดิน ทั้ง ๆ ที่ผังเมืองรวมอนุญาตให้ถึง 1.0 – 3.0 เท่าของแปลงที่ดิน และมีสัดส่วนพื้นที่อาคารคลุมดินประมาณ 45% แปลว่ามีใช้ที่ดินเพียงไม่ถึงครึ่งแปลงปลูกสร้างอาคาร ที่เหลือเป็นพื้นที่โล่งว่างจะเป็นสนามหญ้า ถนนในบ้านหรืออะไรก็ตามที่ไม่เป็นอาคาร
• ย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง เช่น พระรามเก้า ลาดพร้าว และห้วยขวาง มีการพื้นที่อาคารที่ได้รับการก่อสร้างจริงเพียง 0.8 – 1.3 เท่าของแปลงที่ดิน ทั้ง ๆ ที่ผังเมืองรวมอนุญาตให้ถึง 4.0 – 5.0 เท่าของแปลงที่ดิน และมีสัดส่วนพื้นที่อาคารคลุมดินประมาณ 55%
• ย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก เช่น คลองสาน บ่อนไก่ และถนนดินสอ มีการพื้นที่อาคารที่ได้รับการก่อสร้างจริงเพียง 0.7 – 1.9 เท่าของแปลงที่ดิน ทั้ง ๆ ที่ผังเมืองรวมอนุญาตให้ถึง 6.0 – 8.0 เท่าของแปลงที่ดิน และมีสัดส่วนพื้นที่อาคารคลุมดินประมาณ 60% เว้นแต่ย่านราชดำริที่มีการก่อสร้างจริงถึง 12 เท่าของแปลงที่ดิน แต่ก็มีสัดส่วนพื้นที่อาคารคลุมดินเท่ากัน
• ย่านพาณิชยกรรมหนาแน่นปานกลาง เช่น บางนา-ตราด บางกะปิ ทาวน์อินทาวน์ และพระรามสอง มีการพื้นที่อาคารที่ได้รับการก่อสร้างจริงเพียง 4.3 – 6.0 เท่าของแปลงที่ดิน ทั้ง ๆ ที่ผังเมืองรวมอนุญาตให้ถึง 5.0 – 8.0 เท่าของแปลงที่ดิน และมีสัดส่วนพื้นที่อาคารคลุมดินประมาณ 65%
• ย่านพาณิชยกรรมหนาแน่นมาก เช่น สุขุมวิท อโศก และสีลม มีการพื้นที่อาคารที่ได้รับการก่อสร้างจริงถึง 13.8 – 14.7 เท่าของแปลงที่ดิน ทั้ง ๆ ที่ผังเมืองรวมอนุญาตให้ 10 เท่าของแปลงที่ดิน และมีสัดส่วนพื้นที่อาคารคลุมดินประมาณ 70%
จากข้อมูลจริง จะเห็นได้ว่ากรุงเทพมหานครมีความหนาแน่นอาคารมากกว่าที่กฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2549 ได้อนุญาตไว้เพียงแค่บริเวณกลางเมืองที่เป็นย่านพาณิชยกรรมหนาแน่นมากเท่านั้น ส่วนพื้นที่ประเภทอื่น ๆ บริเวณส่วนต่อขยายเมืองชั้นกลางและชานเมืองยังมีการสร้างอาคารต่ำกว่าที่กฎหมายอนุญาตให้ไว้อยู่มาก ยังสามารถรองรับการพัฒนาก่อสร้างอาคารเพิ่มขึ้นได้อีกหลายเท่าของที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้มีความแออัดเกินกว่าที่กฎหมายผังเมืองซึ่งเป็นตัวกำหนดมาตรฐานความเป็นเมืองที่ดีแต่อย่างใด
ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะปี 2553 ชี้ชัดว่าไม่ใช่ คนกรุงเทพฯ อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม แมนชั่น หรืออพาร์ตเมนต์เพียง 2.8 % แต่อาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวถึง 45.7% และอยู่ในทาวน์เฮาส์กับตึกแถวแบ่งไปพอๆ กันที่ประมาณ 25% แสดงว่ากรุงเทพฯ ยังมีคนอยู่ในบ้านเดี่ยวแบบที่มีบริเวณส่วนตัวในรั้วบ้านถึงเกือบครึ่งหนึ่ง แปลว่ากรุงเทพฯ ยังมีความหนาแน่นอาคารต่ำอยู่มากแต่กลับมีปัญหาเมืองมากมาย
หนาแน่น กับ แออัด เหมือนหรือต่าง
ย้อนกลับมาดูพื้นที่พาณิชยกรรมหนาแน่นมากกลางเมืองอย่างสุขุมวิท อโศก สีลม รวมถึงราชดำริที่มี F.A.R. ประมาณ 13.8 – 14.7 เท่าของแปลงที่ดิน มากกว่าที่ผังเมืองรวมอนุญาตไว้ที่ 10 เท่า ดูจะแออัดเกินไปหรือเปล่า แต่มหานครนิวยอร์กอนุญาตให้ 15 เท่า และสิงคโปร์อนุญาตให้ 25 เท่า แสดงว่าย่านพาณิชยกรรมหนาแน่นมากของกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้แออัดกว่ามหานครอื่น ๆ ในโลก แต่ทำไมคนไทยรู้สึกว่ามันแออัดจังเลย คำตอบในเชิงผังเมืองเขาแยกคำสองคำออกจากกันระหว่างคำว่า “หนาแน่นมาก” ที่กล่าวถึงความหนาแน่นเชิงปริมาณ กับคำว่า “แออัด” ซึ่งเป็นความตัวชี้วัดเชิงคุณภาพที่มีความหมายในทางที่ไม่ดี สองคำนี้ไม่ใช่คำเดียวกัน ไม่ได้มีความหมายเหมือนกัน
มหานครอื่น ๆ ในโลกมีความหนาแน่นมากแต่ไม่แออัดเพราะมีการออกแบบเมือง (Urban Design) ที่ดี ออกแบบส่วนรวมของย่านเป็นอย่างดีและอาคารทุกหลังต้องทำตาม พื้นที่อาคารจะมากกว่าแปลงที่ดินกี่เท่าก็ตาม ก็ยังมีการกำหนดระยะเว้นว่างจากถนน จากที่ดินข้างเคียง การออกแบบพื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะที่ดีมีความต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นเอกภาพของย่าน แต่สำหรับกรุงเทพฯ ความหนาแน่นมากกับความแออัดมาคู่กันเสมอ เพราะแต่ละแปลงที่ดินสนใจแต่พื้นที่ของตัวเอง ว่าฉันต้องได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ได้สนใจว่าภาพรวมของย่านและเมืองจะเป็นอย่างไร คนกรุงเทพฯ จึงรู้สึกว่าเมืองของเราแออัดจังเลย ทั้ง ๆ ที่่
ตัวเลขความหนาแน่นจริง ๆ ต่ำกว่ามหานครอื่น ๆ และต่ำกว่าที่กฎหมายอนุญาตไว้เป็นอย่างมากนั่นเอง
*** บทความนี้เผยแพร่ใน Rabbit Today เมื่อปี 2018 ***