นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เขียนเล่าถึงประสบการณ์สุดสะอึกจากคนไข้ท่านหนึ่ง ในโพสต์เรื่อง "ความไม่เดือดร้อนที่เจ็บปวด" เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นเรื่องราวที่สุดเศร้าสำหรับคนไทยด้วยกัน
"ผมตรวจคนไข้คนหนึ่ง ที่ต้องเปลี่ยนใบส่งตัวจากเดิมตรวจรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ เปลี่ยนให้ไปตรวจต่อเนื่องที่โรงพยาบาลสงขลาแทน ตามนโยบายจังหวัดในการลดความแออัดของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่ให้ผู้ป่วยอำเภอสะบ้าย้อยขยับไปส่งต่อที่โรงพยาบาลสงขลาแทน สะบ้าย้อยไปหาดใหญ่หรือเข้าสงขลาก็ 100 กิโลเมตรเท่ากัน
อธิบายเสร็จคนไข้ตอบว่า “ได้ครับคุณหมอ” ผมถามว่าแล้วเดินทางมีปัญหาไหม เพราะระบบรถประจำทางเข้าเมืองในตอนนี้แทบจะล่มสลายไปหมดแล้ว ลุงตอบว่า “ไม่มีปัญหาครับ ต้องเหมารถไปอยู่แล้ว ไปหาดใหญ่หรือสงขลาก็เหมาเหมือนกัน” ผมก็ดีใจ และถามต่อว่า ”ค่าเหมารถกี่บาท“ ลุงบอกว่า “สองพัน” ผมถึงกับร้องว่า “แพงมาก” ลุงก็บอกว่า ”ค่าน้ำมันรถไปกลับก็เกือบพันบาทแล้วหมอ เขาก็ต้องเสียเวลารอเราอีก ไปแต่เช้ามืดกว่าจะเสร็จก็บ่ายๆเย็นๆถึงบ้านก็ค่ำ เขาไปส่งก็ดีแล้ว หาคนไปส่งก็ไม่ง่ายนะ เสียเวลาทั้งวัน“
ผมก็ยังคิดว่า นี่เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากของคนบ้านนอกอยู่ดี เป็นต้นทุน indirect cost ที่คนบ้านนอกต้องจำยอมจ่าย แม้บัตรทองจะรักษาฟรี ระบบขนส่งมวลชนล่มแล้วจริงๆ รถเมล์แดงที่เคยมีเมื่อ20ปีก่อน วันนี้ไม่มีแล้ว
เป็นความไม่เดือดร้อนที่เจ็บปวดจริงๆ"
แชร์กว่า 3 พันครั้ง
โพสต์นี้ มีการแชร์ไปแล้วกว่า 3.5 พันครั้ง ในเวลาเพียง 2 วัน (2 ธันวาคม 66) มีคนที่ได้อ่านและร่วมแสดงความรู้สึกต่างๆ กว่า 8 พันครั้ง ร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 200 คอมเม้นต์ ในหลายคอมเม้นต์ มีความน่าสนใจที่สะท้อนภาพความจริงมากมายหลายๆ ประการ อาทิ
• นี่แหละ ที่เหตุผลบางคนถึงไม่ยอมไปรักษาต่อ กว่าจะหาเงินกินข้าวบาท2บาทก่อลำบากแล้วจะหาเป็นพันๆ มาจากไหน (จากคนหาเช้ากินค่ำ)
• ตอนทำงานอยู่เจอเยอะมากค่ะ ทำไมคนไข้ไม่มาตามนัด ทำไมยาหมดไม่มาเอายา เขามาเอายากจริงๆ เหมารถก็แพง บางคนไม่มีลูกหลานดูแล ก็น่าสงสารมาก
• ค่ายา ค่ารักษาฟรี แต่คนไข้ยังต้องมีรายจ่ายอื่นๆ เป็นอีกจุดที่ยังปิดไม่ได้
• อยากให้โรงพยาบาลในพื้นที่ ทุกเขตทุกเเห่งสามารถทำการรักษา มีเครื่องมือที่พร้อม มีคุณหมอมีบุคลากรที่พร้อม ไม่ต้องให้คนไข้ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลในตัวเมือง ที่ต้องส่งตัวกัน บางคนไม่พร้อมกับการเดินทางเเล้วตัวเองก็เจ็บป่วย ค่าใช้จ่ายก็มากมาย ( อนาคตถ้าเป็นไปได้ ) ขอบคุณคุณหมอที่เล็งเห็นในส่วนนี้ค่ะ
• นี่แหละค่ะ วิถีชีวิตชาวบ้าน กับการไป รพ. ขณะที่บ้านอยู่สิงหนคร ไป รพ.สงขลา ค่าเหมารถ ค่าเสียเวลา 800-1000บาทค่ะ
• เราเป็นพยาบาลเคยเรี่ยไรเงินเจ้าหน้าที่กันเองให้คนไข้เป็นค่าเหมารถกลับบ้าน เพราะไม่อย่างนั้นคนไข้จะไม่ยอมตรวจหรือผ่าตัดเพราะรถประจำทางหมด สุดท้ายแล้วค่าเดินทางนี่แหละที่เป็นปัญหาจริงๆ สงสารคนไข้ค่ะที่ต้องเดินทางไกลๆ
• จากใจคนสะบ้าย้อย ค่าน้ำมันรถจากสะบ้าย้อยไปสงขลาหรือหาดใหญ่ (ไปกลับ) ก็เกือบพันแล้ว
นี่คือเหตุผลที่อยากให้คนต่างจังหวัดอย่างเราๆมีระบบขนส่งมวลชนที่ดี สะดวก ปลอดภัย, universal access, ราคา reasonable, และเชื่อมต่อกันภายในหรือระหว่างจังหวัด ระบบคนส่งมวลชนที่ดี เป็นระบบ มันจำเป็นต้องมีมากๆเลยนะค่ะ
• บางท่าน ระบุว่า "ตามมาตรา 3(9) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ มึค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย (Ambulette service) อยู่ในค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขด้วยนะครับ"
ซึ่งนพ.สุภัทร ได้ให้คำอธิบายว่า "ค่าพาหนะใน พรบ.ตีความว่า ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่โรงพยาบาลส่งเองครับ ไม่รวมการไป F/U แบบ OPD ตามนัดครับ "
• ถ้านั่งรถต่อเดียวมันจะมีน้อยครับ อาจารย์ ต้องนั่งรถยะลา มาลงจะนะ แล้วต่อรถเอาครับ ใช้เวลาน้อยกว่ากันเยอะ สะดวกสบายมากๆ แถมราคาถูกครับ รถเส้นนี้ชุมทางมันจะอยู่ที่จะนะครับ แต่เข้าใจว่าคนป่วยเล็กน้อยอาจจะไม่สะดวกรถสาธารณะ อาการก็ไม่หนักถึงขั้นต้องใช้ ambulance อาจารย์ลองระดมทุนใช้รถรีเฟอร์เป็นรถบัสสำหรับคนไข้รีเฟอร์โอพีดีดูครับ รถบัสนั่งได้ซักยี่สิบคน วิ่งวันละเที่ยว ออกจากสะบ้าย้อยตอนเช้าเก้าโมง กลับจากสงขลาบ่ายสี่ จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้เยอะ คนต้องยินดีบริจาคเยอะมากๆแน่ครับ
• จริงที่สุด นราธิวาสไปมอ.หรือหาดใหญ่ยังพอมีรถตู้ แต่ถ้าต่างอำเภอถ้าไม่ออกจากบ้านตั้งอต่ตีสี่ ก็ต้องไปนอนรอที่หาดใหญ่หนึ่งคืน เสียค่าที่พักแถมขากลับถ้ากลับไม่ทันก็ได้นอนอีกคืน ถึงทันก็ต้องเหมารถกลับหมู่บ้านอยู่ดี การเชื่อมโยงระบบขนส่งต้องครอบคลุม
• นี่คือปัญหาของคนไข้ในการเดินทาง จึงไม่แปลกที่คนไข้บางคนจึงไม่อยากรักษา คนไม่มีจริงๆไม่รู้จะทำยังไง
ผมคนสะบ้าย้อยมาแต่เกิดแต่ตอนนี้ไปทำงานที่อื่น อยากจะขอบคุณหมอมากๆที่ลงมาสะบ้าย้อย ที่มารับรู้ปัญหาคนสะบ้าย้อย และได้แก้ไข
• พัทลุงก็ไม่ต่างครับ คนไข้จากปากพะยูน ใกล้ มอ หาดใหญ่ มีรถตู้เดินทาง แต่ไปไม่ได้ ต้องเหมามาพัทลุง เราก็ได้ช่วยแค่มีไร ก็admit เข้าไปรักษา จะส่องกล้องหรือsetผ่าตัด ถ้าพอทำได้ก็รีบทำให้ ไม่ต้องมาหลายรอบ / ฝากอาจารย์และผู้ใหญ่ใจดีวางแผนดูแลหน่อยนะครับ อย่างน้อยก็อยู่เขต 12 เหมือนกัน (จังหวัดใกล้กัน ^_____^) เผื่อเกิดระบบขนส่งเดินทางที่ดี ความลำบากส่วนนี้ก็หายไป
• สมัยเรียนมัธยมที่ไทย ตอนหกโมงเช้าจะมีผู้ใหญ่มาเหมารถตู้ไปโรงพยาบาลประจำจังหวัด ตอนนั้นคิดนะว่ารีบขนาดนั้นเชียวหรือ แต่เข้ามัธยมปีที่ 6 ต้องฝึกงานที่โรงพยาบาล มีคนเหมารถมาถึงโรงพยาบาลตั้งแต่ตีห้า เพื่อกดบัตรคิว อันนี้แปลกใจยิ่งกว่าอีกค่ะ
• พอมาใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ คราวนี้งงระบบการนัดหมายของหมอที่ไทยอีก คือที่นี่หมอกับคนป่วยจะนัดเวลา และส่วนมากจะตรงตามนัด สายไม่เกิน 15 นาที ทั้ง GP และ Specialist ในกรณีพบ GP เราจะมีเวลาพบหมอประมาณ 15 นาที ถ้าอยากคุยกับหมอนานบางทีก็นัดแบบ Double Appointment หรือ Triple Appointments ถ้าในกรณี Specialist จะใช้เวลา 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมงในการ Consultation (แต่ส่วนมาก 30 นาทีก็ไม่มีอะไรจะตรวจ จะพูดคุยกับหมอแล้ว) เลยมีคำถามว่าที่ไทยไม่สามารถจัดระบบการนัดหมายได้หรือคะ ถ้าจัดระบบนัดหมายแบบดีๆ ลดจำนวนผู้ป่วยที่แออัดในโรงพยาบาลได้เยอะเลย แล้วการเดินทางของผู้ป่วยไม่ต้องเร่งรีบ หมอได้มีเวลาพักบ้าง
• จริงคะ ต่างจังหวัดอำเภอที่ไกลจากอำเภอเมืองเป็น100โล ถ้าเหมารถเข้าเมืองคือ1000+ บาท ถ้ารอรถบัสก็นานชม.ละ1คันใช้เวลาเดินทาง2+ชม.กว่าจะถึง.
• ค่าเดินทางคือหนักจริงๆ สำหรับชาวบ้านที่มีรายได้ไม่พอจ่ายอย่างเราๆ เคสใกล้ตัวที่สุดคือ หลาน เป็นโรคหัวใจรั่วตั้งแต่กำเนิด ถูกส่งตัวรักษาต่อ รพ.หาดใหญ่(เป็นคนสะบ้าย้อย)แต่ด้วยฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี แม่น้องเลยไม่ได้พาไปรักษาตามหมอนัด ตอนเล็กๆน้องไม่เป็นไรแหละไม่ดื้อไม่ซน อาการเลยไม่ออก แต่ตอนนี้5ขวบแล้ว อาการก็เริ่มออกแล้ว ไม่สบายทีนึงก็หนักเลย เช็ดตัวก็ไม่ได้เดี๋ยวจะช็อค จะส่งตัวไปรักษาต่อก็ไม่ได้ รพ.ปฏิเสธการรักษาแล้ว เพราะเราเคยผิดนัดเขา
คิกออฟโครงการ เอาจริงเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ชาวสะบ้าย้อย
หลังจากเรื่องราวข้างต้นเผยแพร่ออกไปและมีฟีดแบ็คและการแชร์มากมาย เกิดเป็นแรงกระเพื่อมที่ค่อนข้างแรงในสังคมมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา
วันที่ 7 ธันวาคม 2566 นพ.สุภัทร โพสต์เกี่ยวความคืบหน้าการเริ่มต้นโครงการรถโดยสาร ดังนี้
###
เอาจริง! ของขวัญปีใหม่ 2567 แด่พี่น้องชาวสะบ้าย้อย
หลังผมโพสต์ค่าเหมารถพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลใหญ่ตรวจตามนัดครั้งละ 2,000บาท ได้แชร์ไปไกลมาก ทีมโรงพยาบาลสะบ้าย้อยก็ได้เริ่มวางแผน แก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยรถตู้ที่มีอยู่ของโรงพยาบาล
ระบบคร่าวๆที่วางไว้คือ โรงพยาบาลก็จะจัดรถตู้วันละคัน จุ 13 คน มีระบบลงทะเบียนจองที่นั่งล่วงหน้า รถออกรถทุกวันราชการเวลา 7.00 น.ถึง รพ.สงขลา 8.30 น. แล้วรถคันน้้นก็จะรับผู้ป่วยกลับเวลา 16.00 น.ถึงสะบ้าย้อยก็ 17.30 น. ญาติมารับต่อ กลับบ้านไม่มืดค่ำเกินไป แต่ถ้าครบก่อนก็ออกก่อนได้ ถ้าไม่ครบก็ต้องรอจนครบ ผู้ป่วยมักมีญาติไปด้วย จึงให้บริการได้วันละ 6 คู่ ระหว่างรอ คนขับรถก็มีหน้าที่เสริมเช่น รับส่งเอกสาร ส่ง lab ที่จังหวัด เป็นต้น
ต้นทุนที่ประมาณการ เป็นค่าน้ำมันไปกลับ 200 กิโลเมตรราว 1,000 บาท ค่าจ้างคนขับรถ 500 บาท ค่าโทรศัพท์ประสานงานนิดหน่อย รวมเป็นต้นทุนวันละ 1,500 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายว่าด้วยรถและการซ่อมบำรุงนั้นโรงพยาบาลรับภาระไป
โรงพยาบาลจะวางระบบร่วมจ่าย จะเก็บเงินจากผู้ป่วยและญาติ คิดไปกลับเพียง 300 บาทต่อคู่(ผู้ป่วยและญาติ) ถ้ารับ 6 คู่ก็เก็บได้ 1,800 บาท โรงพยาบาลสะบ้าย้อยที่ค่อนข้างจนก็พออยู่ได้ เป็น not for profit logistic model
คาดว่าอีกอีก 2 สัปดาห์ ระบบจะเริ่มได้ ขอจัดความพร้อมของรถ จัดระบบเวรคนขับรถ ระบบการจองรถ และรับฟังความเห็นผู้คนในพื้นที่สักนิดก่อน
เป็นของขวัญปีใหม่ 2567 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพของพี่น้องชาวสะบ้าย้อยที่ฐานะลำบากครับ