ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ตลาด Telemedicine ของจีน กรณีศึกษา Ping An Good Doctor และโอกาสของไทย

ตลาด Telemedicine ของจีน กรณีศึกษา Ping An Good Doctor และโอกาสของไทย Thumb HealthServ.net
ตลาด Telemedicine ของจีน กรณีศึกษา Ping An Good Doctor และโอกาสของไทย ThumbMobile HealthServ.net

ตลาด Telemedicine ของจีน กรณีศึกษา Ping An Good Doctor และโอกาสของไทย

รู้จักกับตลาด Telemedicine ของจีนและโอกาสของไทย

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำเนินชีวิต สู่ new normal อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาส สำหรับประเทศจีนแล้วการแพร่ระบาดครั้งนี้เปิดโอกาสให้เกิดการนำระบบทางไกลไปใช้ในหลาย ๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะระบบ Telemedicine[1] หรือ โทรเวชกรรม ซึ่งเป็นระบบการแพทย์ทางไกลที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาคนไข้ได้แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน ซึ่งภาคธุรกิจ Telemedicine ของจีนมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตแม้สถานการณ์การระบาดในจีนจะคลี่คลายไปมากแล้วก็ตาม

รู้จักกับ ตลาด Telemedicine ของจีน

ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์อย่างมาก โดยคณะกรรมการสาธารณสุขและสุขภาพจีน (National Health Commission : NHC) เผยว่า ณ สิ้นปี 2562 จีนมีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร 1,000 คนอยู่ที่ 2.77 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 3.4 คน ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของจีนส่งผลให้การนัดหมายแพทย์เป็นเรื่องยาก ต้องรอคิวนาน และมีปัญหาแพทย์ปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาด Telemedicine ของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากบริษัทวิจัยของจีน iiMedia Research พบว่า ในปี 2563 ตลาด Telemedicine ของจีนมีมูลค่ากว่า 5.45 หมื่นล้านหยวน เติบโตจากปี 2554 ที่มีมูลค่า 1.58 พันล้านหยวนอย่างมีนัยสำคัญ และยังมีการคาดการณ์ว่า จะเติบโตแตะระดับกว่า 6 หมื่นล้านหยวนภายในสิ้นปี 2564 ในขณะเดียวกัน ในปี 2563 จำนวนผู้ใช้งาน Telemedicine ของจีนมีจำนวนกว่า 661 ล้านคน และคาดว่าจะมีจำนวน 687 ล้านคนภายในปี 2564
 
นอกจากนี้ จากการสำรวจ[2] โดย Bain&Company พบว่า ในปี 2562 มีเพียงร้อยละ 24 ของกลุ่มตัวอย่างชาวจีนที่เคยใช้บริการการแพทย์ทางไกล อย่างไรก็ดี กว่าร้อยละ 64 คาดว่าจะใช้บริการนี้ภายใน 5 ปี ในขณะเดียวกัน ร้อยละ 97 มีความสนใจที่จะทดลองใช้บริการ Telemedicine ถ้าหากสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการรับบริการจากบริษัทประกันหรือที่ทำงานได้ โดยจากช้อมูล ณ เดือน เม.ย. 2564 ของ NHC พบว่า ในปัจจุบัน จีนมีโรงพยาบาลอินเทอร์เน็ต[3] (Internet Hospital) กว่า 1,100 แห่ง และมีเครือข่ายความร่วมมือการแพทย์ทางไกลครอบคลุมระดับเมืองมากกว่า 24,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ จากอิทธิพลของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ความต้องการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสุขภาพได้อย่างรวดเร็วและมีมาตรฐานของผู้บริโภคชาวจีน การพัฒนาของเทคโนโลยี และที่สำคัญคือนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ Telemedicine ของจีนจึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่มีอนาคตที่สดใส และควรจับตามองอย่างใกล้ชิด
 
ตลาด Telemedicine ของจีน กรณีศึกษา Ping An Good Doctor และโอกาสของไทย HealthServ

กรณีศึกษา : Ping An Good Doctor  (平安健康)[4]

ด้วยปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเร่งต่าง ๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงปลายปี 2562 ส่งผลให้แอปพลิเคชัน Ping An Good Doctor (PAGD) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์รายใหญ่ในจีน มีจำนวนผู้ใช้งานรายใหม่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 900 ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 – กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา และ ณ สิ้นปี 2563 มีจำนวนผู้ใช้บริการลงทะเบียนในระบบประมาณ 372.8 ล้านราย โดยเป็น Monthly Active Users (MAU) ประมาณ 72.6 ล้านราย และมีการใช้บริการเฉลี่ยวันละ 9 แสนครั้ง ในขณะเดียวกันผู้เล่นรายอื่น ๆ ในตลาดนี้อย่าง Ding Xiang Yuan (丁香园) และ Chunyu Doctor (春雨医生) ก็มีการเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน
 
ทั้งนี้ PAGD เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2558 และในปัจจุบันได้กลายเป็นแพลตฟอร์มให้บริการด้านสุขภาพแบบครบวงจรที่สำคัญของจีน และมีบริการสำหรับกลุ่มคนหลากหลายประเภททั้งสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี ผู้ป่วย รวมถึงผู้ที่ยังอยู่ระหว่างการรักษา โดยมีบริการด้านสุขภาพที่หลากหลาย เช่น บริการตรวจสุขภาพ บริการเสริมความงาม บริการ fitness ประกันสุขภาพ กายภาพบำบัด ร้านขายยา และโรงพยาบาล และมีการนำเทคโนโลยี AI และอินเทอร์เน็ตมาผนวกกับทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้บริการแบบระยะไกลแก่ผู้ใช้งานจากทั่วประเทศจีน
 
ในปัจจุบัน PAGD มีเครือข่ายผู้ให้บริการครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ในจีน โดย ณ สิ้นปี 2563 PAGD มีแพทย์และพยาบาลประจำ 2,247 คน เครือข่ายแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพชั่วคราว 21,116 คน เครือข่ายคลินิก 49,000 แห่ง เครือข่ายร้านขายยา 110,000 แห่ง และเครือข่ายหน่วยตรวจร่างกาย 2,000 แห่ง เป็นต้น นอกจากนี้ PAGD ยังมีการขยายการให้ บริการไปยังต่างประเทศ เช่น ร่วมมือกับ Grab และ SoftBank ในประเทศอินโดนีเชีย และร่วมมือกับเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ (BDMS) ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาระบบ Telemedicine ที่เหมาะกับตลาดของประเทศนั้น ๆ โดยเฉพาะ
 
อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายที่อาจเป็นอุปสรรคของการขยายตัวของธุรกิจในตลาดนี้ โดยคุณเจสสิกา แทน Co-CEO ของบริษัท Ping An Insurance (Group) Company of China, Ltd. ได้ให้สัมภาษณ์ McKinsey ในประเด็นนี้ และกล่าวว่ามี 3 ความท้าทายสำคัญ ได้แก่
 
(1) มาตรการกำกับดูแลของรัฐที่เข้มงวด เนื่องด้วยการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขมีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรส่วนใหญ่โดยตรง ดังนั้น ทางการจีนจึงยังคงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ส่งผลให้มาตรการที่มีในปัจจุบันอาจจะยังไม่เอื้อต่อการขยายตัวของตลาดนี้เท่าที่ควร
 
(2) ความคุ้นเคยของผู้บริโภคชาวจีน ที่ผ่านมาการบริการด้านการแพทย์เป็นอีกหนึ่งบริการที่ชาวจีนเชื่อมั่นในการไปพบแพทย์ด้วยตนเองมากกว่าการคุยกับแพทย์ผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ แต่ด้วยโรคระบาดที่ก่อให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทาง ส่งผลให้ชาวจีนหันมาเริ่มทดลองใช้บริการทางการแพทย์ผ่าน Telemedicine มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โรคระบาดในจีนที่คลี่คลายขึ้นมากแล้ว จึงเป็นโจทย์สำคัญของภาคธุรกิจนี้ที่จะดึงดูดผู้บริโภคชาวจีนให้มาใช้บริการการแพทย์ทางไกลต่อไป
 
(3) การยอมรับของแพทย์ การให้บริการทางไกลส่งผลให้แพทย์ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานในหลายด้าน โดยเฉพาะการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้แพทย์สามารถทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น อย่างไรดี แพทย์บางส่วนอาจจะไม่คุ้นชิน หรือยังไม่เชื่อมั่นในลักษณะการทำงานแบบใหม่นี้ รวมถึงอาจต่อต้านการใช้เทคโนโลยี AI เนื่องจากความกังวลว่า เทคโนโลยี AI อาจจะมาทดแทนแพทย์ในอนาคต
ตลาด Telemedicine ของจีน กรณีศึกษา Ping An Good Doctor และโอกาสของไทย HealthServ

โอกาสของไทย

ในปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจ Healthcare เป็น mega trend ที่น่าจับตามอง และเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนระยะยาวที่น่าสนใจ โดยสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้มีผู้ประกอบการเข้ามาพัฒนาระบบ Telemedicine เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น Doctor A to Z, Doctor Anywhere, ChiiWii, Ooca และ Samitivej Virtual Hospital

อย่างไรก็ดี ด้วยประเทศจีนกำลังมีความต้องการทางการแพทย์ทางไกลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีอัตราส่วนจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และยังมีปัญหาจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และเนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพของการบริการทางการแพทย์ จึงอาจเป็นโอกาสของการแพทย์ไทยที่จะศึกษาแนวทางการบุกตลาดจีนทางไกลผ่าน Telemedicine ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถติดตามอาการผู้ป่วย และให้คำปรึกษาผ่านช่องทางออนไลน์แบบไร้พรมแดนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ประชาสัมพันธ์บริการทางการแพทย์ไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งอาจนำไปสู่การเดินทางมาประเทศไทยเพื่อรับบริการทางการแพทย์และสุขภาพ และอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์และธุรกิจบริการสุขภาพของโลก (Thailand Medical Hub) ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพและมีความสนใจอาจคอยติดตามพัฒนาการของภาคธุรกิจ Telemedicine รวมถึงศึกษาความต้องการของผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวของภาคธุรกิจนี้ได้เช่นกัน
 
 
จัดทำโดย : น.ส. พิมพ์ชนก ภัทรภูมิภักดี
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง 
วันที่ 7 พ.ค. 2564
 
แหล่งข้อมูล :
 
[1] แพทยสภาของไทยให้คำจำกัดความของคำว่า Telemedicine หรือ โทรเวชกรรม หรือ การแพทย์ทางไกล ว่าเป็นการส่งผ่านหรือการสื่อสารเนื้อหาทางการแพทย์แผนปัจจุบันโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทั้งจากสถานพยาบาลภาครัฐและ/หรือเอกชนจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งโดยอาศัยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้การปรึกษา คำแนะนำ แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือบุคคลอื่นใด เพื่อการดำเนินการทางการแพทย์ในกรอบแห่งความรู้ทางวิชาชีพเวชกรรม ตามภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่เป็นอยู่ ทั้งนี้โดยความรับผิดชอบของผู้ส่งผ่านหรือการสื่อสารเนื้อหาทางการแพทย์นั้น ๆ
 
[2] จากการสำรวจ Bain Frontline of Healthcare APAC Survey 2019 (China n=300)
 
[3] โรงพยาบาลอินเทอร์เน็ต (Internet Hospital) เป็นช่องทางการให้บริการผู้ป่วยแบบออนไลน์ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับบริการการแพทย์ผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยตรง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการดำเนินงาน ได้แก่ (1) “โรงพยาบาล + อินเทอร์เน็ต” คือ โรงพยาบาลออฟไลน์แบบดั้งเดิมที่มีการเพิ่มบริการการแพทย์ออนไลน์ และ (2) “อินเทอร์เน็ต + โรงพยาบาล” คือ โรงพยาบาลออนไลน์ร่วมมือกับโรงพยาบาลออฟไลน์แบบดั้งเดิมหลายแห่งในการให้บริการการแพทย์ออนไลน์
 
[4] มีการเปลี่ยนแปลงชือแอปพลิเคชันภาษาจีนจาก 平安好医生 เป็น 平安健康 เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด