รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ
เจตนารมณ์
เจตนารมณ์ ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ คือ
- เผยแพร่พระเกียรติคุณแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
- มอบรางวัลแก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงาน และ/หรือวิจัยดีเด่นทางด้านการแพทย์ อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ
- มอบรางวัลแก่บุคคลหรือองค์กร ที่ปฏิบัติงานดีเด่นทางด้านการสาธารณสุข เป็นประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยของมนุษยชาติ
- ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
- ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
ประเภทรางวัล
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มีการให้รางวัลเป็นประจำทุกปีๆ ละ 2 รางวัล คือ
- รางวัลทางการแพทย์ มอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงาน และ/หรือ วิจัยดีเด่นการแพทย์ อันก่อประโยชน์แก่มนุษยชาติ
- รางวัลทางสาธารณสุข มอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงานดีเด่นทางด้านสาธารณสุข เป็นประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยของมนุษยชาติ*
หมายเหตุ: มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ มอบ 2 รางวัลนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชอนุสรณ์ แด่สมเด็จพระบรมราชชนก ที่ทรงสำเร็จวิชาแพทย์ (Doctor of Medicine) และทรงได้รับประกาศนียบัตรวิชาการสาธารณสุข (Certificate of Public Health)
28 ปี รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
โดยระยะเวลา 28 ปี ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลแล้วทั้งสิ้น 85 ราย มีคนไทยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 4 ราย ได้แก่
- ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา จากการศึกษาผลกระทบของเชื้อไวรัสเด็งกี่ ต่อความพิการของร่างกายเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก
- ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ จากการจำแนกความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2539
- นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100% ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์
- นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ริเริ่มวิธีการสื่อสารรณรงค์เผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัย ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2552
5 ราย ได้รับรางวัลโนเบล
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลแล้วต่อมา ได้รับรางวัลโนเบล 5 ราย ได้แก่
- ศาสตราจารย์แบรี่ เจมส์ มาแชล (Barry J. Marshall) จากประเทศออสเตรเลีย
- ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
- ศาสตราจารย์ซาโตชิ โอมูระ จากประเทศญี่ปุ่น
- ศาสตราจารย์ตู โยวโยว จากสาธารณรัฐประชาชนจีน
- เซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์
ศาสตราจารย์แบรี่ เจมส์ มาแชล (Barry J. Marshall)
ศาสตราจารย์แบรี่ เจมส์ มาแชล (Barry J. Marshall) จากประเทศออสเตรเลีย ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2544 จากการค้นพบเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอรี่ เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ในปี 2548 ด้วยการค้นพบเดียวกัน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น (Professor Harald zur Hausen)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2548 จากการค้นพบเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2551 จากการค้นพบเดียวกัน
ศาสตราจารย์ซาโตชิ โอมูระ (Professor Dr. Satoshi Omura)
ศาสตราจารย์ซาโตชิ โอมูระ (Professor Dr. Satoshi Omura) จากประเทศญี่ปุ่น ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2540 จากผลงานการศึกษาวิจัยจุลชีพชนิดหนึ่งชื่อ สเตรฟโตมัยซีสเอเวอร์มิติลิต จนสามารถสังเคราะห์ยา ivermectin ใช้รักษาและป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิและโรคเท้าช้าง ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2558 จากผลงานเดียวกัน
ศาสตราจารย์ตู โยวโยว (Professor Tu You You)
ศาสตราจารย์ตู โยวโยว (Professor Tu You You) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นสมาชิกของกลุ่ม china cooperative research group on qinghaosu and its derivatives as antimalarials ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2546 จากการศึกษาสารสกัดชิงเฮาซูจนสามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2558 จากการศึกษาเดียวกัน
เซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์ (Sir Gregory Paul Winter)
เซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์ (Sir Gregory Paul Winter) ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2559 จากการพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้าง และดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดีให้มีประสิทธิภาพสูงและมีความเป็นสิ่งแปลกปลอมลดลง (Antibody Humanization) นำไปสู่ความก้าวหน้าในการพัฒนายา กลุ่มใหม่ จากชีวโมเลกุลซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการรักษาโรค ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2561 จากการพัฒนาเดียวกัน