ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เตือนธุรกิจสินค้าสมุนไพร จะใช้ผลศึกษาวิจัยเพื่อโฆษณา ต้องขออนุญาต อย.

เตือนธุรกิจสินค้าสมุนไพร จะใช้ผลศึกษาวิจัยเพื่อโฆษณา ต้องขออนุญาต อย. Thumb HealthServ.net
เตือนธุรกิจสินค้าสมุนไพร จะใช้ผลศึกษาวิจัยเพื่อโฆษณา ต้องขออนุญาต อย. ThumbMobile HealthServ.net

อย.ส่งคำเตือนมายังธุรกิจ-ผู้ประกอบการ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ประสงค์จะนำเอาข้อมูลผลการศึกษาวิจัยมาทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อประโยชน์ทางการค้า ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม จะต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อน หากฝ่าฝืนพร้อมดำเนินการทางกฎหมาย

 
          นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมักพบการแถลงผลการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ในลักษณะเพื่อประโยชน์แอบแฝงทางการค้า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการโฆษณา ซึ่งต้องผ่านการอนุญาตจาก อย. เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจากข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
          ทั้งนี้ ก่อนการนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาศึกษาวิจัยในมนุษย์ จะต้องแจ้งการผลิต นำเข้าเพื่อการวิจัยกับ อย. และต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ด้วย จึงจะเริ่มการศึกษาวิจัยในมนุษย์ได้ และเมื่อการวิจัยเสร็จสิ้นผู้ประกอบการจะสามารถนำผลการศึกษาวิจัย มาขอขึ้นทะเบียนตำรับ หรือ ขยายสรรพคุณกับทาง อย. โดยหลังจากได้รับการอนุมัติแล้ว จึงจะสามารถขออนุญาตโฆษณาตามกฎหมายได้ต่อไป
 
          รองเลขาธิการ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้บริโภค อย. ขอเตือนอย่าหลงเชื่อโฆษณาที่อ้างผลการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. ดังนั้น ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร ควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์จากเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ สืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณา และตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์
 

ผลงานจัดการปัญหาโฆษณา ปี พ.ศ. 63 - ม.ค. 64 

 
 
           ในปี พ.ศ. 2563 - ม.ค. 2564 อย.รายงานผลการ ดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งสถานประกอบการผลิต นำเข้า จำหน่าย และการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ ตามแผนปฏิบัติการประจำปีและการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน สรุปผลการดำเนินงานได้ ดังนี้
 
  1. สั่งระงับโฆษณาผิดกฎหมาย และดำเนินคดี 1,706 คดี
  2. เปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิด ทั้งคดีโฆษณา ผลิตภัณฑ์และสถานประกอบการ 3,053 คดี รวมเป็นเงินค่าปรับ 41,429,250 บาท และส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย 446 คดี
  3. ออกคำสั่งทางปกครอง โดยยกเลิกเลขสารบบอาหาร 874 รายการ ด้วยสาเหตุ เช่น โฆษณาแสดงสรรพคุณเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเขื่อโดยไม่สมควร ในเรื่องการบำบัด บรรเทา รักษาโรค, การปลอมปนยาแผนปัจจุบัน เช่น ไซบูทรามีน ซิลเดนาฟิล, เป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอมหรืออาหารไม่บริสุทธิ์ และสถานที่ผลิต นำเข้า มีสภาพร้าง เป็นต้น  และเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอาง 3,837 รายการ ด้วยเหตุจากการผลิตเครื่องสำอางไม่ตรงตามที่จดแจ้ง หรือไม่มีสภาพเป็นสถานที่ผลิตเครื่องสำอาง
  4. ปราบปรามการลักลอบผลิต นำเข้า ขาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 164 คดี คดีที่สำคัญ เช่น การปราบปรามการลักลอบจำหน่ายชุดตรวจโควิดเบื้องต้น ถุงมือตรวจโรคทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล ยาทำแท้ง รวมมูลค่าของกลาง 991,044,340 บาท
           ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย และสมประโยชน์ไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หากพบเห็นหรือสงสัยโฆษณา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ https://www.fda.moph.go.th/ 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด