ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เรือนจำกลางอุดรธานี คัดกรองไวรัสตับอักเสบซี ผู้ต้องขังทุกราย ติดตามอาการผ่าน Telemed

เรือนจำกลางอุดรธานี คัดกรองไวรัสตับอักเสบซี ผู้ต้องขังทุกราย ติดตามอาการผ่าน Telemed Thumb HealthServ.net
เรือนจำกลางอุดรธานี คัดกรองไวรัสตับอักเสบซี ผู้ต้องขังทุกราย ติดตามอาการผ่าน Telemed ThumbMobile HealthServ.net

เรือนจำกลางอุดรธานี ร่วมมือกับโรงพยาบาลอุดรธานี-สาธารณสุขในพื้นที่ ยกระดับบริการสุขภาพผู้ต้องขังแก้ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ จัดบริการคัดกรองความเสี่ยง “โรคไวรัสตับอักเสบซี” ผู้ต้องขังในเรือนจำทุกราย จัดระบบติดตามอาการผ่าน Telemedicine

เรือนจำกลางอุดรธานี คัดกรองไวรัสตับอักเสบซี ผู้ต้องขังทุกราย ติดตามอาการผ่าน Telemed HealthServ
 
27 พ.ค. 2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 8 อุดรธานี ลงพื้นที่เรือนจำกลางอุดรธานี ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำภายใต้ “โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เรือนจำกลางอุดรธานี” ในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับกลุ่มผู้ต้องขัง โดยความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลอุดรธานี เรือนจำกลางอุดรธานี และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 8 อุดรธานี ในการคัดกรองความเสี่ยงไวรัสตับอักเสบซีสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำทุกราย 
 
นายภัทรพงศ์ หมวกสกุล ผู้บัญชาการเรือนกลางจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า เรือนจำกลางอุดรธานีมีการดำเนินการคัดกรองโรคในหลายๆ โรคแล้ว โดยเฉพาะโรคติดต่อ สำหรับโรคไวรัสตับอักเสบซีถือว่าเป็นโรคที่มีการแพร่ระบาด รวมไปถึงในเรือนเองก็มีความหนาแน่นของผู้ต้องขัง ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องตระหนัก สอดคล้องกับผู้บังคับบัญชาระดับกรมราชทัณฑ์ที่ตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีโครงการพระราชทาน “โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เรือนจำกลางอุดรธานี” นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณสำหรับผู้ต้องขัง และบุคลากรในกรมราชทัณฑ์
 
นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า การคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีจะคัดกรอง 100% ของผู้ต้องขังทั้งหมด โดยได้รับการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลอุดรธานีที่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ซึ่งก็ได้มีการดำเนินงานไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดมีการตรวจคัดกรองไปแล้วราวกว่า 3,000 ราย พบติดเชื้อ 46 ราย ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการในเรื่องของการรักษาโดยแพทย์อย่างเป็นรูปธรรม 
 
“เราเองไม่ได้ป้องกันเฉพาะในเรือนจำ เรายังต้องป้องกันภายนอกด้วย เพราะว่าผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษ หากรักษาหายแล้วก็จะไม่เป็นภาระข้างนอกเรือนจำ สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัว ชุมชนได้อย่างปกติสุข” นายภัทรพงศ์ ระบุ
 
 
นพ.โอฬาร วิวัฒนาช่าง นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคทางเดินอาหารและตับ และผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกอุดรธานี โรงพยาบาลอุดรธานี กล่าวว่า ไวรัสตับอักเสบซี สามารถติดต่อได้ผ่านการฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด การสัก เจาะร่างกาย มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน กลุ่มชายรักชาย ผู้ต้องขัง หรือการติดต่อผ่านแม่สู่ลูก ฯลฯ ซึ่งเมื่อไวรัสตับอักเสบซีเข้าสู่ร่างกายก็จะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดภาวะตับแข็ง และเกิดเป็นมะเร็งตับในที่สุด จากการสำรวจพบว่ามีโอกาส 2% ที่จะพบไวรัสตับอักเสบซีในกลุ่มเสี่ยง 
 
 
นอกจากนี้ มีโครงการ Screen All Treat All อยู่ภายใต้โครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ซึ่งจะเป็นการคัดกรองผู้ต้องขังทุกคนให้ตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี ขณะเดียวกันก็จะตรวจหาเชื้อซิฟิลิส และ HIV ร่วมด้วย 
นพ.โอฬาร ระบุว่า เมื่อพบผู้ป่วยแล้วก็จะนำเข้าสู่การรักษาด้วยการรับประทานยาวันละ 1 เม็ดเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ และจะเจาะเลือดอีกครั้งภายหลักจากการรักษา 3 เดือน ซึ่งก็พบว่ามีโอกาสหายได้ราว 95% ของผู้ป่วยที่รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง 
 
ทั้งนี้ หากผู้ต้องขังที่พบไวรัสตับอักเสบซีเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์บัญชียาหลักแห่งชาติ หรือจ (2) ก็จะได้รับยาจากบัญชีจ (2) ทุกสิทธิ ขณะเดียวกันผู้ต้องขังที่พบไวรัสแต่ยังไม่เข้าข่ายหรือเกณฑ์ เดิมทีกลุ่มนี้จะยังไม่ได้รับการรักษา แต่โชคดีที่โรงพยาบาลอุดรธานีได้รับการคัดเลือกจากกองโรคเอดส์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผ่านการเข้าร่วมโคงการ Test and Treat หากพบไวรัสแล้วก็จะสามารถเข้าสู่การรักษาได้ ฉะนั้นผู้ต้องขังที่รอการรักษาก็จะได้รับยาตัวนี้เช่นเดียวกัน ทำให้สามารถรักษาผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีได้ทุกคน 
 
 “ระหว่างการรักษาก็จะมีการติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องผ่านระบบ Telemedicine เมื่อผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่ารักษาหายแล้ว ระหว่างนี้ก็ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ เพราะไวรัสตับอักเสบสามารถติดเชื้อซ้ำได้แม้จะรักษาหายแล้ว” นพ.โอฬาร ระบุ
 
 ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี เป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อยู่แล้ว ซึ่งผู้ต้องขังถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันการที่จะตรวจภายใต้กติกาจะต้องมีอายุรแพทย์โรคตับ ซึ่งตรงนี้ก็ได้รับความกรุณาจาก นพ.โอฬาร วิวัฒนาช่าง นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลอุดรธานีเข้ามาตรวจให้ในเรือนจำ คัดกรองผู้ต้องขัง 100% ของจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด
 
ขณะเดียวกัน หากผู้ต้องขังรายใดพบผลบวกก็จะถูกนำเข้าสู่การตรวจระดับไวรัส ซึ่งจ.อุดรธานีเป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่องที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดกำจัดไวรัสตับอักเสบ ซึ่งจะมีการดูแลผู้ป่วย 1 รายจนจบกระบวนการรักษา และติดตามอาการต่อเนื่อง
 
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า กลุ่มผู้ต้องขังถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่กำหนดไว้อยู่ในเงื่อนไข แต่ด้วยความอ่อนไหวก็อาจจะเรียกว่าเป็นคนกลุ่มเปราะบาง เพราะเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย โอกาสที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลนอกจากเรือนจำยังยาก ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าศักยภาพในเรือนจำก็อาจจะมีจำกัด
 
อย่างไรก็ดี ผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุดรธานี ร่วมกับโรงพยาบาลอุดรธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด วางระบบการปรึกษาผ่านระบบ Teleconference หรือ Telehealth มีแพทย์หลายด้านพร้อม ให้คำปรึกษาเมื่อต้องการคำปรึกษา หรือเกิดเหตุฉุกเฉิน
 
 นอกจากนี้ ยังมีเครื่องเอกซเรย์ปอดที่สามารถส่งส่งผลขึ้นระบบคลาวด์เพื่อใช้วินิจฉัยได้อีกด้วย ฉะนั้นเมื่อใช้เทคโนโลยีร่วมกับระบบบริหารที่ดีก็สามารถบริหารทรัพยากรแพทย์จากโรงพยาบาล และใช้อุปกรณ์จากเรือนจำจะทำให้คนกลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลเสมอภาคกับคนข้างนอกได้ 
 
“เนื่องจากโรงพยาบาลอุดรธานีเป็นแม่ข่าย รวมไปถึงใช้ระบบการบันทึกข้อมูลของโรงพยาบาล พยาบาลที่อยู่ในเรือนจำก็จะลงทะเบียนเข้าใช้ระบบยืนยันตัวตน ซึ่งจะเหมือนกับการทำงานที่โรงพยาบาล และยังสามารถเชื่อมข้อมูลการรักษาได้ไม่ว่ารักษาที่ไหนก็ตาม” ทพ.อรรถพร ระบุ 
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
 
 

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด