นายสัตวแพทย์ ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สัตวแพทย์บริการวิชาการสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ด้วยการนำระบบ Biosecurity ซึ่งเป็นมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่นำมาใช้ป้องกันโรคระบาดสัตว์ ติดต่อมาถึงสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในฟาร์มได้ ถือเป็นการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ทั้งในการเลี้ยงสุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และเป็นหนึ่งใน 5 หัวใจของการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ พันธุ์ดี-อาหารดี-โรงเรือนดี-การจัดการดี-การป้องกันโรคดี ภายใต้มาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ที่ซีพีเอฟดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้ง 5 หัวใจของการเลี้ยงสัตว์ ระบบ Biosecurity รวมทั้งนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาช่วยดำเนินงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์อัจฉริยะ (Smart Farm) สู่เกษตรกรโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) เพื่อให้ได้ผลผลิตปลอดภัย ปลอดโรค ปราศจากสารตกค้าง ได้มาตรฐาน ร่วมสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหาร
“ปัจจุบันฟาร์มสุกรของซีพีเอฟทั้ง 98 แห่ง ดำเนินมาตรฐานฟาร์มตามแนวทางของกรมปศุสัตว์ และยกระดับมาตรฐานฟาร์มทั้งในส่วนของฟาร์มบริษัท และคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ใช้ระบบไบโอซีเคียวริตี้ 100% เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้สามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด โดยเฉพาะโรค ASF ในสุกร ซึ่งเป็นโรคระบาดสำคัญที่เกษตรกรทุกฟาร์มต้องป้องกันอย่างเข้มงวด เพื่อร่วมสนับสนุนนโยบาย Zero ASF หรือ ASF เป็นศูนย์ ของกรมปศุสัตว์ เพื่อสร้างอาหารมั่นคงแก่ผู้บริโภค ทั้งยังเป็นการปกป้องอาชีพแก่เกษตรกร ทำให้สามารถเดินหน้าอาชีพและสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องต่อไป” น.สพ. ดำเนิน กล่าว
Biosecurity เป็นระบบการจัดการและมาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดต่างๆ ในฟาร์มสุกร โดยทุกฟาร์มต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสุกรในระบบปลอดจากโรค นำไปสู่ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค ระบบดังกล่าวมีองค์ประกอบสำคัญ คือ การเลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิด (EVAP) ที่ช่วยป้องกันสัตว์พาหะนำโรค ทั้งนก หนู แมลง ควบคู่กับการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งวัตถุดิบที่นำมาใช้ภายในฟาร์ม ทั้งอาหาร น้ำ ฯลฯ ควบคุมการเข้า-ออกฟาร์มของบุคลากรและยานพาหนะอย่างเข้มงวด พนักงานทุกคนและรถทุกคันต้องผ่านระบบฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ฟาร์ม รวมถึงกำหนดจุดส่งมอบสุกรแยกจากออกฟาร์มอย่างชัดเจน
ซีพีเอฟ คำนึงถึงความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่ โดยทุกกระบวนการผลิตในโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ ตั้งแต่โรงงานชำแหละ โรงตัดแต่ง โรงงานแปรรูป และศูนย์กระจายสินค้า มีการตรวจเชื้อและสิ่งแปลกปลอม ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ปลอดภัยไม่มีการปนเปื้อน และได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต อาทิ ระบบประกันคุณภาพ (GMP) ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (HACCP) ตอกย้ำความเชื่อมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแก่ผู้บริโภค