ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สปสช. กทม. ยืนยันความพร้อม รองรับสิทธิบัตรทอง

สปสช. กทม. ยืนยันความพร้อม รองรับสิทธิบัตรทอง Thumb HealthServ.net
สปสช. กทม. ยืนยันความพร้อม รองรับสิทธิบัตรทอง ThumbMobile HealthServ.net

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการฯ ชี้แจงเรื่องสิทธิบัตรทองในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในรายการ “บ่ายนี้มีคำตอบ” ออกอากาศสดทางช่อง 9 อสมท. เมื่อ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา

 
 
          สืบเนื่องจาก สปสช.จะยกเลิกสัญญากับโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 65 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าผู้มีสิทธิบัตรทองจากกรณีดังกล่าวได้รับผลกระทบประมาณ 2 แสนคน ซึ่งเลขาธิการ สปสช. ให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมามีผู้ที่ใช้บัตรกับโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งอยู่จริงประมาณ 20,000 คน โดยที่ใช้สิทธิสม่ำเสมอมีประมาณ 4,000 คน  ซึ่งระยะเปลี่ยนผ่าน 1 ตุลาคม - ธันวาคม 65 หากประสงค์ใช้สิทธิกับโรงพยาบาลเดิม สปสช.ยังคงตามไปจ่ายให้ หลังจากนั้นให้เลือกใช้สิทธิกับโรงพยาบาลใหม่ได้  แต่สำหรับ 1.8  แสนคนที่ยังไม่เคยไปใช้สิทธิ สามารถเลือกใช้สิทธิกับโรงพยาบาลใดก็ได้ที่รับสิทธิบัตรทอง  
 
 
 
          ด้านรองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า ปัจจุบันทาง สปสช.พยายามบริหารจัดการทำให้ทุกคนในกรุงเทพฯ มีสิทธิในการรักษาพยาบาลได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม หรือการใช้ประกันของภาคเอกชน  โดยปกติแล้วโรงพยาบาลในสังกัด กทม. รับคนที่สิทธิของสปสช.ได้ทั้งหมด  แต่ สปสช.ก็ยังมีเครือข่ายโรงพยาบาลนอกสังกัด กทม. เอกชน โรงพยาบาลที่เป็นหน่วยงานรัฐอื่น  เพราะฉะนั้นมันต้องเป็นการทำงานในลักษณะเครือข่ายว่าภายใต้การบริหารสิทธิเหล่านั้นทำยังไงให้ประชาชนไม่ติดขัด
 
 
 
 
สปสช. กทม. ยืนยันความพร้อม รองรับสิทธิบัตรทอง HealthServ
           ซึ่งปัจจุบันการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพมหานครอยู่ภายใต้หลากหลายหน่วยงาน เฉพาะโรงพยาบาลที่ กทม.ดูแลมี 12 แห่ง แต่ยังมีสังกัดหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 
 
 
 
          นอกจากนี้ยังมีสถานพยาบาลในรูปแบบอื่นที่เป็นด่านแรก โดยในส่วนของ กทม. ดูแลศูนย์บริการสาธารณสุขซึ่งถือเป็นสถานพยาบาลปฐมภูมิที่มีมาตรฐาน 69 แห่งในพื้นที่ 50 เขต  และมีศูนย์บริการฯสาขาอีก 73 แห่ง ยังไม่รวมคลินิกอบอุ่นที่จดทะเบียนกับ สปสช. อีกกว่า 200 แห่ง และมีร้านขายยาที่มีเภสัชกรให้คำปรึกษาอีก  ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องรองรับการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในกทม. รวมประชากรแฝงแล้วมากกว่า 10 ล้านคน ในทุกๆ สิทธิ เมื่อเปรียบเทียบระบบการให้บริการที่มีกับจำนวนประชากรทำให้ดูเหมือนตึงอยู่เล็กน้อย
 
 
 
          เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับ กทม. มาทำให้เชื่อมั่นว่าปัจจุบันความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพระดับปฐมภูมิของ กทม. มีความชัดเจนและเป็นไปได้ ต่างจากช่วงโควิดระบาดเมื่อ 2 ปีก่อนที่หาเจ้าภาพไม่ได้  ตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้ไปหน่วยให้บริการปฐมภูมิสำหรับบัตรทองใน กทม. จะมีมากกว่า 755 แห่ง ประกอบด้วย ร้านยา 269 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่นมากกว่า 300 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 ศูนย์ พร้อมด้วยศูนย์ฯสาขาอีก 73 แห่ง รวมทั้งคลินิกของโรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วยแล้วก็จะสามารถให้บริการได้ต่อเนื่องตรงตามความต้องการของประชาชน
 
 
 
          เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า พฤติกรรมของประชาชนในปัจจุบันต้องการรับบริการใกล้บ้าน ดังนั้นร้านยาจึงเป็นด่านแรก ด่านที่สองคือคลินิก และด่านที่ 3 ถึงจะเป็นโรงพยาบาล การเดินทางไปโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนคลินิกที่มีอยู่ก็ยังไม่ทั่วถึงมากพอ ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการขยายศูนย์บริการฯ หรือคลินิกให้ครอบคลุมทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหน่วยบริการปฐมภูมิได้ใกล้บ้านที่สุด โดย กทม.มีแนวคิดในการทำ  Mobile Unit หรือหน่วยแพทย์/สาธารณสุขเคลื่อนที่  หรือจะมี  Kiosk เข้าไปตั้งในชุมชนเพื่อให้คุยกับหมอผ่านทาง telemedicine  ก็จะสามารถขยายให้เกิดหน่วยบริการที่เพิ่มขึ้นเป็น 3-4,000 แห่ง ซึ่งในมหานครระดับโลก เช่น ลอนดอน จะใช้อัตราส่วนหน่วยบริการปฐมภูมิต่อประชากร 1 :2,000  ส่วนบ้านเราขณะนี้อยู่ที่ 1: 10,000 ซึ่งไม่ไกลเกินฝันที่กรุงเทพฯ จะพัฒนาเป็นพื้นที่ปฐมภูมิเช่นเดียวกับเมืองชั้นนำทั่วโลก 
 
 
 
          สำหรับสิทธิบัตรทองที่จะได้รับบริการจากหน่วยฯ ปฐมภูมิ อาทิ บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค รับคำปรึกษา ตรวจเบาหวาน –ความดัน และคำแนะนำด้านสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีมากกว่า 700 แห่ง  ส่วนร้านยาคุณภาพก็สามารถให้คำปรึกษาเบื้องต้นและให้ยาไปกินได้สำหรับอาการที่ไม่ต้องไปนอนในโรงพยาบาล ซึ่งในอนาคตหากระบบ  telemed เข้าไปถึงร้านขายยาได้ ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้หมอสามารถให้บริการแบบทางไกลได้เช่นกัน 
 
 
 
          ผศ.ทวิดากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิดทำให้ประชาชนเกิดการรับรู้ใหม่ว่าคลินิกและร้านยาใกล้บ้านก็สามารถพึ่งได้ หากประชาชนมีความมั่นใจในการดูแลของหน่วยบริการสุขภาพเหล่านี้การทำระบบปฐมภูมิก็มีโอกาสสำเร็จได้ ไม่เช่นนั้นก็จะทิ้งร้างไม่ได้ใช้งาน อย่างไรก็ดี หลังเปิดมาแล้วทำให้เห็นปัญหาอุปสรรค เช่น บางหน่วยบริการแน่นมาก บางแห่งสถานที่คับแคบไม่เอื้ออำนวย คุณหมอไม่พอ ขาดแคลนอุปกรณ์ การรอคิวนาน เพราะการไปใช้บริการยังกระจุกตัวอยู่  ซึ่ง กทม.จะต้องพัฒนาศูนย์ฯสาขาทั้ง 73 แห่งให้มีศักยภาพการบริการเป็นศูนย์ฯหลักให้ได้ เพิ่มจากเดิมมีอยู่ 69 ศูนย์ฯ  ก็จะบริการครอบคลุมได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการตรวจสุขภาพ รักษาเบื้องต้น การควบคุมป้องกันโรค การบริการทันตกรรม คลินิกดูแลเด็ก ตรวจครรภ์ การให้บริการวัคซีน หากสามารถทำมาตรฐานให้ครอบคลุมคลินิกอบอุ่นและร้านยาต่างๆ ด้วย  ในอนาคตจะสามารถให้บริการทั่วถึง ซึ่งจะต้องพึ่งความสามารถของบุคลากร และทำให้มีบุคลากรมีเพียงพอด้วย
 
 
 
          ทั้งนี้  กทม.ได้เปิด  sandbox เพื่อทดลองระบบเหล่านี้ไปแล้ว 2 แห่ง คือดุสิตโมเดล ดูแลเขตพระนคร ดุสิต บางซื่อ และบางพลัด โดยมีวิชรพยาบาลเป็นแม่ขายอยู่เบื้องหลัง  และราชพิพัฒน์แซนบอกซ์สำหรับพื้นที่บางแค หนองแขม ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ภาษีเจริญ โดยมีรพ.ราชพิพัฒน์เป็นแม่ข่ายดูแล ซึ่งเป็นความพยายามทำให้ระบบปฐมภูมิซึ่งเป็นหน้าด่านมีความแข็งแรงขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ระบบหลักในโรงพยาบาลมีความพร้อมรองรับกรณีต้องส่งต่อด้วยเช่นกัน
 
 
 
          รองผู้ว่าฯ กทม.  กล่าวว่า ปัจจุบันมี หลายหน่วยงานรวมทั้งกรุงเทพมหานครพยายามทำช่องทางและระบบบริการการข้อมูลสุขภาพขึ้นมา เช่น กทม. มี  แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.”  ยังไม่รวมแอปย่อยๆ ของแต่ละโรงพยาบาล สปสช.มี 1330  และศูนย์ฉุกเฉินด้านการแพทย์มี 1669 แต่เมื่อเราทำ  Sand box ทำให้เราได้เห็นทั้งหมดว่าจะต้องนำมาเชื่อมโยงกัน จากนี้ไปหลังบ้านจะต้องมาคุยกันเพื่อเชื่อมระบบเข้าหากัน และบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน  โดยจะต้องเป็นระบบที่ประชาชนเข้าแล้วไม่ต้องนั่งเลือก   
 
 
 
          ขณะนี้กรุงเทพมหานครกำลังทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยจัดทำแผนที่ทรัพยากรสาธารณสุข ให้เห็นว่ามีศูนย์บริการฯอยู่ตรงไหน รองรับประชาชนได้แค่ไหน  ในส่วนของประชาชนที่เป็นโรคที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะทาง เช่น โรคมะเร็ง ไต หัวใจ ฯลฯ ซึ่งมีความต้องการพบหมอมากกว่า การจะให้บริการผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ จำเป็นต้องปรับระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเร็วขึ้น  ขณะเดียวกันก็เพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาล เพิ่มเตียง เพิ่มระบบที่ทันสมัย และเชื่อมต่อเครือข่ายกับโรงพยาบาลอื่นๆ ให้เข้มแข็งขึ้น ขณะนี้ทางรพ.ของสนพ.กทม. กำลังเพิ่มศักยภาพ ขณะนี้มีการเพิ่มจำนวนเตียงเป็น 2,587 เตียง จากข้อมูลเบื้องต้น สามารถแบ่งการบริหารจัดการเตียงให้ประชากรกลุ่มที่ใช้สิทธิ์บัตรทองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 ในแต่ละโรงพยาบาล จะทำให้สามารถรับส่งต่อประชากรได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 516,000 คน ถ้าสปสชประสานรพ.สังกัดอื่นๆด้วยแล้ว การบริหารจัดการประชากรกลุ่มรับส่งต่ออีก 690,000 คนจึงคาดการณ์ว่าน่าจะบริหารจัดการร่วมกันได้ และจะช่วยกันพยายามให้มีปัญหาน้อยที่สุด
 
 
 
          “หากเราทำทุกอย่างที่คุยกันนี้ได้ ไม่เพียงแค่ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังสามารถตอบสนองการให้บริการด้านสุขภาพให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง ให้ประชาชนได้ “ใกล้หมอ” ได้มากขึ้นในเวลาที่เร่งด่วนอีกด้วย” ผศ.ทวิดา กล่าว  

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด