กรณีจับกุม น.ส. กัลยา (สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี และ น.ส.จรรยมณฑน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี โดยกล่าวหาว่า "ร่วมกันประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต"
และ น.ส. กัลยา (สงวนนามสกุล) ยังถูกจับกุมดำเนินคดีอีกใน 3 ฐานความผิด คือ "ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510"
สืบเนื่องจากกองกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับแจ้งจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพว่าผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ “
WA Janya” ให้บริการฉีดโบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ นอกสถานที่ โดยบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ โดยโฆษณาว่า ฉีดกับพยาบาล (สามารถเช็คใบประกอบวิชาชีพได้ ประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ) เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่ ที่ใช้นัดหมายกลุ่มผู้ใช้บริการ
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้าตรวจสอบห้องเลขที่ 19/8 ชั้น 2 คอนโด ยู วิภา-ลาดพร้าว ซอยวิภาวดี 20 แขวงจอมพล เขตจตุจัตร กรุงเทพมหานคร พบว่า มีการให้บริการฉีดโบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ ให้กลุ่มผู้รับบริการจริง พบ น.ส.กัลยา (สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี และ น.ส.จรรยมณฑน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี และพบยาแผนปัจจุบัน ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา รวมถึงอุปกรณ์การให้บริการ และเวชภัณฑ์ในลักษณะเตรียมพร้อมสำหรับผู้มารับบริการ จำนวน 21 รายการ
เมื่อขอตรวจสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของ นางสาว กัลยา (สงวนนามสกุล) ได้นำใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ใบอนุญาตที่ 5511236602 ออกให้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 มาแสดงกับเจ้าหน้าที่ โดยสถานที่ดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจับกุมตัวผู้ต้องหาพร้อมตรวจยึดองกลางส่งพนักงานสอบสวน กก.4 ดำเนินคดี
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 16 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พลตำรวจตรีอนันต์ นานาสมบัติ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชน ควรศึกษาข้อมูลคลินิก แพทย์และขั้นตอนการรักษาให้ดีก่อนที่จะเข้ารับบริการเสริมความงามเนื่องจากการเสริมความงานเป็นขั้นตอนและวิธีการที่จะต้องใช้ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและเกิดผลกระทบกับร่างกายโดยตรง และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การฉีดสารเสริมความงามนั้น ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องกระทำโดยแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพ และต้องให้บริการภายในสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีการให้บริการเดินสายให้บริการนอกสถานที่แต่อย่างใด ซึ่งการฉีดสารเสริมคงามงามด้วยบุคคลที่มิใช่แพทย์นั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกาย จนเกิดความพิการ หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต จากการที่สารเสริมความงามรั่วไหลเข้าไปอุดตันในเส้นเลือดจนตาบอด หรือเกิดการติดเชื้อ จึงขอแนะให้ประชาชนทุกท่านเลือกรับบริการเสริมความงามกับสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนอย่าวถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับอันตรายจากบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลเอกชน หรือมีเบาะแสการกระทำผิดของหมอเถื่อน หมอกระเป๋า สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 เพื่อตรวจสอบให้ความเป็นธรรม และนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ข้อมูลและภาพจาก เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค
23 กันยายน 2565