สตอกโฮล์ม, 31 ตุลาคม 2565 /พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
1 ใน 10 ของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า[1] โดยมีมากถึง 48% ที่มีอาการวิตกกังวล[2] ผลกระทบต่อสภาพจิตใจเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่าเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้
แน่นอนว่ามีหลายเหตุผลว่าทำไมโรคสะเก็ดเงินจึงทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล เพราะโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคนี้จึงต้องมักเผชิญกับความอัปยศอดสู อาการของโรคอาจถือได้ว่าทำให้ผู้ป่วยดูอัปลักษณ์ และหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคติดต่อ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการคันหรือข้ออักเสบยังต้องเผชิญกับความเจ็บปวดและความไม่สบายกายอยู่เป็นประจำทุกวันอีกด้วย และเมื่อมีค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นแต่รายได้ลดลงอันเนื่องมาจากความทุพพลภาพและการถูกเหยียดหยาม ก็ยิ่งทำให้เกิดความเครียดเรื่องการเงินมากขึ้นไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น โรคสะเก็ดเงินที่มีอาการเห่อแบบคาดเดาไม่ได้จะทำให้ผู้ป่วยมีความตื่นตัวอยู่ตลอด ด้วยเหตุผลเหล่านี้และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้ผู้ป่วย 81% รายงานว่าโรคสะเก็ดเงินส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ ความใกล้ชิด และความสุข[3]
อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอกไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลในหมู่ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินเท่านั้น แต่อาการอักเสบที่ก่อโรคสะเก็ดเงินเองก็เป็นปัจจัยภายในร่างกายที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจึงมักรายงานว่าตัวเองรู้สึกเหมือนตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ กล่าวคือ โรคสะเก็ดเงินทำให้เกิดภาวะซึมเศร้ากับความวิตกกังวล แล้วความวิตกกังวลกับภาวะซึมเศร้าก็ยิ่งทำให้อาการโรคสะเก็ดเงินแย่ลงไปอีก
ดังนั้น สำหรับวันสะเก็ดเงินโลกในปี 2565 นี้ IFPA องค์กรระดับโลกที่ต่อสู้กับโรคสะเก็ดเงินจึงร่วมแรงร่วมใจยกระดับสุขภาพจิตสำหรับทุกคนที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าว
คุณฟรีดา ดุงเงอร์ ยูห์นสัน (Frida Dunger Johnsson) กรรมการบริหารของ IFPA อธิบายว่า "เมื่อหมอผิวหนังและหมอรักษาโรคไขข้อรู้ว่าผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานมากกว่าแค่อาการทางร่างกาย คุณหมอควรให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วย โดยในบางกรณีอาจหมายถึงการปรับกระบวนการรักษา เราทราบว่าการรักษาที่เหมาะสมจะช่วยลดการอักเสบและช่วยให้สภาพจิตใจและร่างกายดีขึ้นด้วย"
เข้าร่วมกับ IFPA เพื่อแชร์ข้อความเกี่ยวกับสุขภาพจิตและโรคสะเก็ดเงิน โดยเข้ามามีส่วนร่วมกันได้ที่
psoriasisday.org
[1] Dowlatshahi, E. A., Wakkee, M., Arends, L. R. & Nijsten, T. The prevalence and odds of depressive symptoms and clinical depression in psoriasis patients: A systematic review and meta-analysis. Journal of Investigative Dermatology 134, 1542–1551 (2014).
[2] Fleming, P. et al. The prevalence of anxiety in patients with psoriasis: a systematic review of observational studies and clinical trials. Journal of the European Academy of Dermatology and Venereology vol. 31 798–807 (2017).
[3] IFPA | Psoriasis and Beyond: The global psoriatic disease study. https://ifpa-pso.com/projects/psoriasis-and-beyond.