เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 สำนักงานองค์การอนามัยโลก ได้รายงานการพบเด็กติดเชื้อโปลิโอสายพันธุ์กลายพันธุ์ชนิดที่ 2 (cVDPV2) ในจังหวัดอาเจะห์ (Aceh) ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ และในเวลาต่อมายังพบผู้ป่วยเพิ่มอีก 3 ราย ในพื้นที่เดียวกัน โดยพื้นที่ดังกล่าวมีระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำอย่างต่อเนื่อง และมีปัญหาการไม่เข้ารับวัคซีนจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้สูง
23 ธันวาคม 2565 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ของโรคโปลิโอทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่พบการระบาดในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำ หากมีการเดินทางของผู้ติดเชื้อโปลิโอจากพื้นที่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยอาจเกิดการระบาดในพื้นที่มีระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำได้
กรมควบคุมโรค ได้แจ้งให้หน่วยงานในพื้นที่ติดตามเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนล่าช้า มารับวัคซีนอย่างเร่งด่วนเพื่อยกระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนให้สูงเพียงพอต่อการป้องกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า ด้วยในขณะนี้ได้มีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 อีกทั้งมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น จึงมีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสโปลิโออาจจะแพร่เข้ามาในประเทศโดยผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่มีการระบาดของโรค การเร่งรัดความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในเด็กกลุ่มเป้าหมาย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว เนื่องจากโรคโปลิโอเป็นโรคที่มีความรุนแรง หากมีการระบาดอาจส่งผลต่อระบบสาธารณสุข ซึ่งประเทศไทยได้มีแผนการรณรงค์ให้วัคซีนเสริมในเด็กไทยและเด็กต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเพื่อเป็นการเพิ่มความครอบคลุมและยกระดับภูมิคุ้มกันให้เพียงพอต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ชนเมธ เตชะแสนศิริ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ได้กล่าวว่า โรคโปลิโอเป็นโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบของไขสันหลังซึ่งเป็นสาเหตุให้มีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อ อาจถึงขั้นพิการตลอดชีวิตหรือเสียชีวิต ติดต่อจากคนสู่คนผ่านการรับประทานอาหาร หรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อ ปัจจุบันโรคโปลิโอยังไม่มียารักษาให้หายขาด การเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค โดยในปัจจุบันมีวัคซีน 2 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV) และวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนตามกำหนดการให้วัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ รวมทั้งการป้องกันด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น ล้างมือ รับประทานอาหารและดื่มน้ำสะอาดถูกสุขลักษณะ ขับถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโปลิโอ