จากกรณีคลิปวีดีโอของสาวคนหนึ่ง แต่งกายคล้ายชุดพยาบาล บนหัวใส่หมวกพยาบาล และแขวนป้ายชื่อที่คอ ส่วนในมือถือขวดเบียร์ที่ใช้หลอดดูดจนหมดขวด ในห้องลักษณะคล้ายที่ทำงาน โดยหลังจากที่เจ้าตัวโพสต์คลิปนี้ ก็ถูกชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม จนตอนนี้ผู้โพสต์ปิดบัญชีติ๊กต็อกไปแล้ว แต่ชาวเน็ตยังบันทึกวิดีโอนี้ไว้ได้ทัน ส่วนอีกคลิปหนึ่ง เป็นคลิปของสาวแต่งกายคล้ายชุดพยาบาลอีกคน กำลังเปิดฝาขวดเหล้าเทใส่แก้ว และชนแก้วกับอีกหลายคนในวง และมีการเต้น โยกตามจังหวะเพลง
เบื้องต้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคลิปทั้ง 2 คลิปนี้ ถูกระบุว่า อยู่ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา
วันที่ 3 มกราคม 2566 สสจ.อยุธยา ยอมรับคลิปสาวสวมชุดพยาบาลกินเบียร์ใน รพ. เป็นเรื่องจริง โดย นายแพทย์ ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นจากคลิปดังกล่าว เป็นการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ในโรงพยาบาลจริง โดยในวันนี้ได้มีการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวร่วมกับ ตัวแทนของสภาการพยาบาล และผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันโรคที่ 5 โดยได้พิจารณาความผิดตามพระราชบัญญัติ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งตามมาตรฐานการให้บริการถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
เบื้องต้นทางผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว มีคำสั่งให้ผู้อยู่ในคลิป พักงานไว้ก่อน พร้อมตั้งคณะสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น และจะได้สอบสวนร่วมกับทางโรงพยาบาลเอกชน เพื่อพิจารณาการกระทำความผิดและส่งต่อข้อมูลให้กับสภาการพยาบาลพิจารณาการทำหน้าที่พยาบาลต่อไป [สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา]
สภาการพยาบาล
ออกแถลงการณ์ผ่านเพจของสภา ระบุว่า จะเร่งดำเนินการสืบสวน ทันที
"จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสังคมออนไลน์ เป็นวิดีโอคลิปและภาพบุคคลที่แต่งกายชุดพยาบาล กำลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ทำงาน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 นั้น สภาการพยาบาลได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นแล้ว และมอบหมายให้ผู้แทนสภาการพยาบาลประจำจังหวัด ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด ซึ่งสภาการพยาบาลจะดำเนินการแถลงข้อเท็จจริง เพื่อพิทักษ์สิทธิ์แห่งวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ต่อไป - สภาการพยาบาล"
รพ.ราชธานี สั่งพักงาน17คน แก๊งพยาบาล ดื่มเหล้าคารพ. สาวในคลิปชิงลาออกแล้ว
3 ม.ค. ที่โรงพยาบาลราชธานี จ.พระนครศรีอยุธยา นายเอนก มุ่งอ้อมกลาง ผอ.สำนักงานป้องกันโรคที่ 4 จ.สระบุรี ผู้แทนสภาพยาบาลประจำจังหวัด พร้อมด้วย นพ.ชัชรินทร์ ปิ่นสุวรรณ ผอ.โรงพยาบาลราชธานี คณะผู้บริหาร ร่วมกันประชุมสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นพ.ชัชรินทร์ กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลรู้เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ปรากฏการแสดงที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นในสถานพยาบาล เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.65 เวลาประมาณ 17.00 น. ทันที่เราทราบเรื่องและเห็นปรากฏตามสื่อโซเชียล เราได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันทีในเบื้องต้น ซึ่งเป็นช่วงของวันหยุด มีบุคลากรการทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด 17 คน สั่งพักงานทันที พร้อมกับหาข้อเท็จจริง วันนี้เป็นวันทำงานจึงได้สอบข้อเท็จจริงจากผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งเกือบครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ทุกคนที่ปรากฏในคลิปเป็นการกระทำที่ผิดไม่เหมาะสม กระทบต่อสถานพยาบาลและกลุ่มเพื่อร่วมวิชาชีพเดียวกัน ตัวน้องพยาบาลที่อยู่ในความเครียดอย่างมากและขอแสดงความเสียใจ พร้อมขอโทษผู้เกี่ยวข้อง และแสดงรับผิดชอบด้วยการลาออกแล้ว [
Dailynews]
พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามดื่มในสถานพยาบาล
พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 (มีผลบังคับตั้งแต่ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 ) กำหนดสถานที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังนี้
ห้ามขายในสถานที่หรือบริเวณรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้า หรือสโมสร
ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน โดยไม่ใช้บังคับกับโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ดำเนินการเป็นปกติธุระในทางการค้าของโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสวนสาธารณะของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนโดยทั่วไป
ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ที่อยู่ในกำกับดูแล และใช้ประโยชน์ของราชการ นอกเหนือจากสถานที่ราชการตามมาตรา27(3)
ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ที่อยู่ในกำกับดูแลและใช้ประโยชน์ของ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟตามกฎหมายว่าด้วยจัดวางการรถไฟและทางหลวง
ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณท่าเรือโดยสารสาธารณะ หรือบนเรือโดยสารสาธารณะประจำทาง
ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก, ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณสถานีขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 30 ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะ ดังต่อไปนี้
- ใช้เครื่องขายอัตโนมัติ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- การเร่ขาย
- การลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย
- ให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงโชค การชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแก่ผู้นำหีบห่อหรือสลากหรือสิ่งอื่นใดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาแลกเปลี่ยนหรือแลกซื้อ
- โดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกับสินค้าอื่น หรือการให้บริการอย่างอื่นแล้วแต่กรณี หรือแจกจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะเป็นตัวอย่างของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นการจูงใจสาธารณชนให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการขายในลักษณะที่เป็นการบังคับซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยทางตรงหรือทางอ้อม
- โดยวิธีหรือลักษณะอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ผู้ใดฝ่าฝืน (2) (3) (4) (5) (6) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 31 ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้
- วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
- สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลและร้านขายยา ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล
- สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร
- สถานศึกษา ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคลหรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตาม
ประเพณี หรือสถานศึกษาที่สอนการผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าการศึกษาแห่งชาติ
- สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือร้านค้าในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
- สวนสาธารณะของทางราชการที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชน
- สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
7.1) ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ
7.2) ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ดังต่อไปนี้ ยกเว้น บริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี
7.2.1) พื้นที่ที่อยู่ในกำกับดูแลและใช้ประโยชน์ของราชการ
7.2.2) พื้นที่ที่อยู่ในกำกับดูแลและใช้ประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
7.3) ในบริเวณท่าเรือโดยสารสาธารณะหรือบนเรือโดยสารสาธารณะประจำทาง
7.4) บริเวณสถานีขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
7.5) บนทางในขณะขับขี่หรือในขณะโดยสารอยู่ในรถ หรือบนรถ
7.6) ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน โดยไม่ใช้บังคับกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นขั้นตอนของการผลิตหรือรักษามาตรฐานการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ