8 มีนาคม 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมแถลงข่าว ความคืบหน้าให้ผู้มีสิทธิประกันสังคม ข้าราชการ ใช้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบ สปสช. “เตรียมเสนอร่างพระราชกฤษฎีกามอบ สปสช.ดูแลงบสร้างเสริมสุขภาพแก่คนไทยทุกคน
นพ.โอภาส กล่าวว่า งบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง วงเงินรวมทั้งหมด 204,140.03 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) ประมาณ 10% หรือ 21,381.11 ล้านบาท แยกเป็น งบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับประชาชนในสิทธิบัตรทอง 16,235.07 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ได้อนุมัติดำเนินการดูแลประชาชนในสิทธิบัตรทองไปแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 5,146.04 ล้านบาท หรือ 2.5% ของงบภาพรวมทั้งหมด สำหรับสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคกลุ่มประชาชนนอกสิทธิบัตรทอง คือ ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาอาจไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำให้ต้องมีการชะลอการจัดสรรงบประมาณเฉพาะส่วนนี้ แต่กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้หน่วยบริการในสังกัดยังคงให้บริการประชาชนทุกสิทธิตามปกติ ส่วนหน่วยบริการนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทาง สปสช.เป็นผู้ประสานให้บริการตามปกติเช่นกัน ดังนั้น ยืนยันว่าประชาชนทุกคนทุกสิทธิยังสามารถเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้
ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ บอร์ด สปสช. ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบหมายให้ สปสช. หารือกับหน่วยงานที่ดูแลกองทุนสุขภาพของกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทอง อาทิ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม เป็นต้น ออกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดสิทธิรับบริการสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในการดูแลของกองทุนนั้นๆ สามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ได้ โดยได้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อจัดทำร่าง พ.ร.ฎ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสิ้น 6 ฉบับ และขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้ประชาชน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้ไม่ใช้สิทธิบัตรทองได้เข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่จำเป็นโดยเร็ว ในวันพรุ่งนี้ (9 มีนาคม 2566) บอร์ด สปสช. จะมีการประชุมวาระด่วนพิเศษผ่านระบบ Zoom พิจารณาการดำเนินการตามมาตรา 9 และมาตรา 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เพื่อส่งให้ ครม. พิจารณา
“เมื่อดำเนินการเรื่องนี้แล้วเสร็จ โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เท่ากับว่าต่อไปในอนาคต ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก หน่วยบริการสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากมีหลักประกันที่เป็นข้อกฎหมายรองรับไว้แล้ว ต่อไปคนไทยทุกคนก็จะได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
สำหรับการแสดงความคิดเห็น ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดสิทธิรับบริการสาธารณสุข 6 ฉบับ ประกอบด้วย
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 10 มีนาคม 2566 เปิดรับความคิดเห็น
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 13 มีนาคม 2566 เปิดรับความคิดเห็น