รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ และอาจารย์ประจำหน่วยวิชาระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ เพราะเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก (เล็กกว่าเส้นผมถึง 20 กว่าเท่า) เมื่อหายใจเขาไปแล้ว สามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ปอดและหลอดลมได้
แต่ที่ร้ายยิ่งกว่า PM 2.5 คือ PM 0.1 ซึ่งเป็นฝุ่นละเอียดขนาดเล็กมาก เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 0.1 ไมครอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน PM2.5 สามารถทะลวงผ่านถุงลมเข้าสู่ระบบเลือดไปได้ทุกส่วนของร่างกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจและสมองอุดตัน ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ทั้งนี้มีงานวิจัยของจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้ยืนยันแล้วว่า เมื่อคุณภาพอากาศเลวลง อัตราการเข้ารับบริการ ณ ห้องฉุกเฉินและการเข้าอยู่ในโรงพยาบาลจะสูงขึ้น เพราะมลพิษทำให้ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่กำเริบขึ้น ทั้งยังเป็นสาเหตุทำให้หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ หอบหืดกำเริบ รวมทั้งอาการอื่นๆและการเพิ่มขึ้นของการเสียชีวิตได้อีกด้วย
เช่นเดียวกับสถานการณ์ปัจจุบันของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ พบว่าในช่วงที่มลพิษอากาศฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างชัดเจน มีผู้ป่วยที่อาการกำเริบเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลยังห้องฉุกเฉินเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถเข้านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ เนื่องจากหอผู้ป่วยเต็มอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง และบุคคลในครอบครัวเพื่อรับมือกับฝุ่น PM2.5 สังเกตตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้แนะนำว่าให้หมั่นตรวจสอบปริมาณฝุ่น PM2.5 ในอากาศ ถ้าระดับเกิน 35 ไมโครกรัม/ลบ.เมตรตามมาตรฐานสหรัฐอเมริกา ประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรลดการทำกิจกรรมนอกอาคาร หากเกินระดับเกินประมาณ 50 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคาร และหากเกิน 150 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ควรงดการออกนอกอาคาร ปิดประตูหน้าต่างมิดชิด อยู่แต่ภายในบ้าน หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมใส่หน้ากากที่ป้องกัน PM 2.5 ได้ และต้องสวมหน้ากากให้ถูกต้อง เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันอย่างถูกวิธี สำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ควรได้รับการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด
ข่าวและภาพ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่