นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy) เป็นยาเสพติดตัวเดียวกัน และเป็นยาเสพติดให้โทษร้ายแรง การใช้เสพอาจอันตรายถึงตายได้
ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy) มีลักษณะเป็นเม็ดกลมแบน ด้านหนึ่งนูนหรือเรียบ หรือมีขีดแบ่งครึ่ง อีกด้านหนึ่งมีสัญลักษณ์บนเม็ดยาเป็นรูปต่างๆ เช่น ค้างคาว นก ดวงอาทิตย์ เป็นต้น ยาอีมีฤทธิ์หลอนประสาทและกระตุ้นประสาท เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ภายในเวลา 30 - 45 นาที และฤทธิ์ของยาจะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6-8 ชั่วโมง โดยออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทในระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นจะหลอนประสาทอย่างรุนแรง ผู้เสพจะรู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การได้ยินเสียง และการมองเห็นแสงสีต่าง ๆ ผิดไปจากความเป็นจริงเคลิบเคลิ้ม รู้สึกตื่นตัวตลอดเวลาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ซึ่งในปัจจุบันมีการลักลอบนำยาอีบดเป็นผงบรรจุลงในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ซองคอลลาเจน ซองกาแฟ ซองเครื่องดื่มเกลือแร่ โดยพบว่ามีการวางขายในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่กำลังฮิตในกลุ่มวัยรุ่น
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาอีที่ถูกลักลอบบรรจุลงในผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ววางขายในช่องทาง
สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) กันอย่างแพร่หลาย ทำให้ตรวจสอบได้ยาก เมื่อเสพยาอีเข้าไปจะทำลายระบบประสาท ทำให้เซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่หลั่งสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์ทำงานผิดปกติ โดยจะหลั่งสารนี้ออกมามากกว่าปกติทำให้สดชื่น อารมณ์ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปสารดังกล่าวจะลดน้อยลง ทำให้ผู้เสพเข้าสู่สภาวะอารมณ์เศร้าหมองหดหู่ เกิดอาการซึมเศร้า และอาจกลายเป็นโรคจิตประเภทซึมเศร้า (Depression) มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ และยังทำให้การนอนหลับผิดปกติ เวลาการนอนลดลง หลับไม่สนิท อ่อนเพลียขาดสมาธิ ในการเรียนและทำงาน บางรายนิยมเสพพร้อมกับดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพยาชนิดอื่นร่วมด้วย อาจทำให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้
แนะให้ช่วยกันสอดส่องและแจ้งเบาะแส เพื่อลดการแพร่กระจายของยาอีที่อยู่ในรูปแบบซองคอลลาเจน และซองกาแฟ หรือหากคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมเสี่ยงและพบสิ่งต้องสงสัย ควรพูดคุยด้วยเหตุผลไม่ใช้ความรุนแรง บอกกล่าวถึงผลเสียต่อสุขภาพรวมถึงอันตรายที่จะตามมา และรีบพาไป พบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา
สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th