วันที่ 29 เมษายน 2566 เวลา 23.00 น. เครื่องบิน Airbus A340-500 กองทัพอากาศ นำคนไทยผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ สู้รบในสาธารณรัฐซูดาน กลุ่มที่สอง อพยพกลับประเทศไทยมาถึงท่าอากาศยาน กองทัพอากาศ กองบิน 6 ดอนเมือง รวม 135 คน แบ่งเป็น ผู้ชาย 73 คน และผู้หญิง 62 คน เป็นสัญชาติไทย 132 คน ต่างชาติ 3 คน เป็นคน สัญชาติอินโดนีเซีย 1 คน และสัญชาติจีน 2 คน (ทั้ง 3 คน เป็นสมาชิกครอบครัวคนไทย) ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค จัดทีมชุดปฏิบัติการตรวจคัดกรองสุขภาพ โรคติดต่อทางเดินหายใจ และโรคไข้เหลือง ในผู้เดินทาง 135 คน ไม่พบผู้มีอาการไข้เหลือง แต่พบผู้มีอาการทางเดินหายใจ 23 ราย เป็นชาย 11 ราย หญิง 12 ราย อายุเฉลี่ย 24 ปี (1-53 ปี) มีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก
ทีมชุดปฏิบัติการพิเศษได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาไวรัสทางเดินทายใจ 24 ชนิด รวมทั้งตรวจโรคโควิด 19 และโรคเมอร์ส ที่ห้องปฏิบัติการสถาบันบำราศนราดูร ไม่พบเชื้อเมอร์ส แต่พบเชื้อโควิด 19 จำนวน 2 ราย และพบเชื้อไวรัสทางเดินหายใจทั่วไปอีก 9 ราย ได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวและการดูแลสุขภาพ การป้องกันส่วนบุคคล และการพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งอาการจะดีขึ้นและหายได้เอง โดยกรมควบคุมโรคจัดเตรียมอาหารฮาลาลและที่พักชั่วคราว รองรับผู้อพยพ ณ อาคาร Quarantine Center สถาบันบำราศนราดูร รวม 74 คน ก่อนจะให้เดินทางกลับภูมิลำเนา
ประเมินคัดกรองสุขภาพจิต
สำหรับการประเมินคัดกรองสุขภาพจิต มีผู้รับการประเมิน 109 ราย แบ่งเป็น อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 2 ราย ผลประเมินสุขภาพจิตปกติ และอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป จำนวน 107 ราย ผลประเมินปกติ จำนวน 97 ราย และพบความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตจำนวน 10 ราย ในจำนวนนี้มีความเครียดสูง 2 ราย ทำให้มีปัญหาการนอนและไม่มีสมาธิ อีก 8 ราย มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) โดยหวนนึกถึงเหตุการณ์ รู้สึกตกใจง่าย ได้แนะนำการรับบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และวางแผนส่งต่อข้อมูลให้ศูนย์สุขภาพจิต ที่ 12 ติดตามดูแลต่อเนื่องใน 2 สัปดาห์
หากครอบครัวและผู้ประสบภัยมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422