นายวรวุฒิ กุลแกล้ว เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมกับมูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ ผลักดันนวัตกรรมรากฟันเทียม ที่เป็นฝีมือคนไทยที่ผลิตขึ้นมาจนได้รับมาตรฐาน และนำไปเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนสิทธิบัตรทอง โดยเป็นการให้บริการรักษาฟันด้วยรากฟันเทียมให้กับผู้สูงอายุโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้ง ประเทศไทยยังถือเป็นประเทศที่ 2 ในทวีปเอเชียที่ผลิตรากฟันเทียมที่ได้มาตรฐานเพื่อใช้งานได้เองถัดจากประเทศเกาหลีใต้
ทั้งนี้ นวัตกรรมรากฟันเทียมที่เป็นฝีมือของคนไทยผลิตขึ้นได้เอง เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2548 ที่ทรงห่วงใยราษฎร และมีพระประสงค์ให้ผู้สูงอายุได้มีสุขภาพช่องปากที่ดี โดยเฉพาะกับการได้รับรากฟันเทียมอย่างเท่าเทียม ดังนั้น จึงเกิดการวิจัยเพื่อผลิตรากฟันเทียมขึ้นในประเทศไทยจากนักวิจัยในมูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ ที่ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ จาก 3 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กระทั่งสามารถผลิตขึ้นได้เอง และมีการทดลองทางคลินิคจนได้ผลเป็นอย่างดี จึงมีการขอรับรองมาตรฐานสากลจากทุกองค์กรด้านทันตกรรมต่างๆ ทั่วโลก
นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า ผลจากการวิจัยและผลิตนวัตกรรมรากฟันเทียมขึ้นมาจนสำเร็จ และถูกบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์สำหรับสิทธิบัตรทอง จะทำให้คนไทยได้เข้าถึงบริการรักษารากฟัน ที่จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพ เพราะการใช้รากฟันเทียมที่ผลิตขึ้นได้เอง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ารากฟันเทียมจากต่างประเทศ ที่มีราคาสูงถึงชิ้นละประมาณ 4-5 หมื่นบาท ที่สำคัญ รากฟันเทียมที่ผลิตได้เองจะมีราคาถูกลงเหลือเพียงชิ้นละประมาณ 3,000 บาทเท่านั้น
"ที่ผ่านมาการรักษารากฟันเทียม จะอยู่ในกลุ่มคนที่มีกำลังจ่าย เพราะราคาค่ารักษาค่อนข้างแพง เพราะรากฟันเทียมต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งจากเยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ หรือในสหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ด้วย ดังนั้น การที่ประเทศไทยผลิตรากฟันเทียม และได้รับมาตรฐานจากทุกองค์กรด้านทันตกรรมทั่วโลก และผลักดันให้นวัตกรรมนี้ไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์สำหรับสิทธิบัตรทอง ก็จะช่วยให้การรักษาฟันโดยการใช้รากฟันเทียม เข้าถึงประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุได้มากขึ้น เพื่อให้มีสุขภาพช่องปากที่ดี และกินอาหารได้ตามปกติ" เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ กล่าว
นายวรวุฒิ กล่าวด้วยว่า สำหรับรากฟันเทียมที่เป็นนวัตกรรมจากฝีมือคนไทย ปัจจุบันชื่อรุ่นว่า PRK ที่ย่อมาจากคำว่า พระรามเก้า เพื่อแสดงให้เห็นถึงจุดริเริ่มโครงการที่มาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมูลนิธิทันตนวัตกรรมมีโรงงานผลิตอยู่ที่อ.สามพราน จ.นครปฐม ปัจจุบันสามารถผลิตรากฟันเทียมได้ปีละ 1 แสนชิ้น โดยส่วนใหญ่จะนำมาใช้กับผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการรักษารากฟันเทียมตามสิทธิบัตรทองในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข อีกส่วนหนึ่งจะมีตัวแทนจำหน่ายให้กับคลินิคทันตกรรมของภาคเอกชน และบางส่วนจะมีการจำหน่ายให้กับต่างประเทศ ในรูปแบบโครงการต่างๆ ทีร่วมมือกันระหว่างรัฐ
"รากฟันเทียมฝีมือคนไทยถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยแล้วกว่า 5 หมื่นคน หรือคิดเป็นประมาณกว่า 1 แสนชิ้นผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันเป็นการบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ในสิทธิบัตรทอง ตามโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุที่ผ่านการวินิจฉัยจากทันตแพทย์ว่าควรได้รับรากฟันเทียม ก็จะได้รับการรักษาทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะทำให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาช่องปาก สุขภาพฟันที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ได้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีมากขึ้น" นาวรวุฒิ กล่าว
ข่าวและภาพ The Coverage