ข้าวพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ร่วมมือกับคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการปรับปรุงพันธุ์ โดย รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ยื่นจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จากนั้นได้ทำการศึกษาเพาะปลูก จนสามารถส่งเสริมให้เกิดการเพาะปลูกได้อย่างกว้างขวาง
ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของ “ข้าวไรซ์เบอร์รี่” ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก โดยตลาดเป้าหมายที่สำคัญของข้าวไรซ์เบอร์รี่ แบ่งออกเป็น 2 ตลาดใหญ่ ๆ คือ
1. ข้าวไรซ์เบอร์รี่สำหรับบริโภค
ข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นข้าวที่พัฒนาสายพันธุ์โดยคนไทย ทำให้มีความแตกต่างจากข้าวทั่วๆไปในท้องตลาด โดยเฉพาะคุณสมบัติที่โดดเด่นเรื่องการต้านอนุมูลอิสระส่งผลให้ตลาดข้าว ไรซ์เบอร์รี่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ และเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนรักสุขภาพ
2. ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวไรซ์เบอร์รี่
จากจุดเด่นเรื่องสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้มีการนำข้าวไรซ์เบอร์รี่ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เช่น น้ำมันรำข้าว วุ้นข้าวไรซ์เบอร์รี่ ไอศกรีมจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ ฯลฯ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ดูจะทำเงินให้แก่เกษตรกรมากคือ การแปรรูปเป็นน้ำมันรำข้าวไรซ์เบอร์รี่ และนำไปจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
หัวใจแห่งความสำเร็จของ “ข้าวไรซ์เบอร์รี่” คือ ประสิทธิภาพในการ “ต้านอนุมูลอิสระ” โดยจากการศึกษาพบว่า ข้าวยิ่งมีสีม่วงเข้มมากเท่าใดประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระจะยิ่งมีมาก ขึ้นเท่านั้น โดยมีค่าอยู่ระหว่าง 35.3-214.7 umole/g เมื่อนำเข้าข้าวสายพันธุ์ต่างๆ มาเปรียบเทียบกับน้ำผลไม้พร้อมดื่มหรือน้ำชาเขียวพบว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระมากกว่าเกือบ 100 เท่าเลยทีเดียวข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่จึงเป็นแหล่งอาหารที่ให้สารต้านอนุมูล อิสระสูง การที่ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระพอเพียงต่อความต้องการในแต่ละวัน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคมะเร็งได้
นอกจาก สารต้านอนุมูลอิสระสูง แล้ว ข้าวไรซ์เบอร์รี่ยัง มีสารอื่นๆ ที่เป็นประโยนช์ในเมล็ดข้าว อาทิ เบต้าแคโรทีน, แกมมาโอไรซานอล, วิตามินอี, แทนนิน, สังกะสี, มีกรดโฟลิก (โฟเลต) ซึ่งมีความจำเป็นต่อร่างกายโดยเฉพาะสตรีตั้งครรภ์ มีดัชนีน้ำตาลต่ำ-ปานกลาง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ฯลฯ ขณะที่ในส่วนของรำข้าวและน้ำมันรำข้าว ก็มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงเหมาะสำหรับนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อีกด้วย
ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นและแตกต่างจากข้าวทั่วไป รวมทั้งโอกาสทางการตลาดที่ชัดเจน ทำให้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือกใหม่และเป็นความหวังใหม่ในการ ปลูกข้าวของเกษตรกรไทย