ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

รัฐและเอกชน ร่วมรณรงค์ตรวจคัดกรอง HPV DNA ลดเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

รัฐและเอกชน ร่วมรณรงค์ตรวจคัดกรอง HPV DNA ลดเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก HealthServ.net
รัฐและเอกชน ร่วมรณรงค์ตรวจคัดกรอง HPV DNA ลดเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก ThumbMobile HealthServ.net

รัฐและเอกชน เดินหน้าต่อเนื่องผนึกกำลังรณรงค์ให้ความรู้ตรวจคัดกรอง HPV DNA ลดเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก ย้ำชัดตรวจเจอเชื้อตั้งแต่เนิ่นๆ รักษาหายได้ ลดโอกาสเป็นมะเร็งฯ และเสียชีวิต! พร้อมแนะกันไว้ดีกว่าแก้ มดลูกแย่จะแก้ไม่ทัน ชงทางเลือกใหม่คนขี้อาย HPV DNA Self-Sampling เก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง เตือนหากพบเชื้อต้องเร่งตรวจเพิ่มเติมอย่าละเลย เพื่อทำการรักษา

 
            โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 5 ของโรคมะเร็งในผู้หญิงไทย  โดยมีข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ถึงร้อยละ 80 หากได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหาเชื้อ HPV อย่างสม่ำเสมอ โดยในปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้บรรจุการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA และ HPV DNA Self-Sampling แบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง เป็นสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ทั้งยังเพื่อแก้ปัญหาความเขินอาย และกังวลใจในการขึ้นขาหยั่ง ให้สตรีที่มีอายุ 30-59 ปีสามารถรับสิทธิ์ได้ฟรีผ่านแอปพลิเคชั่น เป๋าตัง อย่างไรก็ตามยังมีสตรีจำนวนมากที่เมื่อตรวจพบเชื้อ HPV สายพันธุ์เสี่ยงสูงซึ่งเป็นสาเหตุของของโรคมะเร็งปากมดลูกถึง 70% แล้ว กลับไม่ดำเนินการเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการรักษาก่อนที่เชื้อจะพัฒนาไปเป็นมะเร็ง
 
รัฐและเอกชน ร่วมรณรงค์ตรวจคัดกรอง HPV DNA ลดเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก HealthServ
 
            บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาเครื่องมือตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ มีพันธกิจในการกำจัดมะเร็งปากมดลูกให้เป็นศูนย์ เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงได้เชิญ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)    นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคุณพิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด มาให้ข้อมูลการรณรงค์ให้สตรีตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองฯ ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโรคมะเร็งปากมดลูก พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวหากตรวจพบเชื้อ HPV  ตลอดจนอัพเดทสิทธิประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง
 

นโยบายภาครัฐที่มีต่อภารกิจกำจัดมะเร็งปากมดลูก

       นโยบายภาครัฐที่มีต่อภารกิจกำจัดมะเร็งปากมดลูกให้เป็นศูนย์ ผ่านสิทธิ์ประกันสุขภาพแห่งชาติโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านกระเป๋าสุขภาพในแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง
 
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทย 48 ล้านคน  มีสิทธิ์บัตรทองที่เมื่อเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล รักษาฟรี โดยมี สปสช. เป็นตัวแทนรัฐบาลในการจ่ายเงินให้ ตามราคาที่เราตกลงไว้กับโรงพยาบาล”
 
            สปสช. มีนโยบายเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ไม่ใช่การรักษา แต่เป็นการทําให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อไม่ให้เป็นโรค เช่นการฉีดวัคซีน การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งคือหนึ่งในกระบวนการป้องกันได้อย่างหนึ่ง เพราะพิสูจน์มาแล้วว่า มะเร็งปากมดลูกตรวจได้ง่าย เมื่อตรวจแล้วพบความผิดปกติ จะมีหลายระดับ ระยะศูนย์ หนึ่ง สอง สาม สี่ ดังนั้น หากเข้าสู่การรักษาได้ในระยะเริ่มต้น สามารถหายขาดได้
 
 
 
 
 วันนี้ การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสตรีไทยอายุ 30-59 ปี สามารถขอรับชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองได้ที่โรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ และเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ขอรับชุดตรวจได้ง่ายขึ้น ขณะนี้ สปสช.ได้นำร่องที่เขตสุขภาพที่ 7 ใน 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยเพิ่ม ร้านยาและคลินิกพยาบาล จำนวน 119 แห่ง ให้เป็นจุดที่กลุ่มเป้าหมายขอรับชุดตรวจได้ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง
 
โรคมะเร็งปากมดลูกนับเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย โดยสถิติพบว่า เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 5 ในผู้หญิงไทย และมีอัตราการเสียชีวิตปีละเกือบ 5,000 ราย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นมะเร็งที่รักษาให้หายได้หากพบในระยะแรกเริ่ม เนื่องจาก ร้อยละ 70 ของโรคเกิดจากการติดเชื้อ HPV (เอชพีวี) โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อหาการติดเชื้อเอชพีวีในระยะแรกเริ่ม เพื่อนำไปสู่การรักษา จึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญ เพื่อลดจำนวนหญิงไทยที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก จึงหวังว่าการร่วมกับภาคเอกชนประชาสัมพันธ์ให้สตรีรับทราบข้อมูลมากขึ้น เกิดความเข้าใจ จะทำให้สตรีเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ มากขึ้นตามนโยบายของพวกเรา
 
ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง “กระเป๋าสุขภาพ” จะมีการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของผู้หญิงอยู่ 22 รายการ สำหรับสิทธิประโยชน์คัดกรองมะเร็งปากมดลูก ปีนี้ เราตั้งเป้าหมายไว้ 1.2 ล้านราย ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 7 แสนราย หรือร้อยละ 56.8 จึงอยากเชิญชวนให้สตรีกลุ่มเสี่ยงมาใช้สิทธิ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะหากเจอระยะต้นๆ รักษาหายได้แน่นอน และหากผลออกมาเป็นลบ แปลว่าท่านปกติ อีกห้าปีค่อยกลับมาตรวจใหม่
 
สิทธิประโยชน์จากการตรวจแบบดั้งเดิม สู่ HPV DNA
 
ในอดีต เวลาไปคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แพทย์จะทำการตรวจแบบแปปสเมียร์ ต้องไปขึ้นขาหยั่ง เพื่อปาดเอาเซลล์ปากมดลูกออกมา แล้วนำมาตรวจในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ หากพบว่าผิดปกติ ก็เข้าสู่การรักษา ส่วนมากจะเจอเมื่อเซลล์ผิดปกติแล้ว ซึ่งแปลว่าอาจเป็นมะเร็งแล้ว แต่ในปัจจุบัน มีการตรวจแบบเอชพีวี ดีเอ็นเอ คือดูเซลล์ดีเอ็นเอของเชื้อ  ซึ่งละเอียดมากขึ้น จะสามารถพบเชื้อ HPV ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่วิธีเก็บตัวอย่างยังเหมือนเดิม คือให้คุณหมอเก็บให้ ซึ่งทั้ง 2 วิธี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจแบบดั้งเดิมที่เป็นแบบแปปสเมียร์ หรือแบบเอชพีวี ดีเอ็นเอ หรือแม้กระทั่ง HPV DNA Self-Sampling หรือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง ล้วนอยู่ในสิทธิประโยชน์เหมือนกัน ดังนั้น ปัญหาประชาชนกังวลในการไปตรวจ แล้วกลัวจะต้องเสียค่าใช้จ่ายก็หมดไป
 
 นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบัน ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยมีจำนวนที่ลดลง เพราะประเทศไทยเรามีชุดสิทธิประโยชน์หลายอย่าง เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กผู้หญิง รวมไปถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมถึงการรณรงค์ให้เกิด 3 A คือ
 
       1. Awareness เพราะคนไข้ไม่ค่อยตระหนัก ไม่ค่อยกลัวโรคนี้เท่าไร คิดว่าตัวเองไม่เป็นเพราะไม่มีอาการ ซึ่งจริงๆ โรคนี้เป็นภัยเงียบ คือถ้ามีอาการแปลว่าเป็นเยอะแล้ว
 
       2. Accessibility การเข้าถึง ที่ผ่านมาอาจจะเข้าถึงยาก เพราะว่าต้องให้หมอมาตรวจ ต้องขึ้นขาหยั่ง แต่ปัจจุบันเป็นการทำงานเชิงรุกที่ รพ. สต. มีออกหน่วย ให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องเป็นคุณหมอเรียกว่า วีไอเอ (VIA) มาตรวจให้ ก็เป็นการออกตรวจเชิงรุก
 
       3. Affordable สมัยก่อน หากอยากตรวจแบบ HPV คนไข้ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง สปสช. เล็งเห็นประโยชน์ และความคุ้มค่า บรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์แทนแปปสเมียร์ ทําให้เรื่องของมะเร็งปากมดลูกลดลง
 
อย่างไรก็ดี เราก็อยากให้ลดลงกว่านี้ อยากกําจัดมะเร็งปากมดลูกให้หมดจากประเทศไทย ทุกวันนี้ตรวจพบผู้หญิงที่เป็นมะเร็งปากมดลูก 25 ราย ต่อวัน ที่สําคัญ มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่รักษาค่อนข้างยากหากเป็นแล้ว จะแบ่งเป็น 4 ระยะใหญ่ๆ แต่ว่าตั้งแต่ได้รับเชื้อเอชพีวี จนไปถึงเป็นมะเร็ง กินเวลาเป็นสิบปี ดังนั้น การที่เราได้ตรวจคัดกรอง ทำให้รู้ก่อน รู้เร็ว รักษาได้ไวขึ้น มีการพยากรณ์โรคที่ดีมาก บางคนก็อยู่เป็นสิบปีก็ได้ แต่หากสมมุติมาระยะที่มีเลือดออกแล้ว มีก้อนที่ปากมดลูกแล้ว กลุ่มนี้จะรักษายาก ดังนั้น อยากให้ตรวจพบเชื้อตั้งแต่เนิ่นๆ  ในอดีต เป็นการตรวจแบบแปปสเมียร์เป็นไม้ป้ายไปดูเซลล์ ต่อมาพัฒนาทันสมัยขึ้น เรียกว่า Liquid base cytology ก็จะเป็นน้ำยาก็จะดูง่ายขึ้น จน ณ ปัจจุบัน เราพัฒนาขึ้นมากมาดูระดับดีเอ็นเอของเชื้อเป็นวิธี HPV DNA Test ซึ่งมีทั้งแบบให้แพทย์เก็บตัวอย่างให้ หรือจะเก็บตัวอย่างเองก็ได้ด้วย HPV DNA Self-Sampling เพราะบางคนก็อายหมอ ไม่อยากขึ้นขาหยั่ง
 

ปัญหา (Pain Point) โรคมะเร็งปากมดลูก เหตุใดผู้หญิงไทยไม่ค่อยเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ

นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีหลายปัจจัย แต่ปัญหาหลักๆ คือหลายคนไม่อยากขึ้นขาหยั่ง อายหมอ และไม่มีอาการผิดปกติอะไรจึงไม่คิดจะมาตรวจ หลายคนรอจนมีอาการแล้วค่อยมาพบแพทย์ ซึ่งเมื่อมาพบแพทย์ในตอนนั้นก็มักจะช้าเกินไป จึงอยากรณรงค์ให้ผู้หญิงอย่าละเลยการเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ
 
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีนวัตกรรม มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น มีการพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง HPV DNA Self-Sampling  สปสช. จึงได้บรรจุสิทธิประโยชน์นี้เข้าไปด้วย ไม่มีค่าใช้จ่าย เช่นกัน
 
ซึ่งวันนี้มีการนำร่องแล้วที่เขตสุขภาพที่เจ็ด (ขอนแก่น ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม) เป็นการตรวจแบบ HPV DNA แต่แทนที่จะมาให้แพทย์เก็บตัวอย่างให้ ผู้หญิงก็เก็บเองได้เลย
 
 

วิธีการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง

เราจะให้ประชาชนไปรับชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง ได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านก็ได้ ร.พ. ส.ต. ก็ได้ เราเพิ่มมาอีก ไปรับที่ร้านยาก็ได้ ร้านยาที่เป็นเอกชนที่เข้าร่วม ขณะนี้ มีอยู่ทั่วประเทศกว่าพันแห่ง เก็บออกมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งให้กับหน่วยตรวจ ซึ่งก็อาจจะเป็นโรงพยาบาล ไปเข้าห้องปฏิบัติการตรวจแล้วรอฟังผลผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง
 
HPV DNA Self-sampling Test ทางเลือกใหม่ให้ผู้หญิงสามารถเลือกเก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ จะเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยกำจัดมะเร็งปากมดลูกให้สิ้นซากได้อย่างไร
 
นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเก็บตัวอย่างดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาการอายแพทย์ และกังวลการขึ้นขาหยั่งได้ สะดวกมากขึ้น วิธีการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองไม่ยุ่งยาก หมอแนะนําให้ใช้เก้าอี้ หรือฝาชักโครก เข้าห้องน้ำ ล้างมือให้สะอาด ยกขาข้างหนึ่งไว้ จับก้านไม้ตรวจไว้แหย่ไม่ให้ลึกเกินไป หมุนราวๆ 30 วินาที ทำตามคู่มือ แล้วเก็บใส่หลอดเก็บตัวอย่าง ปิดฝา แล้วดำเนินการส่งให้ห้องปฏิบัติการตรวจต่อไป แนะนําว่ารับแล้วให้ตรวจเลย ตรวจเสร็จแล้วส่งตรงนั้นเลยไม่ต้องเป็นภาระ เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็จะส่งไป ไปที่โรงพยาบาล ไปที่จุด เขาก็ไปตรวจ ตรวจอะไรเรียบร้อยแล้ว เราจะส่งผลกลับมาที่แอพฯเป๋าตังเหมือนเดิม
 
ที่สำคัญ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศแล้วว่า การตรวจ HPV DNA Self-Sampling มีความคุ้มค่า แนะนำให้เป็นมาตรฐานการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สําหรับประเทศที่ รายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ ในอดีต การตรวจคัดกรอง หรือการรักษาดีๆจะมีเฉพาะในประเทศที่รายได้สูงหน่อย แต่ล่าสุด WHO ประกาศแล้วว่าการตรวจนี้คุ้มค่า เนื่องจากมันสามารถเข้าถึงได้ง่าย ตรวจเองได้ ความแม่นยําสูง ประเทศไทยเราก็มีสิทธิประโยชน์ให้ตรวจฟรี  WHO ก็ประกาศแล้ว ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ก็อยากให้เข้ามารับการตรวจคัดกรองกันให้มากขึ้น
 
 นายพิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลก หรือเกือบทุกประเทศที่มีศักยภาพ จะไม่อยากให้ผู้หญิงต้องมาเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกเลยหากเป็นไปได้  ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเฉพาะประเทศไทยเราก็ถือว่าเป็นประเทศที่โชคดีที่มีสิทธิประโยชน์จากทาง สปสช. ถือว่าเป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง ในส่วนของภาคเอกชน อย่าง โรช ไดแอกโนสติกส์ ประเทศไทย เราเองก็พยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งของจิ๊กซอว์นี้ เพื่อจะทําให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ ทุกท่านจะเห็นว่าในช่วงที่มีโรคโควิดระบาด ปัญหาของโรงพยาบาลในบ้านเราคือ ภาระงานของเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ภารกิจในการดูแลคนไข้ประจํา รวมถึงโรคระบาดที่เข้ามา ทําให้ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์แทบจะเป็นอัมพาตเลย ทำนองเดียวกัน การตรวจคัดกรองด้วยวิธีเอชพีวี ตามที่อาจารย์อรรถพร ได้กล่าวแล้วว่าเป้าหมาย 1.2 ล้านราย  จริงๆ แล้ว ผู้หญิงอายุ 30-59 ปี มีมากกว่านั้น แต่ว่าเป้าหมายภายในหนึ่งปี การตรวจในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ด้วยการทําพีซีอาร์ 1.2 ล้านราย ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าการตรวจพีซีอาร์  ไม่เหมือนการตรวจแบบทั่วไป ดังนั้น สิ่งที่สําคัญที่สุดก็คือ เทคโนโลยี ซึ่ง โรช ไดแอกโนสติกส์ จะมาช่วยในส่วนนี้โดยเรามีนวัตกรรมเครื่องมือให้ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์แบบออโตเมชั่น (automation) ในห้องแล็บ ช่วยลดภาระและปริมาณงานของเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ได้มาก นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว โรชเองก็พยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะประสานแล้วก็ช่วยในการประชาสัมพันธ์ทําสื่อต่าง ๆ เพื่อที่จะให้ความรู้ประชาชน ให้เกิดการรับรู้ถึงคุณประโยชน์ของการตรวจคัดกรองฯ ซึ่งช่วยชีวิตผู้หญิงให้ไม่ต้องเสียชีวิตจากโรคนี้  
 
หนึ่งชีวิตของผู้หญิงในครอบครัว หากเจ็บป่วยขึ้นมาผมว่ามันมีความเกี่ยวพันหลายอย่าง เพราะหากเขาเป็นแม่ ผลกระทบก็จะส่งผลไปยังสามี ลูก พ่อแม่ เพราะแต่ละคนก็จะมีบทบาทในครอบครัวและสังคมไม่เหมือนกัน  เพราะฉะนั้นเสียชีวิตไปหนึ่งคน ทําให้โครงสร้างของครอบครัวมันเปลี่ยนแปลงไปมาก แน่นอนว่าจะมีผลกระทบตามมามากมาย ดังนั้น เราจึงอยากที่จะช่วยสื่อสารเพื่อให้คนเข้ามารับการตรวจคัดกรองก่อนเพื่อช่วยอีกหลายๆ ชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มที่ผลตรวจออกมาเป็นบวก ซึ่งหมายถึงว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก สิ่งสำคัญคือการต้องมาตรวจเพิ่มเติม เพื่อรับการรักษาต่อไป และการตรวจแบบ HPV DNA Self-Sampling ถือเป็นทางเลือกใหม่ เก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ไม่ยุ่งยาก หวังว่าจะช่วยดึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้หญิงอายุ 30 – 59 ปี เข้ามารับการตรวจให้มากที่สุด รวมถึง ดึงคนที่มีผลการตรวจเป็นบวกให้กลับเข้ามาทําการตรวจเพิ่มเติม และการทำการรักษาต่อไป
 
 

วิธีการปฏิบัติตนหากผลเป็นลบไม่พบเชื้อ และหากผลเป็นบวกพบเชื้อ HPV

นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หากตรวจด้วย HPV DNA หรือ HPV DNA Self-Sampling แล้วผลเป็นลบ แปลว่าท่านสามารถเว้นระยะการตรวจไปได้ 5 ปี ค่อยมาตรวจใหม่ได้ แต่ถ้าผลเป็นบวกต้องดูว่าเชื้อ HPV เป็นสายพันธุ์ไหน สายพันธุ์เสี่ยงสูงหรือไม่ หากเป็นสายพันธุ์ 16 และ 18 อันนี้ก็คือสายพันธุ์เสี่ยงสูง ต้องให้คุณหมอตรวจเพิ่มเติม สำคัญมาก เพราะรักษาไวหายได้แน่นอน
 
แต่ถ้าไม่ใช่สายพันธุ์ 16 กับ 18 ก็จะเป็นการตรวจเซลล์โดยการขึ้นขาหยั่งทั่วไปธรรมดา ทำการป้ายเซลล์ ส่วนผลออกมาเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมากเป็นน้อย การรักษาขึ้นอยู่กับผลนั้นๆ อันนี้ก็จะเป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไป
 
 

หากพบเชื้อต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติม รักษาได้ ลดเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก

นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อพบเชื้อ สิ่งที่สำคัญมากคือต้องตรวจต่อด้วยการส่องกล้องเข้าไปดู แบบขยายสี่สิบเท่า (Colposcopy) แล้วชโลมน้ำยาบางอย่างเข้าไป ทําให้เห็นรอยโรคชัดขึ้น และตัดเอาเนื้อชิ้นเล็ก ๆ ไปตรวจ ผลชิ้นเนื้อเล็กๆ นี้ จะบอกได้ว่าเป็นระยะอะไรนั่นเอง ระยะก่อนเป็นมะเร็ง ระยะหนึ่ง ระยะสองพอบอกได้
 
ส่วนการรักษา ขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นระยะไหน เช่นสมมุติว่าเป็นระยะศูนย์ จะตัดแค่บริเวณเนื้อแค่ปากมดลูก ไม่ต้องถึงขั้นตัดมดลูก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ใช้วิธีฉีดยาชาที่ปากมดลูก แล้วก็ใช้ขดลวดไฟฟ้าตัด เสร็จแล้วกลับบ้านได้เลย กลับกัน หากสมมุติว่าเป็นระยะที่มากกว่านั้น ในบางคนยังสามารถผ่าตัดเอามดลูกออกได้ แต่บางคนก้อนใหญ่มาก ผ่าตัดไม่ได้ การรักษาคือใช้วิธีฉายแสง และให้ยาเคมีบําบัด ซึ่งภาวะแทรกซ้อนมันก็จะมากขึ้น อาจจะมีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือดเพราะว่าโดนรังสี หรือบางคนได้ยาเคมี ก็จะมีภาวะแทรกซ้อนเยอะ เม็ดเลือดขาวต่ำมีภาวะซีดเป็นต้น
 
ตอกย้ำแนวคิดมะเร็งปากมดลูก หากตรวจพบเชื้อเอชพีวีตั้งแต่เนิ่นๆ รักษาได้ ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูก
 
นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โดยหลักการคือ เมื่อเริ่มเป็นน้อยๆ การรักษาก็จะง่าย สะดวก หายเร็ว และหายได้ ดังนั้น นี่คือความสําคัญที่อยากจะบอกคนไข้ทุกคนว่าหากตรวจแล้วผลเป็นบวกให้รีบมาพบแพทย์ บางคนอาจจะไม่เป็นอะไรเลยก็ได้ หรือหากพบเชื้อเอชพีวี จะได้ทําการรักษาแต่เนิ่นๆ  อย่าลืมว่ามะเร็งในระยะแรกเริ่มแม้จะมีอาการผิดปกติ แต่ก็อาจจะเหมือนปกติ กว่าจะไปรู้อีกทีก็เป็นจนกระทั่งเราเป็นมากแล้ว และแม้ว่าโรคนี้ไม่ถึงกับรักษาไม่ได้ แต่มันต้องเสียทรัพยากรในการรักษา ซึ่งในเมื่อหลีกเลี่ยงได้ด้วยการเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วยแล้ว จึงอยากรณรงค์ให้ผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจคัดกรอง HPV DNA จะแบบคุณหมอตรวจให้ หรือจะเก็บตัวอย่างด้วยตนเองแบบ HPV DNA Self-Sampling ก็ได้ เพราะเชื้อ HPV ยิ่งตรวจพบไวยิ่งดีจะได้ทำการรักษาก่อนเชื้อพัฒนาไปเป็นมะเร็ง
 
กันไว้ดีกว่าแก้ มดลูกแย่จะแก้ไม่ทัน!!
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด