ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ญี่ปุ่นปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ลงสู่ทะเล

ญี่ปุ่นปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ลงสู่ทะเล HealthServ.net
ญี่ปุ่นปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ลงสู่ทะเล ThumbMobile HealthServ.net

บริษัทพลังไฟฟ้าโตเกียวหรือ เทปโก ได้เริ่มปล่อยน้ำที่ได้รับการบำบัดและทำให้เจือจางจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิลงสู่ทะเล 24 สิงหาคม 2023 นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า เป็นขั้นตอนที่จำเป็นในการปลดระวางโรงไฟฟ้าดังกล่าว หลังจากเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิมามากกว่า 12 ปี

24 สิงหาคม 2023 สำนักข่าวเอ็นเอชเค ของญี่ปุ่น รายงานว่า บริษัทพลังไฟฟ้าโตเกียวหรือ เทปโก ได้เริ่มปล่อยน้ำที่ได้รับการบำบัดและทำให้เจือจางจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิลงสู่ทะเลแล้ว
 
รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า เป็นขั้นตอนที่จำเป็นในการปลดระวางโรงไฟฟ้าดังกล่าว หลังจากเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิมามากกว่า 12 ปี
 
ก่อนการปล่อย เทปโกซึ่งเป็นบริษัทที่บริหารจัดการโรงไฟฟ้าดังกล่าวระบุว่า พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าหลังจากยืนยันว่าการเจือจางน้ำเป็นไปตามแผน
 
โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิประสบปัญหาการหลอมละลายที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 เตาเมื่อปี 2554 หลังจากนั้นน้ำที่ใช้หล่อเย็นแท่งพลังงานที่โรงไฟฟ้าได้ผสมกับน้ำฝนและน้ำใต้ดิน และมีปริมาณสะสมมากขึ้น
 
น้ำที่ได้รับการบำบัดได้ถูกขจัดเอาสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ออกไปแต่ยังมีทริเทียมอยู่ ก่อนการปล่อย เทปโกได้เจือจางน้ำที่บำบัดแล้วเพื่อลดระดับทริเทียมให้เหลือราว 1 ใน 7 ของมาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก
 
จากนั้นน้ำจะถูกส่งผ่านอุโมงค์ใต้ก้นทะเลและปล่อยห่างจากฝั่ง 1 กิโลเมตร กระบวนการรอบแรกจะใช้เวลาราว 17 วัน โดยจะปล่อยน้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วราว 7,800 ตัน
 
คาดว่ากระบวนการที่เสร็จสมบูรณ์จะใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปี


 
ญี่ปุ่นปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ลงสู่ทะเล HealthServ

ความร่วมมือญี่ปุ่นและ IAEA ในการปล่อยน้ำ

 
นายฮายาชิ โยชิมาซะ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นและนายราฟาเอล มาเรียโน กรอสซี ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ได้เห็นพ้องที่จะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับความร่วมมือ ว่าด้วยการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดและเจือจางแล้วจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ
 
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม นายฮายาชิและนายกรอสซีได้ประชุมออนไลน์ร่วมกัน หนึ่งวันหลังจากที่บริษัทพลังไฟฟ้าโตเกียวหรือเทปโก ได้เริ่มปล่อยน้ำบำบัดและเจือจางแล้วลงสู่มหาสมุทร
 
นายฮายาชิกล่าวว่าญี่ปุ่นจะรับประกันโดยมี IAEA ให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ว่าการปล่อยน้ำที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพของมนุษย์และต่อสิ่งแวดล้อม จะไม่มีทางเกิดขึ้น เขายังเน้นย้ำด้วยว่าญี่ปุ่นจะให้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์และโปร่งใสต่อสาธารณชนทั้งในและนอกประเทศ
 
ด้านนายกรอสซีตอบรับโดยกล่าวว่าผู้เชี่ยวชาญของ IAEA อยู่ในพื้นที่เพื่อทำหน้าที่เป็นดวงตาของประชาคมนานาชาติ และเสริมว่า IAEA จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องจนกว่าจะมีการปล่อยน้ำหยดสุดท้ายจากโรงไฟฟ้าดังกล่าว
 
นายฮายาชิและนายกรอสซีได้เห็นพ้องเรื่องการจัดทำเอกสารว่าด้วยความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย เช่น การประจำการเจ้าหน้าที่ IAEA ที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ และตรวจสอบผลลัพธ์ความปลอดภัยของน้ำซึ่งจะผ่านการยืนยันโดย IAEA

NHK Thailand
ญี่ปุ่นปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ลงสู่ทะเล HealthServ
 

แถลงการณ์จาก IAEA


คำแถลงของผู้อำนวยการ IAEA เกี่ยวกับการปล่อยน้ำบำบัด Fukushima Daiichi ALPS
 
24 สิงหาคม 2023 - ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ออกแถลงการถึงการปล่อยน้ำบำบัดของญี่ปุ่น ระบุว่า บริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ของญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำบำบัด ALPS ที่เก็บไว้ที่สถานีไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิลงสู่ทะเลในวันนี้ โดยการยืนยันจาก ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ที่ประจำอยู่ที่ไซต์ดังกล่าว
 
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบความปลอดภัยของการปล่อยน้ำเป็นเวลาหลายปีของ IAEA ทีมงาน IAEA จะเข้าร่วมในการติดตามการปล่อยน้ำและประเมินการประยุกต์ใช้มาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของญี่ปุ่นสำหรับการปล่อยน้ำ
 
“ผู้เชี่ยวชาญของ IAEA พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นสายตาของประชาคมระหว่างประเทศ และรับประกันว่าการปล่อยน้ำบำบัด จะดำเนินการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยของ IAEA” ราฟาเอล มาเรียโน กรอสซี ผู้อำนวยการทั่วไปของ IAEA กล่าว
 
“ด้วยการร่วมสังเกตการของเรา มีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นที่จำเป็นว่า กระบวนการนี้ดำเนินไปในวิธีที่ปลอดภัยและโปร่งใส”
 
ในการติดตามผล ผู้เชี่ยวชาญของ IAEA ได้เก็บตัวอย่างจากน้ำเจือจางชุดแรกที่เตรียมไว้สำหรับการปล่อยทิ้ง หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมว่าจะเริ่มปล่อยในวันนี้
 
การวิเคราะห์ในสถานที่โดยอิสระของ IAEA ยืนยันว่าความเข้มข้นของไอโซโทปในน้ำเจือจางที่ถูกปล่อยออกมานั้นต่ำกว่าขีดจำกัดการปฏิบัติงานที่ 1,500 เบคเคอเรลต่อลิตรมาก
 
IAEA จะยังคงปักหลักปฏิบัติงานที่ฟูกูชิมะ ตลอดระยะเวลาของกระบวนการปล่อยน้ำบำบัด ของ ALPS ตามเจตนารมย์ของ IAEA ที่จะมีส่วนร่วมกับญี่ปุ่นทั้ง ก่อน ระหว่าง และหลังกระบวนการปล่อยน้ำ
 
นอกจากนี้ IAEA ได้เปิดตัวหน้าเว็บสำหรับให้ข้อมูลสดกับการปล่อยน้ำจากประเทศญี่ปุ่น ข้อมูลที่ให้รวมถึงอัตราการไหลของน้ำ ข้อมูลการติดตามการแผ่รังสี และความเข้มข้นของไอโซโทปหลังจากการเจือจาง

สมาพันธ์ประมงญี่ปุ่นเรียกร้องรัฐบาลรับมือผลกระทบจากการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ

 ประธานสมาพันธ์ประมงแห่งญี่ปุ่นย้ำว่า ทางกลุ่มต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อให้แน่ใจในเรื่องความปลอดภัยและลดผลกระทบต่อชื่อเสียง ในการปล่อยน้ำที่ได้รับการบำบัดและเจือจางแล้วจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิลงทะเล
 
นายซากาโมโตะ มาซาโนบุ ประธานสมาพันธ์สมาคมสหกรณ์ประมงแห่งชาติระบุในแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคมว่า ตอนนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงทั่วประเทศกังวลมากขึ้นไปอีกจากที่เริ่มกระบวนการปล่อยน้ำ
 
นายซากาโมโตะกล่าวว่า "เรายังคงคัดค้านการปล่อยน้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วลงทะเล"
 
นายซากาโมโตะยังได้เรียกร้องอย่างจริงจังไปยังรัฐบาล ให้ดำเนินการในทันทีในการรับมือกับการเสียชื่อเสียงที่เกิดจากข่าวลือซึ่งได้แพร่ออกไปแล้ว
 
เขาได้เรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสัญญาที่นายกรัฐมนตรีคิชิดะ ฟูมิโอะได้ให้ไว้ต่ออุตสาหกรรมประมง
 
ผู้นำญี่ปุ่นได้กล่าวว่า รัฐบาลจะสนับสนุนการประมงของญี่ปุ่นและดำเนินมาตรการที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นจะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อผลกระทบที่เกิดจากการปล่อยน้ำ ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ก็ตาม

NHK

ปฏิกิริยาเพื่อนบ้านในเอเชีย

 บรรดาประเทศและดินแดนในเอเชียมีความเห็นที่แตกต่างกัน ในเรื่องการปล่อยน้ำที่ได้รับการบำบัดและเจือจางแล้วจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิลงทะเล
 
ฟิลิปปินส์ได้แสดง "ความเข้าใจ" และระบุว่ายอมรับความเชี่ยวชาญทางเทคนิคของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบความปลอดภัยของแผนการปล่อยน้ำ และสรุปว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศ
 
กระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์ระบุว่า จะยังคงสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบต่อทะเลในภูมิภาค "จากมุมมองบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริง"
 
ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันระบุว่า เคารพผู้เชี่ยวชาญในประเด็นทางวิทยาศาสตร์และกล่าวเสริมว่า ไต้หวันจะยังคงเรียกร้องญี่ปุ่นให้ปล่อยน้ำตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
 
ส่วนจีนยังคงคัดค้านการปล่อยน้ำของญี่ปุ่น โดยกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าขอ "คัดค้านอย่างแข็งขันและประณามอย่างรุนแรง" ต่อแผนดังกล่าว
 
เจ้าหน้าที่ศุลกากรของจีนได้ประกาศว่าจะระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางทะเลของญี่ปุ่นทั้งหมดเริ่มจากวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม
 
ขณะที่นายฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้กล่าวว่า รัฐบาลจะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและเฝ้าสังเกตการณ์การปล่อยน้ำของญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังระบุว่า เกาหลีใต้จะดำเนินมาตรการสนับสนุนที่หลากหลายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมประมง

ญี่ปุ่นตรวจระดับสารกัมตรังสีในปลาที่จับได้ใกล้โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ

 สำนักงานการประมงของญี่ปุ่นกำลังตรวจสอบระดับของทริเทียมซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีในปลาชุดแรกที่จับได้นอกชายฝั่งจังหวัดฟูกูชิมะ หลังจากที่ได้เริ่มปล่อยน้ำที่ได้รับการบำบัดและทำให้เจือจางแล้วจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิที่เสียหายลงสู่ทะเล
 
บริษัทพลังไฟฟ้าโตเกียวหรือ เทปโก ซึ่งเป็นบริษัทที่บริหารจัดการโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้เริ่มปล่อยน้ำเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคมตามแผนของรัฐบาล
 
สถาบันวิจัยระบบนิเวศน์ทางทะเลในจังหวัดมิยางิได้ทำการตรวจสอบดังกล่าวในวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม
 
บรรดานักวิจัยกำลังตรวจสอบปลาลิ้นหมาและปลานกฮูกที่จับได้ก่อนหน้าในวันเดียวกันจากน่านน้ำที่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ราว 5 กิโลเมตร
 
มีการใช้อุปกรณ์พิเศษเพื่อวิเคราะห์ความเข้นข้นของทริเทียม อุปกรณ์นี้ต่างจากอุปกรณ์ก่อนหน้าที่ต้องใช้เวลากว่า 1 เดือนถึงจะรู้ผลแต่อุปกรณ์ใหม่นี้สามารถวัดค่าได้โดยใช้เวลาราว 1 วัน
 
นักวิจัยคนหนึ่งระบุว่า ทางสถาบันวางแผนที่จะทำการตรวจสอบทุกวันเพื่อให้ผู้บริโภคและชาวประมงเบาใจ
 
สำนักงานการประมงจะเผยแพร่ผลการตรวจสอบทางเว็บไซต์อย่างเร็วที่สุดในวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม
 
โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิประสบปัญหาการหลอมละลายที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 เตาจากแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2554
 
น้ำซึ่งใช้หล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงที่หลอมละลายที่โรงไฟฟ้าผสมกับน้ำฝนและน้ำใต้ดิน น้ำที่สะสมมากขึ้นได้รับการบำบัดเพื่อขจัดสารกัมมันตรังสีออกเกือบทั้งหมดแต่ยังมีทริเทียมอยู่
 
เทปโกเจือจางน้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วโดยลดระดับของทริเทียมให้เหลือราว 1 ใน 7 ของมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลกก่อนที่จะปล่อยลงทะเล

ตรวจไม่พบ ทริเทียมในปลาที่จับได้นอกชายฝั่งของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ LINK

 สำนักงานประมงของญี่ปุ่นระบุว่า ระดับของทริเทียมในปลาที่จับได้นอกชายฝั่งที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิที่เสียหาย อยู่ในระดับต่ำเกินกว่าจะตรวจพบได้ หลังผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าแห่งนี้เริ่มปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดและเจือจางแล้วจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวลงสู่มหาสมุทร
 
ทางสำนักงานดำเนินการตรวจสอบสารกัมมันตรังสีตามปกติในผลิตภัณฑ์ประมงจากจังหวัดฟูกูชิมะและจังหวัดข้างเคียง นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าดังกล่าว
 
เจ้าหน้าที่มีแผนสุ่มตรวจระดับของทริเทียมในปลาที่จับได้ในน่านน้ำภายในระยะ 10 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าเป็นประจำทุกวันต่อเนื่องประมาณหนึ่งเดือน หลังจากที่เริ่มปล่อยน้ำเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม โดยจะเผยแพร่ผลที่ได้ในหนึ่งหรือสองวันต่อมา
 
ในวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม สำนักงานประมงของญี่ปุ่นได้เผยแพร่ผลการวิเคราะห์ครั้งแรก หลังจากตรวจสอบปลาฮิราเมะและปลาโฮโบที่จับได้เมื่อวันก่อนหน้า
 
ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่าระดับทริเทียมในปลาดังกล่าว “ไม่สามารถตรวจพบได้” เนื่องจากน้อยกว่าประมาณ 10 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นระดับน้อยที่สุดที่รัฐบาลระบุว่าสามารถตรวจพบได้ในการตรวจสอบ
 
ทางสำนักงานยังมีแผนที่จะวิเคราะห์ปลาที่จับได้ในพื้นที่ที่กินวงกว้างกว่าเดิม โดยพยายามพิสูจน์ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทางทะเลของญี่ปุ่น
 
โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิประสบการหลอมละลายสามครั้งในเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2554 นับจากนั้นมา น้ำที่ใช้เพื่อหล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ผสมเข้ากับน้ำฝนและน้ำใต้ดิน และค่อย ๆ ซึมเข้าไปในอาคารเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เสียหาย
 
น้ำดังกล่าวผ่านการบำบัดเพื่อขจัดสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ออกไปแล้ว แต่ยังเหลือทริเทียมอยู่ ก่อนจะปล่อยน้ำ ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าได้เจือจางเพื่อลดระดับของทริเทียมให้อยู่ที่ประมาณหนึ่งในเจ็ดของแนวทางสำหรับน้ำดื่มที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก

จีนและเกาหลีเหนือวิจารณ์ญี่ปุ่นเรื่องการปล่อยน้ำบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าที่ฟูกูชิมะ

 จีนและเกาหลีเหนือวิพากษ์วิจารณ์ญี่ปุ่นที่การประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรื่องที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำซึ่งผ่านการบำบัดและเจือจางแล้วจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิที่เสียหาย ลงสู่มหาสมุทร ญี่ปุ่นปฏิเสธคำกล่าวหานี้และเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศอ้างอิงคำกล่าวเหล่านี้ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
 
มีการเรียกประชุมฉุกเฉินเมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม เพื่อประณามความพยายามอันล้มเหลวของเกาหลีเหนือที่จะปล่อยดาวเทียมสอดแนมทางทหาร
 
นายคิม ซ็อง เอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำสหประชาชาติได้เน้นย้ำจุดยืนของเกาหลีเหนือว่า การปล่อยดาวเทียมดังกล่าวเป็นการใช้ “สิทธิอันชอบธรรม” เพื่อปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของเกาหลีเหนือ
 
เมื่อกล่าวถึงประเด็นเรื่องการปล่อยน้ำ นายคิม ซ็องกล่าวว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติควรประณามสิ่งที่เขาเรียกว่า “อาชญากรรมอันเลวร้ายของญี่ปุ่นที่มีต่อมนุษยชาติ” ซึ่งเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของผู้คนทั้งหมดรวมถึงสภาพแวดล้อมด้านนิเวศวิทยาทางทะเลด้วย
 
อิชิกาเนะ คิมิฮิโระ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสหประชาชาติได้ตอบว่า คำกล่าวหาใด ๆ ก็ตามซึ่งขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถยอมรับได้
 
เก็ง ส่วง รองผู้แทนถาวรจีนประจำสหประชาชาติ ได้ร่วมกับเกาหลีเหนือในการวิจารณ์ญี่ปุ่น โดยกล่าวว่าเขาต้องการใช้โอกาสนี้อธิบายจุดยืนของจีน
 
จากนั้น ทูตของเกาหลีเหนือได้กล่าวอีกครั้งและขอให้ระงับการปล่อยน้ำ อิชิกาเนะได้อธิบายต่อมาว่า น้ำดังกล่าวผสมกับน้ำทะเลปริมาณมากและเจือจางเพื่อลดระดับของทริเทียมแล้ว
 
ท้ายที่สุดแล้ว ระดับของทริเทียมจะอยู่ที่ประมาณหนึ่งในเจ็ดของปริมาณที่องค์การอนามัยโลกอนุญาตไว้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับความปลอดภัยของน้ำดื่ม
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด