22 กันยายน 2566 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2566 โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ การเห็นชอบแผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ในกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงอายุ 11 - 20 ปี เป้าหมายการฉีด 1 ล้านโดส ในระยะ 100 วัน และ แผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ในปี 2567
แผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV 1 ล้านโดส ใน 100 วัน
สำหรับแผนการเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ในกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงอายุ 11 - 20 ปี ตาม Quick Win ของนโยบายมะเร็งครบวงจร ที่กำหนดเป้าหมายการฉีด 1 ล้านโดส ในระยะ 100 วัน เนื่องจากโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบในผู้หญิงไทยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 6,500 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิต 2,000 รายต่อปี
สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papilloma Virus ผ่านการสัมผัสโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ สายพันธุ์ที่พบบ่อย คือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ที่เป็นต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากถึง 70% ซึ่งวัคซีน HPV สามารถป้องกันได้ดี
โดยเฉพาะหากฉีดตั้งแต่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์จะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 90% ส่งผลให้ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกใน 10-20 ปีข้างหน้าได้
ประเทศไทยจึงมีการฉีดวัคซีน HPV ให้กับเด็กหญิงชั้น ป.5 หรืออายุ 11 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560
อย่างไรก็ตาม การฉีดในช่วงอายุหลังจากนั้นก็ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้
ปัจจุบันนี้ เด็ก ป.5 ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะอยู่ชั้น ม.5 หรืออายุ 17 ปี ดังนั้น การขยายกลุ่มเป้าหมายไปถึงอายุ 20 ปี จึงเหลือเพียงกลุ่มอายุ 18-20 ปี ที่อยู่ชั้น ป.5 ก่อนที่จะมีนโยบายนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วง ม.6 ถึงอุดมศึกษาปีที่ 2 รวมถึงจะเร่งฉีดเก็บตกในกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบด้วย
ตุลาเริ่มสำรวจข้อมูล พฤศจิกายน เริ่มฉีด
สำหรับแผนการฉีดวัคซีน HPV ในระยะ 100 วันแรกนั้น หลังจากสื่อสารนโยบายไปถึงผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศแล้ว ในช่วงเดือนตุลาคม จะจัดทำแนวทางการให้บริการ สำรวจจำนวนกลุ่มเป้าหมายเพื่อจัดเตรียมวัคซีน พัฒนาระบบฐานข้อมูล MOPH IC พร้อมทั้งประสานและลงนามความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมความพร้อม จัดแคมเปญรณรงค์คิกออฟ กำหนดการจัดบริการฉีดนำร่องเขตละ 1 จังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ
จากนั้นช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2566 จะเร่งรัดให้บริการฉีดวัคซีนโดยโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญา และหน่วยบริการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือกรุงเทพมหานครกำหนด
การฉีดจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ กลุ่มนักเรียน ฉีดที่สถานศึกษาหลังเปิดเทอม ส่วนกลุ่มที่อยู่นอกระบบการศึกษา รวมถึงอายุ 18-20 ปี จะฉีดที่หน่วยบริการใกล้บ้าน
แผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ในปี 2567
นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ในปี 2567 เพื่อลดการป่วยรุนแรง การเสียชีวิต และรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศ ได้ให้มีการศึกษาคำแนะนำในการฉีดเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ ดังนี้
โรคติดต่อที่มีการระบาดเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1) โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งได้แจ้งมาตรการป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน เตรียมพร้อมทีม CDCU ในการสอบสวนควบคุมโรค และเร่งฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง และ อสม. และ 2) โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ซึ่งประเทศไทยมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย โดยมีความเสี่ยงจากการมีคู่เพศสัมพันธ์หลายคนหรือกับคนแปลกหน้า ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวัง คัดกรอง แยกกักรักษาผู้ป่วย และสื่อสารถึงประชาชน โดยเน้นประชากรกลุ่มเสี่ยงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
โรคติดต่อที่สถานการณ์ดีขึ้น ได้แก่ 1) โควิด 19 ซึ่งยังคงติดตามสถานการณ์ระบาด เฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ และรณรงค์ฉีดวัคซีนประจำปีป้องกันโควิด 19 ในกลุ่มเสี่ยง 608 และ 2) ไข้มาลาเรีย ยังคงมาตรการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่ชายแดน ตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยทันที พร้อมเร่งรัดการควบคุมยุงพาหะในพื้นที่ที่มีการระบาดโดยเร็ว