19 สิงหาคม 2567 ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ โดยมี นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค คณะผู้บริหาร และเครือข่ายดำเนินงานทั่วประเทศ ร่วมงานกว่า 200 คน พร้อมกันนี้ ได้มีพิธีมอบประกาศเกียรติคุณหน่วยงานดีเด่นในการดำเนินงานด้านโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการขับเคลื่อนการป้องกันควบคุมโรค และภัยสุขภาพในระดับพื้นที่ และยกย่องความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบได้อย่างต่อเนื่อง รวม 45 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล รพ.สต. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เป็นปัญหาทางสาธารณสุขระดับนานาชาติรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดตับแข็ง มะเร็งตับ โดยทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี 254 ล้านคน ไวรัสตับอักเสบ ซี 50 ล้านคน องค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกจึงเห็นชอบในการกำจัดโรคดังกล่าวให้สำเร็จภายในปี 2573 กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายมะเร็งครบวงจร ตั้งเป้าหมายรณรงค์คัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในปี 2567 ให้ได้ 1 ล้านคน โดยเฉพาะในประชากรที่เกิดก่อนปี 2535 และกลุ่มเสี่ยง สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ได้ในสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งข้อมูลล่าสุด สามารถคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ บี ได้ถึง 1.85 ล้านคน ส่วนไวรัสตับอักสบ ซี 1.83 ล้านคน และจะคัดกรองต่อเนื่องให้ถึงเป้าหมาย 42 ล้านคน ในปี 2573 ทั้งนี้ หากสามารถนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาจะสามารถป้องกันโรคตับแข็งได้ 5,378 คนต่อปี ป้องกันมะเร็งตับได้ 2,675 คนต่อปี และลดอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ได้ 1,604 คนต่อปี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา ลดโอกาสเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ด้านนายแพทย์นิติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบ ดังนี้
1) ตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในประชากรทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่อง
2) ให้บริการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี แก่เด็กในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
3) ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในหญิงตั้งครรภ์ทุกคน ให้ยาต้านไวรัสในรายที่มีปริมาณไวรัสสูง รวมถึงดูแลลูกที่เกิดจากแม่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ให้ได้รับวัคซีน ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป และตรวจหาการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบ บี เมื่อลูกอายุครบ 1 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
4) ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ชนิดเรื้อรัง ด้วยยาต้านไวรัสตำรับใหม่ที่มีประสิทธิผลในการรักษาดีและอัตราการดื้อยาต่ำ โดยเฉพาะยา Sofosbuvir /Velpatasvir สำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ที่มีประสิทธิผลในการรักษาหายขาดได้เกือบ 100%
ทั้งนี้ ภายในงานฯ มีการจัดแสดงนิทรรศการภายใต้แนวคิด “We’re not waiting : HBV & HCV ตรวจเลย รอไม่ได้ เข้าถึงง่ายด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ประชาสัมพันธ์ความรู้โรคไวรัสตับอักเสบ และเวทีอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์หรือปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงานที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการจัดบริการตรวจคัดกรอง ของพื้นที่เป็นต้น