“โครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร” เกิดขึ้นจากแนวคิด "เปลี่ยนเศษเหลือในกระบวนการผลิต เป็นปุ๋ย ด้วยวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตเกษตรกรรมให้เกษตรกร" ของทีมงาน ธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ จังหวัดชัยภูมิ ที่คว้ารางวัล Gold Pitch ในรอบ CSR Pitching Contest #1/2022 ในการประกวดรางวัล CPF ยั่งยืนได้ด้วยมือเรา (CPF Sustainability in Action Awards 2022) ที่บริษัทจัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจพนักงาน ปั้นโครงการที่สร้างประโยชน์สู่สังคมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง
โครงการฯนี้ สอดรับกับเป้าหมาย “ลดปริมาณของเสียสู่การฝังกลบและเผา” (Zero Waste to Landfill) จากปริมาณเศษเหลือจากกระบวนการผลิตที่มากถึง 100 ตันต่อปี ที่ต้องทำลายด้วยวิธีการดังกล่าว นำมาสร้างประโยชน์ โดยทีมงานได้ศึกษา ค้นคว้า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในกระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ เพื่อเร่งการย่อยสลายให้สมบูรณ์ ทดแทนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการกำจัดเศษเหลือทิ้งด้วยการเผา ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
จากการศึกษาจนเกิดองค์ความรู้ของบุคลากร ทำให้ได้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ เพื่อนำไปผสมกับมูลไก่จากฟาร์มต่างๆ ในธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์ และเปลือกไข่จากโรงฟักภายในธุรกิจไก่ไข่ มาทำเป็นปุ๋ยหมัก โดยใช้พื้นที่โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร จังหวัดชัยภูมิ เพื่อแจกจ่ายให้กับชุมชน เกษตรกร และหน่วยงานราชการ นำไปใช้ประโยชน์ เป็นการขยายผลทั้งในและนอกองค์กร
สำหรับรางวัล Gold Pitch ที่ได้รับเงินรางวัลสนับสนุนการต่อยอดและพัฒนาโครงการ จำนวน 100,000 บาท ทางทีมงานจะนำเงินจำนวนนี้ไปจัดหาเครื่องลำเลียงและผสมปุ๋ยระบบอัตโนมัติ มีการทำงานได้ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มคุณภาพปุ๋ย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดการใช้แรงงานในการผลิต สามารถแบ่งปันให้เกษตรกรได้มากขึ้น โดยมีการเก็บบันทึกข้อมูลผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Impact Valuation)
นายชูชีพ ชัยภูมิ หรือ พ่อชีพ ประธานศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ บ้านซับรวงไทร บอกว่า ผลลัพธ์ที่ได้จาก “โครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร” นอกจากซีพีเอฟจะสามารถลดของเสียที่ต้องฝังกลบเปลือกไข่กลายเป็นศูนย์ตันต่อปีแล้ว ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้ยังนำไปแจกจ่ายให้กับชุมชน เกษตรกรในเครือข่าย รวมถึงหน่วยงานต่างๆ รวม 63 ราย ได้ปุ๋ยใช้ประโยชน์มากกว่า 150 ตันต่อปี มีเกษตรกรนำปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่กว่า 400 ไร่ และจากการวิเคราะห์ทางเคมี พบว่าปุ๋ยมีธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูง เป็นธาตุอาหารที่ทำให้พืชผักโตเร็ว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 20%
“กลุ่มปลูกผักปลอดภัยบ้านซับรวงไทร ที่มีสมาชิก 44 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 29 ไร่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟตั้งแต่เรื่องการดูแลระบบการจัดการน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูกมาตั้งแต่ปี 2561 ทำให้มีน้ำใช้ในการเพาะปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งได้รับการสนับสนุนมูลไก่ เปลือกไข่ และน้ำหมักเพื่อทำปุ๋ย สร้างมูลค่าเศษเหลือทิ้งเป็นทองคำในดิน ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ย ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ชุมชนจำหน่ายผักได้อย่างน้อย 15,000 บาทต่อเดือน เป็นรายได้เสริมจากอาชีพหลัก อย่างการทำนา ทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชที่ราคาผันผวน ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่มีกำลังไปทำไร่ทำนา ก็สามารถปลูกผักปลอดภัยไว้บริโภคเองและนำผลผลิตมาจำหน่ายสร้างรายได้อีกทาง” พ่อชีพ กล่าว
ทางด้าน นางเมืองพร ชนะพาล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลนาเสียว อำเภอเมืองชัยภูมิ เล่าว่า ตนเองมีอาชีพทำการเกษตร ทำนาข้าว ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง และยังเป็นเกษตรกรรุ่นบุกเบิกที่ร่วมกับเพื่อนในชุมชนรวมตัวกันปลูกผักปลอดภัย จากนั้นทางซีพีเอฟเข้ามาช่วยสนับสนุนอุปกรณ์เก็บน้ำและกระจายน้ำ ร่วมกันก่อตั้งและสร้างตลาดชุมชน ดูแลวางแผนการตลาด หาช่องทางการจำหน่าย พักน้ำไว้ใช้เพาะปลูก และยังสนับสนุนการทำปุ๋ยให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์แทนการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นแนวทางลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนลงได้อย่างมาก ส่วนผลผลิตผักที่ได้ ทางซีพีเอฟเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการตลาด การจำหน่าย แนะนำลูกค้าให้ ขอบคุณซีพีเอฟที่เข้ามาช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง คนในชุมชนมีโอกาสได้ทำงานกับซีพีเอฟ ไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างพื้นที่ไกลๆ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งไม่สามารถทำงานหนักได้ ก็มาทำหน้าที่ดูแลแปลงผักและมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตผักปลอดสารเคมี 100% ด้วย
“ปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกร” เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสังคมและชุมชนที่ชาวซีพีเอฟมุ่งมั่นดำเนินการอย่าง ต่อเนื่อง สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ด้วยการประยุกต์ใช้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ นำไปความเป็นนวัตกรรมเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่สร้างประโยชน์ได้จริง มีความเป็นไปได้ของโครงการเกิดคุณค่า ด้วยการเพิ่มมูลค่าจากเดิม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและดูแลสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับปฏิบัติการขับเคลื่อนความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)