กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง
"ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 นั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้เสนอผลการตรวจสอบเบื้องต้น มีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และเห็นควรประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 45 คน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คน ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาผลการตรวจสอบเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว จึงมีมติประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 45 คน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คน นั้น
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ได้กำหนดมอบประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ส.ถ./ผ.ถ.6/1) ในวันพุธที่ 1 มิถุนายน 2565 เวลา 11.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง"
1 มิถุนายน 2565 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง มอบประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง
ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ส.ถ./ผ.ถ.6/1) โดยเห็นควรประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 45 คน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คน [
ข่าว กกต.]
1 มิ.ย.2565 วันแรกของการปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร คนที่ 17 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ เปิดตัวคณะทำงาน ทีมที่ปรึกษาและเลขานุการ
ตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 4 คน
- รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นายจักกพันธุ์ ผิวงาม อดีตรองผู้ว่า กทม.
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช
- นายศานนท์ หวังสร้างบุญ
คณะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษา
- ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์
- พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก
- พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์
- พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี
- ดร.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ
- นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี
- นายภาณุมาศ สุขอัมพร
- นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์
เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ
- นายภิมุข สิมะโรจน์
- นายเอกวรัญญู อัมระปาล
ประกาศ 4 นโยบายเร่งด่วน
นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร คนที่ 17 เปิดเผยถึง 4 นโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการทันที หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่ากทม.อย่างเป็นทางการแล้ว
- การแก้ปัญหาน้ำท่วม
- เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน,ทางม้าลาย
- เรื่องหาบเร่แผงลอย
- สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
งบประมาณกทม.เหลือเพียง 94 ล้านบาท
ในประเด็นงบประมาณปี 2565 ของ กทม.ที่เหลือเพียง 94 ล้านบาท นายชัชชาติ กล่าวว่า ไม่กังวลเรื่องงบประมาณ เพราะนโยบาย 214 ข้อ อยู่บนพื้นฐานที่ไม่ใช้เงินเยอะ เพราะรู้ดีว่ามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ มีหลายเรื่องที่ใช้งบประมาณน้อย สามารถทำได้ทันที
สำหรับนโยบายที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ สามารถใช้รอใช้งบปี 2566 ได้ ซึ่งมีอยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาท หรือหากจำเป็นสามารถของบฉุกเฉินได้
2 มิ.ย. 65 มอบอำนาจ 4 รองผู้ว่าฯ กทม. สั่งและปฏิบัติราชการแทน
สำหรับสาระสำคัญในคำสั่งดังกล่าวประกอบด้วย
ข้อ 1. มอบหมายและมอบอำนาจให้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1.1 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม มีอำนาจในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทนเกี่ยวกับราชการของสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร สำนักการคลัง สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการคลัง ฝ่ายรายได้ ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทะเบียน และฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ
1.2 รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล มีอำนาจในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทนเกี่ยวกับราชการของสำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และสำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายโยธา
1.3 ผศ.ทวิดา กมลเวชช มีอำนาจในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทนเกี่ยวกับราชการของสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และสำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล และ
1.4 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ มีอำนาจในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทนเกี่ยวกับราชการของสำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการศึกษาและโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม
ข้อ 2. ในกรณีที่รองผู้ว่าฯ ในลำดับใดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองผู้ว่าฯ ในลำดับถัดไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1. มีอำนาจในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทน ส่วนกรณีรองผู้ว่าฯ ในลำดับที่ 1.4 ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองผู้ว่าฯ ในลำดับที่ 1.1 มีอำนาจในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทน ยกเว้นผู้ว่าฯ จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ข้อ 3. การสั่ง และการปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯ เกี่ยวกับราชการของหน่วยงานหรือส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายในข้อ 1. ให้รองผู้ว่าฯ เสนอผู้ว่าฯ เป็นผู้พิจารณาสั่งการในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่ผู้ว่าฯ จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
3.1 งานที่รองผู้ว่าฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องงานนโยบาย หรืองานที่เป็นเรื่องสำคัญและอาจมีผลกระทบต่อความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่กรุงเทพมหานคร หรือแก่ราชการโดยส่วนรวม หรือแก่การรักษาความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชนโดยรวม
3.2 การบรรจุ การแต่งตั้ง การโอน การดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ของข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ
3.3 การเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการ และ 3.4 เรื่องเสนอสภากรุงเทพมหานคร รัฐสภา รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี
ข้อ 4. ในกรณีที่ผู้ว่าฯ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองผู้ว่าฯ เป็นผู้รักษาราชการแทน ดังนี้ ลำดับที่ 1 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม ลำดับที่ 2 รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล ลำดับที่ 3 ผศ.ทวิดา กมลเวชช และลำดับที่ 4 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ
ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 55 และมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 เพื่อให้การปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯ เปีนไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
3 มิ.ย. สำรวจจุดเสี่ยง ถ.รัชดา LINK
ผู้ว่าชัชชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า ตรงข้ามศาลอาญา หลังช่วงเช้าวันนี้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต "การป้องกันแก้ไขอาจจะต้องจำกัดความเร็ว มีป้ายบอกให้ชัดเจน เพิ่มตัวจับความเร็วอัตโนมัติเพื่อเตือนคนขับ อย่างไรก็ตามถ้าขับเร็วเกินกำหนดก็ยากที่จะออกแบบให้ได้มาตรฐาน ดังนั้นต้องช่วยกันสองทาง โดยคนขับก็ต้องชะลอความเร็วด้วย"
“เวลาเราจะแก้ปัญหาเราต้องเริ่มจากจุดเสี่ยงที่มีความเสี่ยงสูงก่อน ทั้งในแง่อาชญากรรม อุบัติเหตุ น้ำท่วม จุดรถติด โดยเราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้กำหนดจุดลงในแผนที่ให้เห็นว่ามีจุดเสี่ยงตรงไหนบ้าง จุดไหนมีอุบัติเหตุมาก-น้อยแค่ไหน จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยก็จะเป็นสีแดงขึ้น และสามารถเข้าไปเร่งรัดปรับปรุงแก้ไขในจุดนั้นๆได้”
การกำหนดแผนที่จุดเสี่ยงดังกล่าว เป็นหนึ่งในนโยบาย 214 ข้อ ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลสถิติอาชญากรรมและข้อมูลการรายงานจุดเสี่ยงที่รวบรวมมาจากฐานข้อมูลในแผนที่ความเสี่ยงกรุงเทพฯ (Bangkok Risk Map) เพื่อให้มีการวิเคราะห์และนำข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาสภาพแวดล้อม การบริหารจัดการต่าง ๆ ของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เช่น การปรับปรุงและเพิ่มแสงสว่าง กล้องวงจรปิด การจัดจุดตรวจเวรยามเทศกิจหมุนเวียน หรือประสานงานการทำงานร่วมกับตำรวจในการยกระดับความปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดอาชญากรรม สร้างเมืองที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน