โรงพยาบาลสนามกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครได้เตรียมพร้อมโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงสงกรานต์และหลังสงกรานต์นี้ โดยเบื้องต้นได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ 4 แห่ง รวม 1,250 เตียง ประกอบด้วย
- โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน รองรับได้ 500 เตียง
- โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนา รองรับได้ 200 เตียง
- สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บางบอน เขตบางบอน รองรับได้ 200 เตียง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้วันที่ 13 เม.ย.64
- ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก รองรับได้ 350 เตียง (อยู่ระหว่างปรับปรุงสถานที่)
นอกจากนี้จากได้จัดเตรียมสถานที่ต่างๆ ที่จะสามารถเป็นโรงพยาบาลสนามได้เพิ่มเติมด้วยหากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
กรณีผู้ป่วยไม่มีเตียง
ส่วนกรณีมีข่าวว่าผู้ป่วยไม่มีเตียงนั้น ในส่วนของกรุงเทพมหานครยังมีเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ หากมีการประสานมากรุงเทพมหานครก็ยินดีรองรับผู้ป่วยมาดูแล ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมสถานที่เป็นโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมกรณีมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น อาทิ อาคารกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง รวมถึงมีการประสานกับบางโรงแรมเพื่อทำเป็น Hospitel ไว้บ้างแล้วบริเวณย่านฝั่งธนบุรี และฝั่งพระนคร
จับมือภาคีเครือข่ายพร้อมรองรับผู้ป่วย
กรุงเทพมหานครยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมการแพทย์ กลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์ และโรงพยาบาลเอกชน จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ 3,000 กว่าเตียง รวมกับของกรุงเทพมหานครแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 เตียง และมีการประสานกับภาคีเครือข่ายจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมเป็นระยะ รวมถึงแนวทางการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่บริเวณแจ้งวัฒนะด้วย คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 10,000 เตียง
ศักยภาพโรงพยายาลราชพิพัฒน์
- สำหรับโรงพยายาลราชพิพัฒน์ จะรองรับผู้ป่วยสีเหลือง ที่มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ
- ส่วนผู้ป่วยสีแดง จะทำการดูแลรักษาที่โรงบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลสิรินธร
- ถ้ารวมเตียงทั้งหมดสำหรับผู้ป่วยสีแดงและสีเหลือง มีเกือบ 900 เตียง
- สำหรับ โรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เปิดให้บริการสำหรับผู้ป่วย COVID-19 ที่ไม่มีอาการ จำนวน 200 เตียง
- เมื่อผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นระดับปานกลางถึงหนัก จะส่งตัวรับการรักษาต่อที่ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ซึ่งเปิด Cohort ward มีทีมแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยสำหรับรักษาผู้ป่วย COVID-19 และย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ตามอาการต่อไป
ปัจจุบันโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับการรักษา จำนวน 28 คน เป็นคนไทย 16 คน คนต่างด้าว 12 คน โดยมีการดูแลรักษาตามมาตรฐานด้วยทีมแพทย์ของโรงพยาบาลราชพิพัฒและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อและทางเดินหายใจของสำนักการแพทย์
ปชส. กรุงเทพมหานคร 10 เมย 64
สายด่วน 1668 ช่วยผู้ติดเชื้อหาเตียง โดยกรมการแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข จับมือโรงเรียนแพทย์ กรุงเทพมหานคร ตำรวจ-กลาโหม และโรงพยาบาลเอกชน เตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ประสานส่งต่อผู้ป่วยในเครือข่ายหรือข้ามเครือข่ายได้ เปิดสายด่วน 1668 ประสานช่วยผู้ติดเชื้อที่ยังหาเตียงรักษาไม่ได้ พร้อมจัดหา Hospitel รองรับเพิ่มอีก 1,000 เตียง และโรงพยาบาลสนาม (โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ) 450 เตียง ภายในสัปดาห์นี้
กรมการแพทย์ ระบุว่าการบริหารจัดการเตียงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการดำเนินการร่วมกันภายใต้ 5 เครือข่าย ได้แก่
- กรมการแพทย์
- โรงเรียนแพทย์
- กรุงเทพมหานคร
- ตำรวจ-กลาโหม
- โรงพยาบาลเอกชน
โดยจัดทำข้อมูลเตียงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ร่วมกัน ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชนในการรับผู้ติดเชื้อ ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2564 เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน มีจำนวนเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิดอีกเกือบ 300 เตียง
“แนวคิดการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้นโยบายว่า ผู้ติดเชื้อโควิดทุกรายควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล และมีข้อตกลงกันในเครือข่ายว่า โรงพยาบาลที่ตรวจพบเชื้อโควิดต้องดำเนินการประสานในเครือข่าย เพื่อให้ผู้ป่วยทุกรายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้น ขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชน หากตรวจพบเชื้อแล้วไม่มีเตียงรองรับ สามารถประสานส่งต่อในเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน หรือส่งต่อข้ามเครือข่ายได้ ซึ่งเป็นหลักการที่ตกลงกันมา 1 ปีแล้ว”นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว
Hospitel พร้อมรองรับ
ทั้งนี้ ในการจัดหาเตียงให้เพียงพอรองรับผู้ป่วย กรมการแพทย์และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ดำเนินการจัดหา Hospitel คือ ใช้ห้องพักโรงแรมทำเป็นโรงพยาบาล เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยซึ่งขณะนี้จัดหาได้แล้ว 800 เตียง และจะหาเพิ่มเป็น 1,000 เตียง ภายใน 1-2 วันนี้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนาม 450 เตียงในสัปดาห์นี้ เพื่อแก้ปัญหาไม่มีเตียง ทางสถาบันเพื่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ รับผู้ป่วยได้ทันทีวันนี้ 40 เตียง
1668 ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อหาเตียง
นอกจากนี้ ยังได้เปิดบริการสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีเตียงรักษา อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชน
ประเมินความเสี่ยงของตนเอง ก่อนเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ที่
เว็บไซต์ของโรงพยาบาลราชวิถี หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงให้เข้ารับการตรวจ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเองหรือปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความแออัดในการรอรับบริการ
กรมการแพทย์
10 เมย 64