อนุทิน เผย ครม. มีมติเห็นชอบมอบให้กรมควบคุมโรคลงนามจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมอบหมายให้กรมควบคุมโรคลงนามจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และได้รับบริจาคจำนวนหนึ่งจากรัฐบาลสหรัฐในสัญญาเดียวกัน
วันนี้ (6 กรกฎาคม 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้นำหลักการลงนามในสัญญาการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งคู่สัญญาคือกรมควบควบคุมโรค และการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือก ตามนโยบาย ศบค. และรัฐบาล เข้าขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยมีการชี้แจงข้อสงสัย ข้อกังวลต่างๆ และฝ่ายกฎหมายได้ชี้แจงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหา ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมอบหมายให้กรมควบคุมโรคลงนามในสัญญาจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส และรับการบริจาคอีกจำนวนหนึ่งจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในสัญญาเดียวกัน ด้านสำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาร่างสัญญาทั้ง 2 ฉบับของกรมควบคุมโรคและองค์การเภสัชกรรม โดยได้อนุมัติกรอบใหญ่ไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามเจรจากับผู้จำหน่ายวัคซีนให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุด ก่อนที่จะลงนามต่อไป ซึ่งการจัดส่งวัคซีนจะเป็นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
สำหรับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันนายอนุทินกล่าวว่า ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน การจะใช้วัคซีนอย่างไร จำนวน หรือยี่ห้ออะไร มีการศึกษาตลอดเวลา และคณะกรรมการวิชาการฯ มีความเห็นอย่างไรจะแนะนำมายังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหารือ หากทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าเป็นประโยชน์ก็จะนำมาปฏิบัติ กระทรวงสาธารณสุขพร้อมเปิดกว้างทุกคำแนะนำและชี้แนะ
นายอนุทินกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือกรุงเทพมหานคร รับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการและติดค้างที่บ้าน โดยให้ประสานไปยังศูนย์แรกรับ-ส่งต่อนิมิบุตร ผ่านหมายเลข 1668, 1669 ที่มอบหมายให้กรมการแพทย์ดำเนินการ ซึ่งศูนย์นิมิบุตรจะกลับมาเป็นศูนย์รับส่งต่อตามเจตนารมณ์เดิม และจะพยายามส่งต่อมายังโรงพยาบาลบุษราคัมให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยได้ถึงมือแพทย์และได้เตียง ขณะนี้โรงพยาบาลบุษราคัมมีเตียงรองรับผู้ป่วยประมาณ 3,700 เตียง และมอบให้นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขยายเตียงเพิ่มให้ได้ 4,000 เตียง เนื่องจากยังมีพื้นที่ที่ใช้สอยได้อยู่ เพื่อให้โรงพยาบาลมีเตียงว่าง รองรับผู้ป่วยอาการหนัก หากรับผู้ป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลบุษราคัมได้มากเท่าไร จะทำให้เตียงในโรงพยาบาลที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะเตียง ICU มีพื้นที่มากขึ้น