22 กรกฎาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงกรณีที่มีบุคคลเสนอความเห็นพาดพิงการดำเนินงานของ อย. เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ โดยข้อเท็จจริง อย. มีภารกิจในการกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์วัคซีนโควิด-19 มีการพิจารณาอนุญาตวัคซีนโดยคำนึงถึงคุณภาพ ความปลอดภัย ประสิทธิผล และแผนจัดการความเสี่ยงกรณีเกิดปัญหาการใช้วัคซีน เพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนที่มีมาตรฐานในระดับสากล แต่ อย. ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการนำเข้าหรือจัดหาวัคซีนโควิด-19 แต่อย่างใด ทั้งนี้ อย. ได้อนุมัติทะเบียนวัคซีนโควิด-19 แล้ว จำนวน 6 รายการ ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนโคโรนาแวค วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน วัคซีนโมเดอร์นา วัคซีนของซิโนฟาร์ม และล่าสุดวัคซีนโคเมอร์เนตีของไฟเซอร์ ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเดียวกับที่ทางองค์การอนามัยโลกรับรอง นอกจากนี้ อย. ยังสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่ดำเนินการผลิตภายในประเทศ โดยดำเนินการร่วมกับผู้วิจัย ให้การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวิจัย พัฒนา ผลิต และการขึ้นทะเบียนอย่างครบวงจร โดยมีการติดตามขั้นตอนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลปัจจุบันวัคซีนป้องกันโควิด-19
มีทั้งหมด 4 ชนิด คือ
1.วัคซีนที่ทำจากเชื้อตาย
หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Inactivated Vaccine เช่น ยี่ห้อของบริษัท ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม
2.วัคซีนที่นำสารพันธุกรรมของไวรัส ตัดต่อเข้ากับเชื้อไวรัส
เรียกว่าอะดิโนไวรัส เพื่อที่จะพาสารพันธุกรรมเข้าสู่เซลล์ เป็นเทคโนโลยีใหม่เช่นเดียวกัน เช่น แอสตร้าเซนเนก้า, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และสปุตนิกวี ของรัสเซีย
3.วัคซีน mRNA
เป็นเทคนิคใหม่ที่เลียนแบบสารพันธุกรรม เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่เพิ่งมีใช้กันสำหรับโรคโควิด มีอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ ไฟเซอร์และโมเดอร์นา
4.วัคซีนชนิดที่ทำจากโปรตีนของเชื้อไวรัส
หรือเรียกว่าโปรตีนซับยูนิตวัคซีน เช่น วัคซีนของบริษัท โนวาแวกซ์