นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณียา Molnupiravir สำหรับรักษาโรคโควิด-19 ว่า หลักการทำงานของยาตัวนี้เหมือนกับยาฟาร์วิพิราเวีย คือ ทำหน้าที่ยับยั้งการจำลองตัวเองของเชื้อเมื่อเข้าสู่เซลไม่ให้เพิ่มจำนวนจนร่างกายสู้ไม่ไหว ไม่ได้ไปออกฤทธิ์ที่หนามของเชื้อ ดังนั้นยานี้ใช้ได้กับเชื้อโควิดทุกสายพันธุ์ แต่ต้องใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ถึงปานกลาง จึงจะได้ผลดีโดยต้องให้ยาเร็วภายใน 5 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ ตามหลักควรให้กับผู้ป่วยโควิดที่มีโรคเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งร่วม ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ภาวะอ้วน และอายุเกิน 60 ปี แต่หากอาการหนักไปแล้วยานี้ใช้ไม่ได้ผลๆ
"ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัส มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้เกือบทุกสายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม เดลตา แกมมา หรือมิว ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยแบบ MOVE-IN Trial ในผู้ป่วยอาการหนักพบว่าไม่ได้ผล แต่การศึกษาแบบ MOVE-OUT Trial ในผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลางที่ไม่ได้รับวัคซีน และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงอย่างน้อย 1 ปัจจัย ได้แก่ ภาวะอ้วน อายุมากกว่า 60 ปี เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง โดยให้ยาภายใน 5 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ พบว่าได้ผลดี"
"จากการศึกษาผู้ป่วยในระยะที่ 3 จำนวน 775 ราย แบ่งเป็นกลุ่มได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ 385 ราย ขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 2 เวลาเช้าและเย็น เป็นเวลา 5 วัน และกลุ่มได้ยาหลอก 377 ราย พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงนอนโรงพยาบาลลงร้อยละ 50 และไม่มีผู้เสียชีวิต แต่การศึกษายังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และในเด็ก" นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว
สัญญาซื้อขายและการนำมาใช้ในไทย
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้มีการคุยด้วยวาจากับบริษัท MSD ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท Merck ของอเมริกามาตั้งแต่เดือน ก.ค. และได้ทำร่างสัญญาซื้อขายเสร็จไปเมื่อวาน ในจำนวนและราคาที่ยังไม่อาจเปิดเผยได้เพราะเป็นความลับทางการค้าของบริษัท แต่ยืนยันยา Molnupiravir ที่ไทยซื้อได้จะเป็นยาออริจินัลจากอเมริกา และได้ในราคาถูกกว่าที่ขายในอเมริกา แต่แพงกว่าประเทศรายได้ต่ำ เนื่องจากเป็นนโยบายของบริษัท Merck ว่าจะ
ขายโดยคิดราคาตามรายได้ของประเทศที่จะขายให้ และไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สำหรับข้อบ่งใช้ยาตัวนี้ต้องรอดูการขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน FDA สหรัฐก่อน แล้วตามกระบวนการจะต้องมาขึ้นทะเบียนกับ อย.ไทย ประมาณการณ์ว่าน่าจะมาขึ้น ได้ช่วงเดือน พ.ย. และไทยจะได้รับยาที่ซื้อ ประมาณ ธ.ค.-ม.ค.
การนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยนั้น ต้องรอบริษัทผู้ผลิตขึ้นทะเบียนใช้ในกรณีฉุกเฉินกับ อย.สหรัฐฯ ก่อน แล้วจึงมาขึ้นทะเบียนกับ อย.ประเทศไทย คาดว่าจะนำเข้ามาได้จริงในช่วงธันวาคม 2564 - มกราคม 2565 โดยบริษัทคิดราคาตามลักษณะรายได้ของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางก็จะซื้อได้ในราคาถูกกว่าประเทศรายได้สูง สำหรับการนำมาใช้ขณะนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมพิจารณาข้อมูลยาโมลนูพิราเวียร์ว่าจะนำมาใช้แทนยาฟาวิพิราเวียร์ หรือใช้ควบคู่หรือใช้ร่วมกันเป็นสูตรคอกเทล นอกจากนี้ ยังมีโครงการ MOVE-AHEAD หรือการศึกษายาโมลนูพิราเวียร์ในการป้องกันการติดเชื้อในผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโควิดแล้ว เป็นลักษณะของยา PEP ที่รับประทานเพื่อป้องกันโดยจะศึกษาในประเทศไทยในโรงพยาบาล 5 แห่ง ซึ่งมีโรงพยาบาลราชวิถีร่วมด้วย อยู่ระหว่างขออนุมัติคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คาดว่าจะทำการศึกษาได้ในเดือนธันวาคมนี้
กรมการแพทย์ & กรมประชาสัมพันธ์