27 พฤศจิกายน 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงมาตรการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์ โดย นพ.ศุภกิจกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกประชุมและสรุปเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าควรจะยกระดับสายพันธุ์ B.1.1.529 เป็นสายพันธุ์น่ากังวล และตั้งชื่อว่า "โอไมครอน" ซึ่งพบเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน เริ่มที่ประเทศบอตสวานา และระบาด 5-6 ประเทศใกล้กันบริเวณแอฟริกาใต้ และตรวจเจอคนเดินทางจากแอฟริกาใต้ไปยังฮ่องกง เบลเยียม และอิสราเอล บางคนได้รับวัคซีนครบแล้ว ส่วนประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังตรวจรหัสพันธุกรรมยังไม่มีสายพันธุ์นี้ โดยยังเฝ้าระวังต่อเนื่อง
"สายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ 50 กว่าตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งอยู่บนโปรตีนหนามที่จับกับเซลล์มนุษย์ ต้องจับตาว่าตำแหน่งที่กลายพันธุ์จะมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งมีการสันนิษฐานจากตำแหน่งการกลายพันธุ์ว่า อาจเพิ่มอำนาจการแพร่เชื้อมากขึ้น หรือหลบภูมิคุ้มกันได้ ส่วนพื้นที่ที่ตรวจพบสายพันธุ์นี้มีข้อมูลว่า ตรวจเจอเชื้อค่อนข้างมาก สะท้อนว่าอาจแพร่เชื้อง่ายหรือเร็วขึ้น แต่ข้อมูลในสนามจริงยังมีไม่มากพอ ต้องติดตามข้อมูลต่อไป ซึ่งองค์การอนามัยโลกขอความร่วมมือทุกประเทศช่วยกันตรวจสายพันธุ์นี้ เพื่อรายงานว่ามีการแพร่กระจายไปที่ไหน" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนผู้เดินทาง 63 ประเทศเข้าระบบ Test&Go ไม่มีประเทศในทวีปแอฟริกาแต่จะประสานโรงพยาบาลที่ตรวจพบเชื้อผู้เดินทางเข้าประเทศจากทุกระบบ ส่งตัวอย่างผลบวกทั้งหมดมาถอดรหัสพันธุกรรมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดูว่ามีสายพันธุ์นี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม มาตรการป้องกันโรคยังใช้ได้ผล ทั้งเว้นระยะห่าง ลดแออัด หน้ากาก ล้างมือ และไวรัสตัวนี้ตรวจด้วย RT-PCR ได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม การเดินทางเข้ามาทางอากาศไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะมีมาตรการดูแลได้ครบถ้วน สิ่งที่กังวลคือช่องทางบกที่ต้องเฝ้าระวังและขอให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดการลักลอบเดินทางเข้าออกประเทศ
ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางระบาดวิทยา ลักษณะการระบาด ความรุนแรงของโรค ความเร็วการแพร่กระจายเชื้อ หรือความสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนและยา ของสายพันธุ์โอไมครอน ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน เพราะเป็นสายพันธุ์ใหม่ ทั่วโลกกำลังร่วมกันจับตา ส่วนประเทศไทยมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับประเทศต่างๆ รวมถึงองค์การอนามัยโลก ล่าสุด ได้วางมาตรการเรื่องผู้เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา คือ ไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา เข้าประเทศ ได้แก่
- สาธารณรัฐบอตสวานา
- ราชอาณาจักรเอสวาตินี
- ราชอาณาจักรเลโซโท
- สาธารณรัฐมาลาวี
- สาธารณรัฐโมซัมบิก
- สาธารณรัฐนามิเบีย
- สาธารณรัฐแอฟริกาใต้
- สาธารณรัฐซิมบับเว
มีผลทันที ตั้งแต่วันนี้ (27 พฤศจิกายน) เป็นต้นไป
ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางก่อนหน้านี้
- จะให้กักตัว 14 วันทุกราย
- ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพัก
- ตรวจทางห้องปฏิบัติการ 3 ครั้ง คือ วันที่ 0 -1 , 5-6 และ 12-13
- หากไม่พบเชื้อจึงอนุญาตให้ออกมาได้
นอกจากนี้ ยังจับตาประเทศอื่นๆ ที่อาจตรวจพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์นี้ได้ เนื่องจากมีระบบการเฝ้าระวังที่ดี อย่างฮ่องกงก็ตรวจพบเป็นผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้เดินทางไป จึงถือเป็นกรณีนำเข้า ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์ หากเหตุการณ์เปลี่ยนจะเพิ่มมาตรการและชี้แจงให้ทราบต่อไป
"การกลายพันธุ์ของเชื้อมีตลอดเวลา แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แถบแอฟริกาใต้มีการกลายพันธุ์ค่อนข้างมาก นอกจากการป้องกันแล้ว คือวัคซีน ซึ่งทวีปแอฟริกามีการฉีดวัคซีนครอบคลุมน้อยที่สุด สิ่งที่ประชาชนจะร่วมกันทำให้ประเทศปลอดภัย คือ ร่วมกันฉีดวัคซีน ป้องกันตนเองครอบจักรวาล ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง มาตรการ COVID Free Setting ที่หน่วยงานต่างๆ ต้องร่วมมือกัน" นพ.โอภาสกล่าว