นักวิเคราะห์รายหนึ่ง เขียนว่า "สายพันธุ์โอมิครอนอาจไม่ได้อันตราย" อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญหวั่นเกรงในระยะแรก มีรายงานจากแลปไฟเซอร์ไบออนเทคเองเปิดเผยข้อมูลว่า ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไปครบ 2 โดสแล้ว หากได้รับกระตุ้นเข็ม 3 จะเพียงพอที่จะปกป้องโอมิครอนได้
ดร.แอนโทนี่ เฟาซี่ แห่งสถาบันโรคระบาดแห่งชาติ แสดงความเห็นในแง่ดีถึงสถานการณ์โอมิครอน ณ ขณะนี้ หลังจากนักข่าวซีเอ็นเอ็นยิงคำถาม "หายใจได้คล่องขึ้นไหมคะ กับข่าวว่าโอมิครอนดูจะไม่อันตราย"
"จริงๆ คือใช่ครับ เป็นปกติที่ต้องกังวลมาก หากมีการพบสายพันธุ์ที่น่ากังวลใหม่ขึ้นมา ที่เราไม่เคยรู้จักหรือมีข้อมูลมาก่อน เพราะไม่รู้มันจะไปในรูปไหน"
นั่นหมายความว่ายังมีอีกมากเกี่ยวกับโอมิครอนที่ต้องศึกษาตามดูต่อไป นอกจากที่ชัดๆ คือมันแพร่เชื้อได้รวดเร็วอย่างมาก โดยดูจากในแอฟริกาใต้ ที่ขณะนี้ โอมิครอนกลายเป็นไวรัสตัวหลักในบางพื้นที่แทนที่เดลต้าไปแล้ว จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นกว่า 100% เพียงสัปดาห์เดียว [CNBC]
เดลต้ายังคงเป็นไวรัสตัวหลักในสหรัฐ ทางการหวั่นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลฤดูหนาวที่กำลังมา จากจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันระดับ 1,000 รายต่อวัน คาดกันว่าจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดจะขึ้นถึง 800,000 คนก่อนคริสมาสต์ จากขณะนี้ 7.92 แสนราย รวมยอดผู้ติดเชื้อ 49.5 ล้านราย (7 ธ.ค.)
กระทบการเดินทางท่องเที่ยวหรือไม่
ดร.เฟาซี่ กล่าวว่า "ถ้าคุณฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเปลี่ยนแผน แม้โอมิครอนจะมีโอกาสระบาดทั่วสหรัฐ ถ้าคุณและสมาชิกในครอบครัวได้รับวัคซีนกันไปครบแล้ว เอ็นจอยกันได้ต่อไป หากยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น รีบไปรับก่อนกำหนดเดินทาง แนะให้จำกัดเฉพาะในครอบครัวกันเอง การเดินทางไปจุดอื่นๆ จะมีความเสี่ยง แนะนำให้ป้องกันตนเอง ใส่หน้ากากอนามัย ยิ่งหากต้องไปในที่ที่มีคนมาก หากฉีดบูสเตอร์ไปแล้วจะช่วยป้องกันได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า ตัวไวรัสที่ระบาดอยู่หลักๆ คือเดลต้า ซึ่งทำให้เจ็บป่วยรุนแรง"
ฉีดวัคซีนได้ประโยชน์ 2 ต่อ กันเดลต้า และ ช่วยกันโอมิครอนได้บางส่วน (แม้ไม่ใช่ทั้งหมดแต่ดีกว่าไม่ช่วยเลย)
พิจารณาความเสี่ยงในการเดินทาง
ความเสี่ยงต่อโอมิครอน นั้นยังไม่มีความแน่ชัด ความเห็นจึงมีว่า ต้องขึ้นกับตัวบุคคลเป็นสำคัญ กับคนที่มีสุขภาพปกติดี ได้รับวัคซีนแล้ว ก็คงไม่รู้สึกกังวลอะไรมาก เทียบกับบางคนที่อาจมีปัญหาสุขภาพในบางด้านหรือมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง ก็ย่อมมีความกังวลเกิดขึ้นได้ เป็นความเห็นของดร. ลีนา เวน
CDC แนะนำว่า ผู้ที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครอบ ควรชะลอการเดินทางในช่วงนี้ออกไปก่อน หรือหากจำเป็นต้องเดินทางร่วมกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ควรพิจารณาทางเลือกอื่นๆ เช่น ทางรถ หรือเที่ยวบินตรง ไม่แวะพักหรือเปลี่ยนเครื่อง
การมาของโอมิครอน ทำให้ทางการสหรัฐยกระดับมาตรการเข้มงวดกับการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น ล่าสุดได้ประกาศให้ผู้ที่ต้องเดินทางเข้าสหรัฐต้องมีผลตรวจเชื้อเป็นลบภายใน 24 ชั่วก่อนขึ้นบิน และต้องตรวจซ้ำเมื่อเดินทางถึง
ดร. ลีนา เวน มีคำแนะนำกับการเดินทางช่วงนี้ เพิ่มเติม ในมุมที่น่าคิด ว่า
"สถานการณ์เปลี่ยนได้ตลอด ผู้เดินทางต้องพิจารณาความจำเป็นในการเดินทาง และต้องมีแผนสำรองไว้ ต้องคาดการสถานการณ์เผื่อไว้ เช่น หากประเทศปลายทางที่จะไป ออกมาตรการกักตัวอย่างฉับพลันขึ้นมาจะทำอย่างไร คุ้มกับการต้องไปหรือไม่ เป็นต้น" เป็นคำแนะนำสำหรับชาวอเมริกันที่จะเดินทางไปต่างแดน
บางทีที่หมายที่ไป ก็มีความเสี่ยงสูงกว่าขณะเดินทาง
การสวมหน้ากากจำเป็นที่สุด ใช้หน้ากากที่ดีๆมีคุณภาพจะยิ่งดี ที่สำคัญควรต้องรู้ว่าที่ที่จะไปพบปะนั้นปลอดภัยแค่ไหน
"หากไปในที่ที่มีคนที่คุณรู้จักดี หรือกลุ่มเครือญาติกัน ที่เรารู้ว่าฉีดวัคซีนแล้ว ย่อมปลอดภัยกว่าไปในที่ที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร และไม่รู้ว่าฉีดวัคซีนหรือยัง แน่นอน"
"ถ้าเป็นนิวยอร์ค ที่เสี่ยงแน่ๆ ก็คือ ร้านอาหาร จุดช็อปปิ้ง ร้านค้าต่างๆ หากคุณวางแผนทำทั้งหมดนั่นเลย ก็ตระหนักถึงความเสี่ยงไว้ให้มาก ไม่ใช่กับโอมิครอนนะ เดลต้าต่างหาก"
การฉีดวัคซีนไม่แค่ปกป้องตัว และผู้ใหญ่คนอื่นๆ แต่ยังปกป้องเด็กๆ ที่อายุไม่ถึง 5 ขวบที่ยังไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้อีกด้วย
หากสมาชิกในครอบครัวมีคนที่มีภูมิบกพร่อง หรือเด็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือทั้งสองแบบ แนะนำทุกคนกักตัว 3 วันก่อนกำหนดนัด และตรวจเชื้อแบบรวดเร็วอีกทีก่อนเจอกัน