15 ธันวาคม 2564 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในการเสวนาวิชาการออนไลน์ เปิดข้อมูล (ไม่) ลับ กับ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ว่า โควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาในประเทศไทยช่วงเปิดประเทศ ซึ่งการตรวจหาเชื้อโควิด ตามแล็บทั่วไปจะยังไม่สามารถบอกสายพันธุ์ได้ การตรวจสายพันธุ์จะตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงเครือข่ายมหาวิทยาลัย การตรวจสายพันธุ์นั้นจะมีข้อกำหนดในการตรวจ เช่น ตรวจในคนไข้หนัก ผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือผู้ติดเชื้อที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน เป็นต้น
การตรวจสายพันธุ์ จะตรวจ 3 ระดับ คือ ระดับแรก SNP ใช้เวลา 1-2 วัน ลำดับต่อมาคือ Target sequencing ใช้เวลา 3 วัน และการตรวจพันธุกรรมทั้งตัว Whole genome sequencing ใช้เวลา 5-7 วัน
ขณะนี้จากการตรวจเฝ้าระวังมีผู้ติดเชื้อเข้าข่ายสายพันธุ์โอมิครอน 14 ราย ยืนยันแล้ว 9 ราย ถือว่ายังเป็นระยะแรกๆ ที่สายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ถ้าเจอแล้วจำกัดวงได้เร็วก็อาจมีปัญหาไม่มาก
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับข้อกังวัลว่า RT-PCR ตรวจได้หรือไม่ ขอยืนยันว่า RT-PCR และ ATK ยังสามารถตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอนได้ ส่วนที่ว่ามีสายพันธุ์โอมิครอน-ไลก์ BA.2 แล็บตรวจไม่เจอ ขอยืนยันว่าห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถตรวจหาโอมิครอน-ไลก์ได้ แต่หากในอนาคตมีการกลายพันธุ์เป็นแบบอื่นก็จะต้องปรับสูตรการตรวจเชื้อใหม่ แต่วิธีปัจจุบันสามารถตรวจจับสายพันธุ์ที่มีอยู่ได้แน่นอน
"ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ VUCA ได้แก่ วัคซีนยังจำเป็นต้องฉีด สวมหน้ากาก ล้างมือ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงมากๆ ไม่ไปในพื้นที่เสี่ยงถ้าจำเป็นต้องไปให้ปฏิบัติตามมาตรการในสถานที่เพื่อลดความเสี่ยงอย่างเต็มที่ และATK ยังเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการตรวจเชื้อเบื้องต้น และขอย้ำว่าเดินออกจากบ้านวันนี้ศัตรูรอบตัวเรายังเป็นสายพันธุ์ เดลตา ไม่ใช่โอมิครอน ขณะนี้กำลังติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดว่าสายพันธุ์โอมิครอน รุนแรงแค่ไหน การแพร่เชื้อเร็วแค่ไหน หลบภูมิหรือไม่ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังเพาะเชื้อโอมิครอน ในห้องทดลอง อีกประมาณสัปดาห์เราจะเอามาทดลองกับภูมิคุ้มกันว่า จะสามารถจัดการกับตัวเชื้อไวรัสได้หรือไม่ สามารถป้องกันได้มากแค่ไหน" นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้าย