16 ธันวาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง กรณีการออกใบรับรองวัคซีนโควิด 19 ปลอม ขณะนี้ทุกโรงพยาบาลที่พบเรื่องดังกล่าวได้ไปแจ้งความเป็นหลักฐานแล้ว ย้ำว่าใบรับรองวัคซีนปลอมเป็นโทษทั้งผู้ออกใบรับรองและผู้ใช้ โดยผู้ใช้ใบรับรองวัคซีนปลอม นอกจากเห็นแก่ตัวยังเป็นการทำร้ายคนในครอบครัว เพราะอาจนำเชื้อโควิดไปแพร่ให้ได้ ส่วนคนออกใบรับรองปลอมก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว ทั้งนี้ ใบรับรองวัตซีนปลอมสามารถตรวจสอบได้ง่าย เพราะต้องมีคิวอาร์โคดที่บอกข้อมูลคนรับวัคซีน ผู้ที่ฉีดให้ ยี่ห้อวัคซีน วันที่ฉีด เพราะฉะนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปทำ และต้องฝากให้ช่วยกันแจ้งเบาะแส ซึ่งได้ขอความร่วมมือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและเฉียบขาดแล้ว
กรณีนี้เกิดขึ้นจากที่เพจดังในโซเชียลมีเดีย
Drama-addict 13 ธันวาคม เผยแพร่โพสต์ ว่ามีการโพสต์รับจ้างทำเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ แม้ไม่ได้มีการฉีดวัคซีนจริง ทั้งยืนยันว่าเป็นของแท้ที่ได้รับการรับรองนั้น ซึ่ง
ในความเป็นจริงถือเป็นเอกสารปลอม เพราะเอกสารของแท้ จะต้องออกและรับรองโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เท่านั้น จะต้องมีคิวอาร์โคดที่ระบุชื่อคนฉีด วันที่ฉีด สถานที่ฉีด ผู้ให้บริการฉีด ยี่ห้อวัคซีนและหมายเลขประจำขวดวัคซีน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การกระทำดังกล่าว จะเป็นอันตรายต่อตนเองและคนรอบข้าง เพราะจะทำให้เกิดติดโรคและแพร่เชื้อสู่คนใกล้ตัวโดยไม่รู้ตัว นอกจากนั้นยังเป็นการกระทำผิดกฎหมาย มีความผิดทางอาญา อาจมีโทษจำคุก ขอประชาชนอย่าตกเป็นเหยื่อผู้กระทำผิด และหากมีข้อมูลของผู้กระทำผิดในเรื่องนี้ ขอให้แจ้งเบาะแส ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
แนะวิธีตรวจสอบ!! ใบรับรองฉีดวัคซีนปลอม
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการ-ร้านค้า เพิ่มความเข้มงวดตรวจเอกสารรับรอง ฉีดวัคซีน ก่อนเข้าใช้บริการ อ้างอิงจากแอปฯ หมอพร้อม เป็นหลัก วิธีเช็คก็คือ
QR Code ที่อยู่บนเอกสารต้องตรงกับข้อมูลในแอปฯ
ในด้านข้อกฏหมาย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่าการออกใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่มีการรับทำทางออนไลน์ ถือเป็นเอกสารปลอม เพราะเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของจริงจะต้องออกโดยสถานที่ฉีดเท่านั้น ความผิดจากการผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป