รับมือโควิดในช่วงปีใหม่
หลังปีใหม่น่าจะเห็นจำนวนเคสติดและนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น จากคนที่รับวัคซีนไปแล้วภูมิเริ่มตกซึ่งอาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสทั้งเดลต้าและโอมิครอน ประจวบเหมาะกับการมีกิจกรรมในช่วงปีใหม่ เช่น การเดินทาง การกินเลี้ยง การรวมกลุ่มของคน ถ้ามีโอมิครอนหลุดเข้ามาและทำให้เกิด local transmission ในคนไทย จำนวนสัดส่วนของผู้ที่ติดโอมิครอนอาจจะสูงจนแซงเดลต้าอย่างรวดเร็วเหมือนประเทศอื่นๆ ด้วยคุณสมบัติของเชื้อที่ติดได้ง่ายกว่าเดลต้าประมาณสองเท่า
ข้อมูลเรื่องความรุนแรงของเชื้อนี้จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าอาจจะรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ด้วยความที่เชื้อติดง่าย จำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะมากจำนวนผู้มีอาการรุนแรงก็จะมากตามไปด้วย (แม้ว่าสัดส่วนของผู้อาการรุนแรงจะน้อย) ความเสี่ยงของผู้ที่มีโรครุนแรงและเสียชีวิตก็ยังเป็นผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัว การฉีดวัคซีนให้ภูมิสูงพอจะเป็นกำแพงของการป้องกันโรคที่รุนแรง การฉีดเข็มกระตุ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ในรูปเป็นเอกซเรย์ปอดของคนไข้เป็นเบาหวานและฉีดวัคซีนแอสตร้าไปสองเข็มนานประมาณสามเดือน แต่ติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนหลังจากเดินทางกลับจากแอฟริกา คนไข้เป็นปอดอักเสบรุนแรง เกือบใส่ท่อช่วยหายใจแต่ขณะนี้เริ่มดีขึ้นจากการให้ยาอย่างรวดเร็ว ระยะยาวปอดน่าจะมีพังผืดถาวรหลังจากหายแล้ว
ดังนั้นอาจจะต้องระวังเป็นพิเศษในผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดโรคที่รุนแรงและควรได้รับการกระตุ้นเป็นกลุ่มแรกๆก่อน ส่วนวัคซีนแบบไหนดี ความเห็นส่วนตัวการใช้ mRNA น่าจะเป็นวัคซีนที่กระตุ้นภูมิได้ดีกว่าแบบอื่นๆ
การป้องกันการระบาดช่วงปีใหม่ปีนี้จึงมีความสำคัญด้วยมาตรการต่างๆ ตั้งแต่การป้องกันส่วนบุคคล การรับวัคซีนกระตุ้นที่เหมาะสม การใช้ ATK ตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอในคนที่มีความเสี่ยง (ข้อมูลในขณะนี้การตรวจ ATK ยังใช้ได้ในการตรวจโอมิครอน ความไวของ ATK อาจจะน้อยกว่าการตรวจด้วย PCR แต่ถ้าตรวจซ้ำบ่อยๆจะเพิ่มความไว) มีคนไข้อีกคนก็ตรวจตัวเองด้วย ATK เป็นบวกและตรวจยืนยันว่าเป็นโอมิครอน
ส่วนการรักษาอาจจะมีความยุ่งยากในการใช้ยาบางตัว มีข้อมูลจากห้องทดลองที่บอกว่าการใช้ยาในกลุ่ม monoclonal antibody บางตัวอาจจะได้ผลดีในเดลต้าแต่ลดลงอย่างมากถ้าเป็นโอมิครอน ส่วนยา remdesivir molnupiravir paxlovid อาจจะยังใช้ได้
นพ.โอภาส พุทธเจริญ
หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์